‘ไทย-ออสซี่’ แลกประสบการณ์ สร้างการศึกษาพลเมืองประชาธิปไตย
แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ‘ไทย-ออสซี่’ สร้างความเป็นพลเมือง นักวิชาการ จุฬาฯ เผยวิชาหน้าที่พลเมือง สร้างความอลเวงให้ ร.ร. หลายแห่งต้องจ้างครูสอนเพิ่ม ‘เข็มพร วิรุณราพันธ์’ ยกเคสดูงาน ร.ร.ประถมฯ ออสเตรเลีย พบฝึกนักเรียนคิดวิเคราะห์ ไม่เน้นท่องจำ ผู้แทน สพฐ. หวังไทยมีองค์กรกลางพัฒนาหลักสูตรเยี่ยง ACARA
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และภาคีเครือข่าย จัดเวทีสัมมนา ‘การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากไทยและออสเตรเลีย’ ณ ตึก 2 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผอ.สสย. กล่าวว่า โลกตั้งเป้าหมายให้เด็กในยุคศตวรรษที่ 21 เป็นคนที่มีจิตสำนึก ความเป็นพลเมือง และมีทักษะการเรียนรู้ ซึ่ง สสย.ตั้งคำถามจะนำพาไปสู่เรื่องเหล่านั้นได้อย่างไร เพราะปัจจุบันเด็กใช้เวลาอยู่กับสื่อนาน 7 ชั่วโมง/วัน มากกว่าครอบครัว ทำให้เด็กอยู่ในโลกเสมือน และไม่รู้เท่าทันสื่อ จนอาจนำไปสู่ปัญหาในสังคม
ในฐานะที่ทำงานคลุกคลีกับสื่อ ผอ.สสย. กล่าวต่อว่า กระบวนการคิดวิเคราะห์เป็นหัวใจสำคัญของการรู้เท่าทันสื่อ ช่วยให้มีความสามารถในการเข้าถึง ประเมิน และใช้ประโยชน์จากสื่อ เกิดความตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความเห็น สิ่งเหล่านี้มีส่วนในการพัฒนาเด็กไปสู่ความเป็นพลเมือง
น.ส.เข็มพร ยังกล่าวถึงประสบการณ์การเดินทางไปศึกษาห้องเรียน ประเทศออสเตรเลียว่า โรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่ออสเตรเลีย สิ่งที่สังเกตเห็น คือ กระเป๋านักเรียนวางอยู่นอกห้อง สะท้อนว่า ในห้องเรียนไม่เน้นการสอนแบบเปิดตำรา แต่ได้จัดกระบวนการเรียนรู้ไม่ต้องท่องจำ และมีการบูรณาการ
ทั้งนี้ ยกตัวอย่าง การเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ คุณครูให้นักเรียนอ่านวรรณกรรม เรื่อง ‘น้ำท่วม’ ซึ่งภาษาที่เขียนขึ้นสัมผัสถึงหัวใจ และให้เกิดความเห็นใจต่อกัน จากเนื้อเรื่องออกตามหาสุนัข
“นักเรียนยังได้เรียนรู้ทักษะการอ่าน มีความเข้าใจเกี่ยวกับภัยพิบัติ กระบวนการมีส่วนร่วม และมีการฝึกจับประเด็น สรุป และอภิปราย เพื่อการรู้เท่าทันสื่อ โดยฝึกคิดวิเคราะห์ว่า ผู้เขียนวรรณกรรมเรื่องนี้ต้องการเป้าหมายอะไร บอกอะไรกับผู้อ่าน และไม่ได้บอกอะไรกับผู้อ่าน สุดท้าย นักเรียนจะสามารถแยกแยะได้ และเชื่อมโยงไปสู่สื่อประเภทอื่น” ผอ.สสย. กล่าว
ด้าน ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ สถาบันสังคมศึกษา สพฐ. กล่าวถึงประสบการณ์ว่า โดยเห็นความสำคัญของสถาบันพัฒนาหลักสูตรเฉพาะ ซึ่งไทยยังไม่มีหน่วยงานเกิดขึ้นชัดเจน แต่สำหรับประเทศออสเตรเลีย มี Australian Currlculum, Assessment and Reporting Authority (ACARA) เป็นสถาบันพัฒนาหลักสูตรของประเทศที่ศึกษาการสร้างความเป็นพลเมือง เปรียบเหมือนพิมพ์เขียวที่เขียนขึ้นนำไปสู่วิสัยทัศน์ต้องการประชากรรูปแบบใด แต่สำหรับสังคมไทยมักไม่สนใจเรื่องการเมือง ทั้งที่การเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิต
