“การศึกษาบนฐานชุมชน”รูปแบบที่เด็กยุคใหม่ต้องการ
“การศึกษาบนฐานชุมชน ไม่ใช่แค่เรื่องในชุมชนท้องถิ่นที่เด็กจะได้เรียนรู้ แต่คือการสอนให้เด็กได้รู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกาภิวัฒน์ เทคโนโลยีสมัยใหม่และให้เกิดการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาตนเองและชุมชน เรียกได้ว่า 'การศึกษาบนฐานชุมชน' เป็นการสร้างคนให้มีราก ไม่ลืมรากเหง้าของตนเองแต่ก็เท่าทันความเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้เติบโตเป็นผู้นำของสังคมที่มีคุณภาพ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการถอดบทเรียนเรื่องดังกล่าวทำเป็นหนังสือ รวมทั้งยังมีการขยายองค์ความรู้ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ฉะนั้น ต่อไปจะเกิดเครือข่ายเยาวชนในลุ่มน้ำโขง ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยพัฒนาประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วย”
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้จัดการโครงการพัฒนารูปแบบสถาบันการจัดการเรียนรู้ด้านเด็กเยาวชนบนฐานชุมชน และประธานมูลนิธิสืบสานล้านนา กล่าวในเวทีการศึกษาบนฐานชุมชน ตอน 'คนมีราก' ที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จ.เชียงใหม่
ปี 2547 จุดเริ่มต้นของเครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา จนถึงวันนี้ 10 ปี มีเครือข่ายฯ ใน 4 ภูมิภาค ทำงานร่วมกับครูภูมิปัญญา ผู้นำชุมชนต่างๆ โดยตลอดระยะเวลาของการทำงานต่างเห็นพ้องกันว่า การศึกษาไทยที่ผ่านมาจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีการท่องจำให้เด็กอยู่แต่ในห้อง เรียนแต่วิชาการเพื่อนำไปสอบแข่งขัน เลื่อนชั้น โดยขาดกระบวนการสร้างการเรียนรู้อย่างแท้จริง
สำคัญที่สุด การจัดการศึกษาที่ผ่านมาไม่ได้ผลิตคนเพื่อออกมารับใช้ชุมชนและสังคม แต่กลับมุ่งผลิตคนเพื่อป้อนตลาดแรงงานจนทำให้เกิดปัญหาการละทิ้งชุมชน ครอบครัว เพื่อไปทำงานในเมือง ส่งผลให้ชุมชนและสังคมเกิดความอ่อนแอ
ด้วยเหตุนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันพัฒนา 'การศึกษาบนฐานชุมชน' โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาชีวิตและจิตวิญญาณของมนุษย์ให้มีความเข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนและสังคม โดยใช้ชุมชน ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเองเป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวทำให้เกิดการสร้างสำนึกชุมชน ทำให้เด็กเยาวชนรักและภาคภูมิใจในตนเองและชุมชนของตน มีความรักหวงแหนและร่วมสืบสานภูมิปัญญาต่างๆ ที่มีมาแต่สมัยบรรพบุรุษ
'การศึกษาบนฐานชุมชน' รูปแบบการศึกษาที่เด็กและเยาวชนต้องการ
'น้องบิว' นางสาวอัจฉรา แก้วจันทร์ กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เข้ากลุ่มตั้งแต่ ป.6 ตอนนี้อยู่ปี 1 แล้ว สิ่งแรกที่ทำให้รู้จักคำว่าครูภูมิปัญญาในชุมชนได้ลึกซึ้งขึ้น คือคุณตา คุณยาย ท่านสอนให้รู้จักวัฒนธรรม ประเพณี อัตลักษณ์ของชุมชน ฝึกทำผ้าลายไทดำ จนเกิดความรักในท้องถิ่น ได้ทักษะการเรียนรู้มาก และมีโอกาสทำงานผ่านการวิจัยทำให้พบแนวทางการสืบทอดภูมิปัญญาของไทดำซึ่งเป็นรากของชุมชนตนเอง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดที่เกิดกับตนเอง จากเด็กเรียนในระบบ เล่นไลน์ เฟซบุ๊ค ต้องเช็คทุก 5 นาที แต่เมื่อผ่านกระบวนการเรียนรู้กับกลุ่มเยาวชน รู้อะไรสำคัญ กล้าแสดงออกมีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง
