ก.วิทย์ฯ ปลดล็อค ไฟเขียวนักวิจัย-นักเรียนทุน ทำงานภาคเอกชนได้
"ดร.พิเชฐ" ยันผู้ปฏิบัติงานสามารถนับอายุงานและการใช้ทุน ทั้งได้สิทธิขึ้นเงินเดือนเลื่อนตำแหน่งตามเกณฑ์ต้นสังกัด
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงข่าว การขับเคลื่อนโครงการ "Talent Mobility" ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึง นโยบายส่งเสริมบุคลากรด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภาคเอกชน (Talent Mobility) ว่า เป็นกลไกสำคัญที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย ที่จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง โดยหนึ่งในนโยบายรัฐบาล คือ มาตรการสนับสนุนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา สู่เป้าหมาย 1 เปอร์เซ็นต์ ของ จีดีพี ในจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วนลงทุนของภาคเอกชนกับภาครัฐ 70 : 30
“กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พบว่า การลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนนับจากปี 2551 – 2556 ได้เพิ่มขึ้นจาก 7,273 ล้านบาทเป็น 26,768 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 368 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเอกชนเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น จะเกิดความต้องการบุคลากรด้าน วทน. มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน บุคลากรเหล่านี้กระจายตัวอยู่ในภาครัฐและภาคอุดมศึกษาถึง 83 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ส่วนของภาคเอกชนมีบุคลากรดังกล่าวเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ ” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว และว่า นโยบาย Talent Mobility จะทำให้เกิดการดึงศักยภาพของนักวิจัยไทยที่กระจุกตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐจำนวนมากมาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสถานประกอบการภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ก่อให้เกิดการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ระหว่างกัน
สำหรับกฎเกณฑ์บางอย่างที่ทำให้นักวิจัย และนักเรียนทุนรัฐบาลไม่สามารถไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนได้ ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ก็จะถูกคลี่คลาย โดยผู้ไปปฏิบัติงานภายใต้นโยบาย Talent Mobility ให้ถือว่า เป็นการปฏิบัติงานเต็มเวลา โดยให้นับเป็นอายุราชการหรืออายุงานของหน่วยงานต้นสังกัด
“สำหรับผู้ที่มีข้อผูกพันตามสัญญาชดใช้ทุน ให้นับเป็นเวลาใช้ทุนตามสัญญาด้วย อีกทั้งยังให้บุคลากรดังกล่าวสามารถใช้ผลการปฏิบัติงานในภาคเอกชน เป็นผลงานในการขอตำแหน่งทางวิชาการหรือตำแหน่งงานอื่นๆ รวมถึงการขึ้นเงินเดือน ตามเกณฑ์ที่หน่วยงานต้นสังกัดจะจัดทำขึ้น”
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบโครงการเคลื่อนย้ายบุคคลากรไปทำงานในภาคเอกชนในสาขาต่างๆ เมื่อวันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวนับได้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านการวิจัย การเพิ่มขีดความสามารถและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาว โครงการ Talent Mobility จะส่งผลให้ภาครัฐและภาคเอกชนใช้ทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทเวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่สนใจนโยบาย Talent Mobility และได้เข้าร่วมโครงการนำร่อง กล่าวว่า ภาคเอกชนจะได้รับประโยชน์จากศักยภาพของนักวิจัยภาครัฐ ที่ได้ร่วมกันพัฒนาสิ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจช่วยผลักดันก้าวข้ามผ่านประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ในส่วนของบริษัทเวสเทิร์น ดิจิตอลนั้น มีบุคลากรจากมหาวิทยาลัย 17 แห่ง หน่วยงานงานราชการ 9 แห่ง มีอาจารย์ นักศึกษา เดินเข้าออกบริษัทกว่า 200 คน ขณะนี้ยังทำงานร่วมกันอยู่ 23 คน และได้พิสูจน์แล้วว่า นโยบายดังกล่าว มีส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกาเชื่อมั่นในศักยภาพของบุคลากรชาวไทย จึงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และบริษัทฯ เองก็พร้อมที่จะเป็นต้นแบบ ให้ภาคเอกชนอื่น ๆ ได้ศึกษาหากสนใจด้วย
ด้านดร. ปราการเกียรติ ยังคง อาจารย์จากสถาบันวิทยากรหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะเป็นผู้แทนนักวิจัยและนักเรียนทุนที่อยู่ในโครงการนำร่อง Talent Mobility กลาวว่า การได้มีโอกาสได้ทำงานกับภาคเอกชน คือประสบการณ์ที่มากกว่าในห้องเรียน และในฐานะที่เป็นทั้งอาจารย์ และเป็นนักเรียนทุนที่ได้ทำงานกับภาคเอกชน สิ่งที่ได้คือประสบการณ์จริงจากการทำงาน จากอาจารย์ที่แค่เพียงสอน แต่ทุกวันนี้ต้องตอบคำถามจากประสบการณ์จริงของลูกศิษย์ที่ได้ทำงานกับภาคเอกชนทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้นทั้งสองทาง นอกจากนี้ นโยบาย Talent Mobility เป็นเหมือนคำตอบของคำถามที่ว่า เรียนวิทยาศาสตร์มาแล้วจะไปทำอะไร