คตร.Vs.ศาลยุติธรรม ปมขอเพิ่มวงเงินงานก่อสร้าง ศาลจ.อ่างทอง 260 ล.
"..เนื่องจากส่วนราชการเสียโอกาสของโครงการมาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 เห็นควรให้สำนักงานศาลยุติธรรมเร่งรัดติดตามการปรับผู้รับจ้างและเรียกคืนค่าใช้จ่ายในการควบคุมงาน จากผู้รับจ้างรายเก่าที่ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือเอาผิดกับผู้รับจ้าง .."
งานก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดอ่างทอง ขนาด 14 บัลลังก์ 1 หลัง พร้อมบ้านพักและสิ่งก่อสร้างประกอบ วงเงินกว่า 260 ล้าน ของสำนักงานศาลยุติธรรม กำลังถูกจับตามองอย่างมาก
เมื่อในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 3 ก.พ.58 ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. ได้ลงมติอนุมัติตามความเห็นของ สำนักงบประมาณ ในการอนุมัติให้เพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างอาคาร พร้อมบ้านพักและสิ่งก่อสร้าง จากวงเงินเดิม 260 ล้านบาท เป็น 269,846,000 บาท และค่าควบคุมงาน จากเดิม 4,600,000 บาท เป็นวงเงิน 5,400,000 บาท โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553-57 ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว 229,500,000 บาท และจำนวน 4,041,200 บาท ตามลำดับ
ส่วนที่เหลือ จำนวน 40,346,600 บาท และ 1,359,120 บาท ให้สำนักงานศาลยุติธรรม เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป
"การดำเนินการก่อสร้างและขยายระยะเวลาการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการดังกล่าว ขอให้สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ประหยัด และประโยชน์สูงสุดของทางราชการเป็นสำคัญ และขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป" สำนักงบประมาณระบุ
หากพิจารณาตามข้อมูลที่ระบุว่า หลายคนอาจสงสัยว่า เรื่องนี้มีอะไรผิดปกติ น่าจับตามองตรงไหน?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง มานำเสนอดังนี้
ประการที่หนึ่ง เหตุผลที่สำนักงานศาลยุติธรรม ต้องทำเรื่องขออนุมัติเพิ่มวงงานก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดอ่างทอง ขนาด 14 บัลลังก์ 1 หลัง พร้อมบ้านพักและสิ่งก่อสร้างประกอบ เป็นเพราะภายหลังจากที่ได้รับอนุมัติงบประมาณ จากที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.52 สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ว่าจ้างเอกชนจำนวน 2 ราย เข้ามารับงานก่อสร้างและควบคุมงาน
แต่ปรากฎว่าผู้รับจ้างงานก่อสร้าง ไม่สามารถดำเนินงานให่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามสัญญา แม้สำนักงานศาลยุติธรรมจะได้มีการผ่อนผันให้มีการปรับแผน ก่อสร้าง แต่ผู้รับจ้างก็ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดได้ โดยมีการเบิกจ่ายงบประมาณ ค่าก่อสร้างไปแล้ว จำนวน 3 งวด เป็นเงิน 19,966,000 บาท และเบิกจ่ายค่าควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 6 เดือน เป็นเงิน 1,003,220 บาท สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้บอกเลิกสัญญาก่อสร้าง เพื่อดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างรายใหม่
ในการนี้สำนักงานศาลยุติธรรม ได้จัดทำประมาณการราคากลางค่าก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดอ่างทองใหม่ให้เป็นปัจจุบัน และสอดคล้องกับปริมาณงานคงเหลือ เป็นผลให้ราคาค่างานก่อสร้างและค่าควบคุมงานก่อสร้างเพิ่มขึ้นเกินกว่ากรอบวงเงินที่เคยได้รับอนุมัติ จึงจำเป็นต้องเสนอขออนุมัติให้เพิ่มวงเงินใหม่
ประการที่สอง ในการนำเสนอเรื่องเพื่อขออนุมัติเพิ่มวงเงินใหม่ครั้งนี้ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ที่มีพลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธาน ไม่เห็นด้วยอย่างมาก พร้อมแสดงความเห็นต่อที่ประชุมครม. ดังนี้
1. โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดอ่างทอง เป็นโครงการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ปี 2553-2555 แต่เมื่อดำเนินการโครงการแล้วได้ทำสัญญากับผู้รับจ้างที่ไม่มีคุณภาพ การก่อสร้างไม่เป็นไปตามกรอบระยะเวลาและได้รับการอนุมัติให้ขยายเวลาโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อโครงการ ทำให้ส่วนราชการเสียโอกาสต่อการใช้ประโยชน์ในอาคาร ซึ่งในทางปฏิบัติเมื่อผู้รับจ้างไม่ดำเนินการตามสัญญา ผู้ว่าจ้างควรบอกเลิกสัญญาได้ก่อนที่จะเกิดความเสียหายมากขึ้น ในกรณีนี้มีการบอกเลิกสัญญาหลังจากจบสัญญา และยังขอขยายระยะเวลาอีก 251 วัน ซึ่งไม่น่าจะเหมาะสม
จึงเห็นควรให้สำนักงานศาลยุติธรรม พิจารณาดำเนินการภายในวงเงินที่ได้รับ หากจะดำเนินการโดยใช้งบประมาณสูงกว่า เห็นควรให้เจียดจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานศาลยุติธรรมเอง
2. การทำสัญญาว่าจ้างครั้งใหม่ จะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส และจะต้องอยู่ในกรอบระยะเวลาที่กำหนด การคัดเลือกผู้รับจ้างให้มีการตรวจสอบสถานะของผู้รับจ้าง มีผลการดำเนินการที่ผ่านมา ที่เชื่อถือได้ว่าเมื่อทำสัญญาแล้วจะไม่ทิ้งงาน หรือไม่สามารถดำเนินการตามกรอบระยะเวลาในสัญญาได้ หรือในสัญญาฉบับใหม่ควรมีข้อกำหนดให้ผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาได้ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้รับจ้างจะไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามสัญญาอย่างชัดเจน และหากการก่อสร้างอยู่ในพื้นที่้เดิมให้พิจารณาความปลอดภัยจากการก่อสร้างที่ดำเนินการไปแล้วบางส่วนจากผู้รับจ้างรายเก่า
3. เนื่องจากส่วนราชการเสียโอกาสของโครงการมาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 เห็นควรให้สำนักงานศาลยุติธรรมเร่งรัดติดตามการปรับผู้รับจ้างและเรียกคืนค่าใช้จ่ายในการควบคุมงาน จากผู้รับจ้างรายเก่าที่ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือเอาผิดกับผู้รับจ้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแจ้งยืนยันมติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 3 ก.พ.58 ที่ประชุมได้เห็นชอบให้สำนักงานศาลยุติธรรม เร่งรัดติดตามการปรับผู้รับจ้าง และเรียกคืนค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานจากผู้รับจ้างรายเก่าที่ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญา หรือดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือเอาผิดกับผู้รับจ้าง ตามความเห็นของ คตร.ด้วย
ทั้งหมดนี้ คือ เหตุผลว่าทำไมเรื่องนี้ถึงมีความสำคัญ และเป็นประเด็นในวงการศาลที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งอีกเรื่องหนึ่ง
เชิญชวนติดตามข่าวสารสำนักข่าวอิศรา ได้ด้วยการกด "Like" ที่ แฟนเพจ "I love isranews"
(โปรดติดตามตอนหน้าว่าด้วย "เปิดชื่อข้อมูล ผู้รับจ้าง งานก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดอ่างทอง" )
(ดูเอกสารประกอบ)