9 คำถามต่อ"เปอร์มัส" กับคำตอบเรื่องเอกราช-ปกครองตนเอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในทุกการต่อสู้เรียกร้อง มักมี "พลังนักศึกษา" ร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง
ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นกัน บทบาทของนิสิตนักศึกษาในพื้นที่ นอกจากเป็นตัวแทนชาวบ้าน เยาวชน และคนธรรมดาในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ตลอดจนความเป็นธรรมต่างๆ แล้ว พวกเขายังเป็น "คู่กรณี" โดยตรงกับรัฐและฝ่ายความมั่นคง
โดยมีสงครามแย่งชิงมวลชนของดินแดนปลายด้ามขวานเป็นฉากหลัง!
ที่ผ่านมามีนักศึกษาถูกยิง ถูกฆ่าโดยกองกำลังไม่ทราบฝ่าย มีนักศึกษาถูกจับ ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี และถูกกดดันรูปแบบต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่แทนที่พลังจะฝ่อไป พวกเขากลับรวมตัวกันในนามสหพันธ์ หนำซ้ำยังขยายวงไปสู่นักเรียนและเยาวชน เป็นสหพันธ์ขนาดใหญ่ที่ชื่อ PerMAS (เปอร์มัส)
เป็นที่ทราบกันดีว่า "เปอร์มัส" เป็นองค์กรนักศึกษาที่ถูกจับตาจากฝ่ายความมั่นคงมากที่สุดในห้วง 1-2 ปีมานี้ ด้านหนึ่งเป็นเพราะพวกเขามีเบื้องหลังที่ไม่ธรรมดา ทั้งกลุ่มที่ปรึกษาและผู้สนับสนุน รวมทั้งกิจกรรมที่พวกเขาจัดซึ่งท้าทายและเปราะบางต่อสถานการณ์ความมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกิจกรรมเปิดเวที "บีจารอปาตานี" (Bicara Patani) ที่เข้มข้นขึ้นหลังจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเปิดตัวพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น
"เวทีบีจารอ" เป็นเวทีเปิดที่ให้ชาวบ้านพูดถึงทางออกของปาตานี (โดยนัยหมายถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ได้ทุกมิติแม้กระทั่งการแยกตัวเป็นเอกราช เขตปกครองตนเอง เขตปกครองพิเศษ หรือการลงประชามติเพื่อกำหนดใจตนเอง ที่เรียกว่า right to self determination
เสียงขานรับจากในพื้นที่และบุคคลที่เคลื่อนไหวทั้งเป็น "ตัวเปิด" และ "หลังฉาก" ของเปอร์มัส ทำให้ฝ่ายความมั่นคงมองพวกเขาอย่างไม่ไว้วางใจ และตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการขับเคลื่อนใน "ปีกการเมือง" เพื่อเป้าหมาย "ปลดปล่อยปาตานี" โดยสอดประสานกับอีกปีกหนึ่ง คือ "ปีกการทหาร" ที่อาจนำโดยบีอาร์เอ็นหรือไม่
ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามบ่อนทำลายเปอร์มัสและแกนนำ ทั้งตัวเปิดและข้างหลังฉากอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมที่น่าจับตาก็คือการแฉประวัติด้านลบและพฤติกรรมของแกนนำบางคนผ่านทางเพจเฟซบุ๊คไม่ระบุตัวตน หรือที่เรียกว่า "เพจผี" ซึ่งเชื่อกันว่าฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้ดำเนินการ
หลายเรื่องก็ดูจะเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ค่อยจะเป็นธรรมนัก โดยเฉพาะหากผู้กล่าวหาคือ "กลไกของรัฐ" ซึ่งมีกฎหมายและเครื่องไม้เครื่องมือมากมายในการจัดการหากพบว่าคนเหล่านี้กระทำผิดกฎหมาย
แต่ที่ผ่านมาก็มีแต่การบ่อนทำลาย และตั้งยันกันทางยุทธวิธี...