“ACARA ตั้งเป้าหมายยึดหลักการวิจัยเป็นฐาน และในหลักสูตรต้องมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกระบวนการประชาธิปไตย โดยมีกระบวนการพัฒนาหลักสูตรผ่านขั้นตอนการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ การรับฟังความเห็น ทดลองใช้ ก่อนนำไปสู่การเรียนการสอน” ผู้แทน สพฐ. กล่าว และว่าหลักสูตรของประเทศออสเตรเลียมีรายละเอียดใกล้เคียงกับกระบวนการเรียนการสอนมาก แต่สำหรับประเทศไทยกลับไม่พบการเชื่อมโยงของหลักสูตรดังกล่าวเพียงพอ ทั้งที่หลักสูตรต้องเชื่อมโยงไปสู่กระบวนการดังกล่าว
ขณะที่ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันของหลักสูตรและการเรียนการสอนวิชาหน้าที่พลเมืองว่า ต้องนำเสนอแง่มุมทางวิชาการเกี่ยวกับความเป็นไทย, ความรักชาติ ยึดมั่นในศาสนา และเทิดทูนพระมหากษัตริย์, ความเป็นพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข, ความปรองดองสมานฉันท์ และความมีวินัยในตนเอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อกระทรวงศึกษาธิการให้บรรจุไว้ในหลักสูตร หลายโรงเรียนประสบปัญหาไม่มีครูสอน จนเกิดความอลเวงกันขึ้น ซึ่งโรงเรียนบางแห่งไหวตัวทันก็จ้างครูอัตราจ้างสอนวิชาหน้าที่พลเมืองเฉพาะ แต่อีกจำนวนมากที่ไม่มีงบประมาณจะให้ครูที่มีชั่วโมงสอนน้อย ไม่ว่าจะเป็น ครูวิชาพละ หรือวิชาการงานและอาชีพ มาสอนแทน ซึ่งหากไม่ได้เตรียมตัวจะเกิดปัญหาในการชี้วัดผลสัมฤทธิ์ได้
ด้านนายปราศรัย เจตสันติ์ โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม กล่าวถึงตัวอย่างการสอนวิชาหน้าที่พลเมืองในห้องเรียนว่า เด็กทุกคนมีความเป็นพลเมืองอยู่ในตัว หากชี้แนวทางให้ถูกต้อง ทุกอย่างจะดีขึ้น ซึ่งกระบวนการสอนที่ใช้อยู่ จะสอนให้เด็กตระหนักรู้ในสิทธิหน้าที่ของตนเอง หลังจากนั้นค่อยให้รู้การช่วยเหลืองานสังคม และกลายเป็นพลเมืองก้าวหน้า มุ่งสู่ความเป็นธรรม รู้จักวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่าง ๆ
ทั้งนี้ วิธีการสอนจะเน้นกิจกรรมแบ่งกลุ่ม อภิปราย เสวนา สถานการณ์จำลอง บทบาทสมมติ ซึ่งการนำมาในกระบวนการดังกล่าวนักเรียนต้องมีการค้นคว้าข้อมูลมาก่อน และสุดท้ายจะต้องให้ทำโครงการชิ้นใหญ่ เช่น ชั้น ม.4 ให้ทำหนังสั้น ที่บูรณาการเรียนกับวิชาคอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้เทคนิคการตัดต่อภาพยนตร์ หรือชั้น ม.6 ให้ทำโครงการพัฒนาโรงเรียน เป็นต้น
ครูประจำ ร.ร.บางปะกอกวิทยาคม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมจำลองสภาผู้แทนราษฎร ส่งเสริมการเลือกตั้งในสถานศึกษา เพื่อฝึกการตัดสินใจ และยังจัดโต้วาที โดยมิได้มุ่งเน้นฝึกการพูด แต่คาดหวังให้นักเรียนฝึกการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างมากกว่า ทั้งนี้ สำหรับการวัดผลการเรียนนั้น จะใช้ข้อสอบอัตนัยล้วน ในลักษณะคำถามปลายเปิดทั้งหมด .