เมื่อก่อนไม่เคยชอบใส่ชุดที่เป็นวัฒนธรรมอัตลักษณ์ของคนไทดำ แต่เดี๋ยวนี้สามารถใส่เดินในห้างสรรพสินค้าได้อย่างภาคภูมิใจ และเข้าใจคำว่าจิตวิญญาณคืออะไร ทุกครั้งที่คุณตาคุณยายพูดว่าถ้าไม่มีคนรุ่นตายายแล้วจะเป็นอย่างไร น้ำตาไหลทุกครั้งที่ได้ยิน ฉะนั้น อยากให้ระบบการศึกษาไทยมีวิชาชุมชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้กลับมาศึกษาวิชาชุมชนมากขึ้น เพราะได้เห็นความแตกต่าง เวลาที่ รร.นำหลักสูตรท้องถิ่น 3 ชม.มาสอน เด็กมีความสุขมากกว่าการเรียนวิชาหลัก จึงอยากให้ความสำคัญของความเป็นท้องถิ่น ภูมิปัญญาของตนเอง โดยแนวทางหลักในการเผยแพร่ภูมิปัญญาเพื่อสืบรากของไทดำที่จะทำต่อไป คือ
1.เรียนรู้รากเหง้าของตนเอง เพื่อให้เกิดความลึกซึ้ง
2.การบ่มเพาะตนเอง และให้น้องๆ รุ่นต่อไปได้เรียนรู้ด้วย
3.การฟื้นฟูวัฒนธรรมชุมชน
4.การสร้างเครือข่ายให้คนมาเข้าร่วม
“การศึกษาในระบบ รร.สอนให้เราออกไปรับจ้าง ทำให้ห่างจากชุมชน และกลับบ้านไม่ได้”
คำพูดของนายธีรศักดิ์ จอเตะ สถาบันฝึกอบรมเพื่อการจัดการตนเอง จ.เชียงใหม่ อธิบายว่า ตนเป็นชาวปกาเกอะญอ สาเหตุที่เข้ามาร่วมเกิดจากความทุกข์ ความไม่สนุก เพราะเห็นคนเฒ่าคนแก่ออกจากป่า ชุมชน เดินอยู่ริมถนน เป็นผลจากความเข้าใจผิดการได้รับอคติจากสังคม จึงเกิดแรงกระตุ้นให้ต้องศึกษาความเป็นรากเหง้าของตนเอง เพื่อจะได้อธิบายตัวเองให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีสิทธิ์โต้แย้ง ไม่มีสิทธิ์อยู่ในสังคม ชุมชนนั้นได้ ฉะนั้น ต้องต่อสู้เพื่อชุมชน ให้พ้นจากความทุกข์ยากลำบาก และให้ทุกคนรับรู้ว่าคนปกาเกอะญอก็เหมือนกับมนุษย์พี่น้องชาติพันธ์อื่นๆ เท่าเทียมกับทุกคนไม่ได้มีคุณค่าน้อยหรือต้อยต่ำกว่าคนอื่น
“ชาวปกาเกอะญอบอกว่าสิ่งที่อร่อยที่สุดคือข้าว สิ่งที่ดีที่สุดคือมิตรไมตรี แต่ รร.ไม่ได้สอน เพราะการเรียนใน รร.มักจะสอนให้เราได้ใบปริญญาออกไปรับจ้างหางานทำ แต่กลับบ้านไม่ได้ ซึ่งการเรียนรู้รากวัฒนธรรม ภาษาจากผู้เฒ่าผู้แก่ได้ฟังบทกวีเก่าๆ ทำให้รู้รากที่หยั่งลึกกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ทำให้ตนเองอบอุ่นใจ เพราะสมัยเรียนในห้องเรียนเราถูกทำให้อาย ไม่กล้าบอกว่าเป็นคนปกาเกอะญอ ต้องหลบอยู่หลังห้องตลอด รู้สึกไม่มีคุณค่าเลย ดังนั้น การจะมีชีวิตอยู่ในชุมชนได้ คนในชุมชนต้องเกิดการ 'สุม' คือการสุมหัวของคน เพื่อช่วยเหลือแบ่งปัน เกิดการส่งต่อความรู้ภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นต่อไปเรื่อย ๆ
ทำให้สามารถสร้างการดำรงอยู่ เกิดการสร้างอาหารเพื่อความอยู่รอด เพราะชีวิตไม่ได้กำหนดด้วยปัญหาในการจับจ่ายใช้สอย ฉะนั้น ในเรื่องของการจัดการศึกษาจึงอยากให้มีสัดส่วนเนื้อหาชุมชน 40% วิชาการ 60% เพราะเราจะได้เรียนรู้รากเหง้าของชุมชนเป็นการซึมซับทำให้มีความมั่นใจที่จะมีชีวิตอยู่ได้ในมิติของชุมชน ผมอยากเห็นพี่น้องทวาย ล้านนา ปกาเกอะญอ พูดภาษาของตนเอง”นายธีรศักดิ์ กล่าว
รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ชอบคำว่า 'คนมีราก' เพราะการศึกษาขณะนี้คิดออกจากราก ทำให้คนสิ้นรากเหง้าล่องลอยไม่มีจุดหมายปลายทาง สิ่งที่เด็กและเยาวชนพูดว่า “การศึกษาในระบบทำให้คนอายรากของตนเอง” เป็นเรื่องที่แย่มากๆ เพราะในความเป็นจริงเด็กและเยาวชนจะเติบโตขึ้นมาอย่างงดงามจากรากของชุมชน และทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ขณะนี้ โจทย์สำคัญในการจัดการศึกษาของประเทศ “การศึกษาบนฐานชุมชน” ควรเป็นการศึกษาทางหลัก ไม่ใช่ทางเลือก
