อยากรู้...รพ.รัฐ เปิดทีวีแช่ช่องเดียวจริงหรือ ?
จากกรณี กระทรวงสาธารณสุข มีหนังสือลงวันที่ 30 มกราคม 2558 ไปถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ทุกจังหวัด หลังได้รับเรื่องผ่านศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 โดยมีผู้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปิดรายการโทรทัศน์ของโรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะการเปิดรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่มีพิธีกรดัง ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ชี้มูลว่าทำความผิดเรื่องการทุจริต และอัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องแล้ว ถือเป็นรายการข่าวที่ไม่เหมาะสม นั้น
เพื่อมิให้เกิดข้อโต้แย้ง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ขอให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด แจ้งหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาเปิดโทรทัศน์ ให้มีการหมุนเวียนการเปิดตามช่องสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ในแต่ละวัน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ลงพื้นที่ตระเวนตรวจสอบข้อเท็จจริง โรงพยาบาลรัฐเฉพาะในกรุงเทพฯ เปิดโทรทัศน์ช่องหนึ่งช่องใดแช่ไว้ จริงหรือไม่
แห่งแรก โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า (กรมแพทย์ทหารเรือ) ในช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 08.00-9.30 น. ของวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 บริเวณชั้น 1 พบว่า มีโทรทัศน์ ประมาณ 4 เครื่อง ตรงบริเวณช่องจ่ายยา ช่องจ่ายเงิน ห้องตรวจระบบประสาทและศัลยกรรมประสาท และห้องตรวจอายุรเวชกรรม โดยทั้ง 4 เครื่อง เปิดช่องเดียวกันเหมือนกันหมด
เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ แผนกเวชระเบียน บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ทางรพ.จะมีเจ้าหน้าที่นายทหารคอยคุมห้องของแต่ละโซน ซึ่งเป็นคนเปิดปิดโทรทัศน์ และดูแลเรื่องการเปิดช่องต่างๆ
“เหตุผลที่เลือกเปิดช่อง 3 เพราะมีข่าวสารให้ผู้ป่วยได้ติดตามตลอด เพื่อให้ผู้ป่วยติดตามข่าวสารระหว่างรอตรวจ และในแต่ละจุดของโรงพยาบาลก็จะเปิดรายการของช่อง 3 เป็นส่วนใหญ่” เจ้าหน้าที่แผนกเวชระเบียน ให้ข้อมูล
ขณะที่พยาบาลเวรรายหนึ่ง บอกถึงการจะเปลี่ยนช่องโทรทัศน์นั้น ผู้มาใช้บริการสามารถเดินมาบอกกับเจ้าหน้าที่ได้ ไม่ได้มีการปิดกั้น หรือเปิดช่องใดช่องหนึ่งไว้ตายตัว
ส่วนผู้ป่วยที่มารอตรวจรักษา นางเนาว์ เท้าขุนราชา อายุ 69 ปี เป็นผู้ป่วยประจำของ รพ.ทหารเรือ มาใช้บริการประมาณเดือนละ 1 ครั้ง แสดงความเห็นกรณีดังกล่าว ว่า การเปิดโทรทัศน์ไม่ว่าจะเป็นช่องไหนก็ตาม เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดอะไรมาก็ดูตามนั้นไป ถือว่า ดูแก้ขัดระหว่างรอพบหมอ แต่โดยส่วนตัวแล้วติดตามรายการต่างๆของช่องที่รพ.เปิดให้ดูอยู่ประจำแล้ว
เช่นเดียวกับ นางนันทิยา รุ่งแจ้ง อายุ 40 ปี ผู้ป่วยที่เพิ่งมารักษาที่นี่ครั้งแรก ซึ่งก็เป็นแฟนประจำช่องที่ รพ.เปิดอยู่ บอกว่า เมื่อเธอไปใช้บริการรพ.แห่งอื่นๆ ก็จะพบเห็นรายการของทางช่องนี้เป็นประจำ หรือแม้แต่ในโรงเรียนที่ ทำงานอยู่ก็เปิดช่องเดียวกันนี้