ด้าน ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิชาการและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สพฐ. ทำเรื่องกระบวนการเรียนรู้จนถึงเรื่องหลักสูตร วันนี้ได้เห็นกระบวนการเรียนรู้ที่ควรจะเป็นใน 3 ประเด็น คือ
1)การเรียนรู้ที่ทำให้เด็กสนใจ ซึ่งเกิดจากการเห็นตัวแบบของรุ่นพี่
2)การจัดกิจกรรมค่ายเป็นประสบการณ์เรียนรู้ที่ดีกระตุ้นให้เกิดความสนใจ
3)การเผชิญความรู้สึกที่เป็นทุกข์
ทั้ง 3 ประเด็นนำไปสู่การได้พบกระบวนการเรียนรู้ที่มีความหมาย เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ได้เกิดตั้งแต่แรก แต่เกิดจากการบ่มเพาะที่ทางสถาบัน องค์กร หน่วยงานที่เด็กและเยาวชนได้เข้าไปมีส่วนร่วม สามารถสร้างกลไกสานต่อจนกระทั้งเกิดมาเป็นตัวตน ทัศนคติ ความสามารถในการจัดการตนเองได้ ตรงนี้ก็ถือเป็นเป้าประสงค์ของ ร.ร.ที่ต้องทำให้เกิด อย่างจริงจัง และจะทำให้เข้าสู่ระบบอย่างยั่งยืนจะทำอย่างไร ตัวอย่างสิ่งที่เด็ก ๆ ทำต้องชื่นชมความสามารถ ทำให้เห็นกระบวนการเชื่อมโยงการเรียนรู้ การฝึกทักษะที่เกิดมาจากสายสัมพันธ์ในการอยากอนุรักษ์ ถนอมวัฒนธรรม ถือเป็นศาสตร์สำคัญของการดูแลประเทศในอนาคต
ส่วนนางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ สสส.ให้ความสำคัญและตลอดมาได้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อพัฒนาเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมในรูปแบบห้องเรียน หรือองค์กรเยาวชน เช่นเดียวกับกิจกรรม เครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาได้สนับสนุนตั้งแต่เริ่มจนถึงขณะนี้เป็นเวลา 10 ปี ได้เห็นการพัฒนามาเป็นระยะ
นับตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มสร้างเครือข่ายและพัฒนามาตลอดจนสามารถสร้างเป็นห้องเรียน และแหล่งเรียนรู้ ที่เปิดโอกาสให้ทั้งเด็กและเยาวชนในพื้นที่ และนอกพื้นที่ที่สนใจได้มาศึกษาหาความรู้ ทั้งนี้ การทำงานของเครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญานั้น แตกต่างกว่าการทำงานของ รร.และสถานศึกษาทั่วไป สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ เครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาจะมุ่งพัฒนาศักยภาพของตัวเยาวชน เน้นการปลูกฝังการเรียนรู้วิถีชีวิตและภูมิปัญญาของท้องถิ่นเป็นสำคัญ
“ขอฝากทางเครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาและผู้เกี่ยวข้องทุกคนว่าเราอยากเห็นการขยายผลแนวทางคิดทำงานการศึกษาบนฐานชุมชน ออกไปในวงกว้างโดยเชื่อมโยงไปกับการศึกษาในระบบและการศึกษากลุ่มอื่นๆ ซึ่งแม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ขณะนี้ก็มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจจึงอยากให้พูดคุยกันเพื่อหาทางออกที่ชัดเจนในการขยายผลการจัดการศึกษาบนฐานชุมชนให้สำเร็จได้อย่างไร ท้ายสุดนี้ ขอชื่นชมทุกคนที่ทำให้โครงการนี้เกิดผลสำเร็จโดยเฉพาะเยาวชนถือเป็นกำลังสำคัญอย่างมาก”นางเพ็ญพรรณ กล่าว
ประเด็นที่สะท้อนคิด เมื่อการศึกษาทางเลือก กลายเป็นสิ่งที่ชุมชน 'เลือก' มากกว่าการศึกษาทางหลัก อะไรจึงควรจะเป็นคำตอบที่ใช้ .