“อาจเป็นเพราะรายการนี้ ช่องนี้มีระยะเวลาออกอากาศนาน 3- 4 ชั่งโมง ติดตามได้ตลอด และคนส่วนใหญ่ก็ดูกัน เลยเป็นความเคยชินไป”
ไม่ต่างจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ณ อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ ช่วงแปดโมงเช้า ผู้สื่อข่าวเดินสำรวจประมาณ 4 ชั้น ก็พบว่า แต่ละชั้นมีโทรทัศน์อยู่ประมาณ 4 เครื่อง ส่วนใหญ่แล้วจะเปิดโทรทัศน์ช่อง “รามาชาแนล” รายการเกี่ยวสุขภาพ ของทางโรงพยาบาลที่ผลิตขึ้นเอง
เมื่อเข้าไปพูดคุยกับผู้ป่วยต้อกระจก อายุ 52 ปี ซึ่งต้องมาทำการตรวจที่รพ.รามาฯ เดือนละครั้ง บอกว่า ส่วนใหญ่ที่มาก็ไม่ค่อยได้ดูช่องอื่นเลย นอกจากช่อง รามาชาแนล ซึ่งใจจริงๆ แล้วชอบดูช่อง 7 ดูข่าว ดูรายการ และอีกหลายช่อง
ในเรื่องนี้ นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.รพ.รามาธิบดี ได้ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ผู้จัดการ เช่นกันถึงการเปิดโทรทัศน์ให้กับประชาชนระหว่างรอรับบริการว่า เมื่อประมาณ 3-5 เดือนก่อน รพ.รามาฯ ก็เคยถูกร้องเรียนเรื่องการเปิดสถานีโทรทัศน์เพียงช่องเดียว ผู้ดำเนินรายการข่าวช่องดังกล่าวก็เป็นผู้ที่มีข้อกล่าวหาทางกฎหมาย หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทางรพ.รามาฯ พยายามปรับปรุงด้วยการมอบหมายให้ฝ่ายสื่อสารองค์กรของรพ. ดูแลควบคุมจากส่วนกลางในการเปลี่ยนสถานี ไม่ใช่เปิดแช่ที่สถานีใดสถานีหนึ่งนานเกินไป ซึ่งจะมีทั้งรายการทางฟรีทีวี และรายการของทางรพ.เองชื่อว่า “รามาชาแนล” เพื่อให้ผู้ที่มารับบริการ ได้รับชมรายการทางสถานีโทรทัศน์ได้อย่างหลากหลาย
“ส่วนในบางจุดที่มีการติดตั้งโทรทัศน์รุ่นเก่า ก็ให้เจ้าหน้าที่คอยดูแลและสับเปลี่ยนสถานีโทรทัศน์ ไม่ปล่อยให้ญาติหรือผู้ป่วยปรับเปลี่ยนเอง เพื่อป้องกันการทะเลาะกัน” ผอ.รพ.รามาธิบดี กล่าว และแสดงให้เห็นว่า ทางรพ.ไม่ได้มีความเอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง จึงไม่น่าจะเป็นการปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารของประชาชนแต่อย่างใด เนื่องจากบางครั้งโทรทัศน์อาจจะตั้งอยู่ในจุดที่อับสัญญาณ จึงจำเป็นต้องเปิดแช่เอาไว้ที่สถานีโทรทัศน์ที่สัญญาณการรับส่งภาพและเสียงดีที่สุดเอาไว้ ตรงนี้อยากให้ประชาชนเข้าใจเรื่องข้อจำกัดตรงนี้ด้วย
สุดท้าย โรงพยาบาลราชวิถี ผู้สื่อข่าวสอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ ระบุว่า ยังไม่เห็นหนังสือจากกระทรวงสาธารณสุขเรื่องขอให้เปิดโทรทัศน์บริการประชาชนหมุนเวียนไปหลายๆ ช่อง
และเมื่อสอบถามพยาบาล แผนกเอกซเรย์ ก็ให้ข้อมูลถึงการเปิดโทรทัศน์ให้บริการประชาชนในโรงพยาบาลราชวิถีว่า “จริงๆแล้วที่นี่ ไม่ได้มีคนคุมรีโมท แต่แล้วแต่แผนกว่า อยากดูช่องไหน อย่างแผนก เอกซเรย์ ก็จะเปิดช่องที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ชอบดู แต่ใครอยากดูช่องไหนก็บอกได้ อย่างดิฉันเองก็ไม่ค่อยชอบดูโทรทัศน์ แต่ถ้าเปิดให้ผู้ป่วยดู เราก็ดูไปด้วย”
นี่เป็นเพียงตัวอย่าง บรรยากาศยามเช้าโรงพยาบาลรัฐไม่กี่แห่ง ต่อกรณีกระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือเปิดช่องทางการรับข่าวสารจากทุกช่องทาง ให้ครอบคลุม