ตลอดมา "เปอร์มัส" มีพื้นที่ในสื่อกระแสหลักค่อนข้างน้อย และคนนอกพื้นที่ไม่ค่อยรู้จักพวกเขา ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา จึงเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเปอร์มัส และถ่ายทอดผ่านบทสัมภาษณ์ 9 คำถามกับประธานเปอร์มัส สุไฮมี ดูละสะ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งน่าจะพอทำให้เห็นภาพเปอร์มัสชัดเจนขึ้นว่า เป็นองค์กรที่น่ากลัวจริงๆ หรือแค่ถูก "เขียนเสือให้วัวกลัว"
1.เปอร์มัส คือใคร?
PerMAS ย่อมาจาก Persekutuan Mahasiswa Anak muda dan Siswa Patani หมายถึง สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี
2.พันธกิจของเปอร์มัส
เรามีพันธกิจ 2 ประการ คือ Peacemaker กับ Human rights defender หมายถึงเป็นผู้สร้างสันติภาพ และต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แปรสู่การปฏิบัติก็คือ 1.เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน 2.เป็นองค์กรกลางหนุนเสริมองค์กรฐาน 3.เป็นพื้นที่กลางทางการเมืองของนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี
3.การทำงานของเปอร์มัส
เรามีวิสัยทัศน์เพื่อสังคมเสมอภาคและยุติธรรม มีเป้าหมายหลักเพื่อสันติภาพปาตานี รองลงมาก็เพื่อจัดขบวนและเพิ่มศักยภาพบทบาทนักศึกษา นักเรียน เยาวชนปาตานี มียุทธศาสตร์ในการเปิดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อการกำหนดชะตาตนเอง เพื่อสร้าง International solidarity (ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างประเทศของชาวปาตานี) และพัฒนาศักยภาพบุคลากร
4.จุดยืนของเปอร์มัส
จุดยืนของเรา เมื่อประชาชนมีความพึงพอใจต่อสันติภาพอย่างไร PerMAS ก็มีความพึงพอใจต่อสันติภาพอย่างนั้น สรุปคือประชาชนเป็นใหญ่
5.พัฒนาการของเปอร์มัส
สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานและยืดเยื้อไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งไทยพุทธและมลายูปาตานีมุสลิม ทำให้เกิดภาวะความหวาดระแวงและความหวาดกลัวไปทั่ว จนนำมาสู่ความแตกแยกในสังคมตามมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายไม่อยากให้เกิดขึ้น
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สนน.จชต. ได้ก่อตั้งขึ้นบนหลักการและเหตุผลเพื่อการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการมีบทบาทเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างองค์กรต่างๆ เป็นกระบอกเสียงนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งเพื่อเป็นสื่อทางเลือกให้กับภาคสังคมได้ทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน
สนน.จชต.ก่อตั้งเมื่อ 8 มี.ค.2551 จากการประชุมแลกเปลี่ยนและระดมความคิดของแกนนำนิสิตนักศึกษา 3 องค์กร คือ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดปัตตานี (สนป.) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา (สนย.) และสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดสงขลา (สนส.) มติที่ประชุมเลือก นายรอมซี ดอฆอ เป็นเลขาธิการ สนน.จชต.คนแรก โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดแรก มี นายรอมซี ดอฆอ เป็นเลขาธิการ มีรองเลขาธิการ 3 คน แบ่งเป็นฝ่ายประชาชน ฝ่ายนักศึกษา และฝ่ายการเมือง
นอกจากนั้นยังมีโฆษก มีฝ่ายข้อมูลข่าวสาร มีฝ่ายการเงิน ฝ่ายกิจกรรม ฝ่ายประสานงาน ฝ่ายจิตวิทยามวลชน มี นายตูแวดานียา ตูแวแมแง เป็นประธานคณะที่ปรึกษาสมัยนั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 13-14 พ.ย.2552 ได้มีการสมัชชาใหญ่เลือกเลขาธิการคนใหม่ โดยมีหลายองค์กรฐานมาร่วมเป็นสักขีพยาน มติสมัชชาใหญ่เลือก นายกริยา มูซอ อดีตโฆษก สนน.จชต.เป็นเลขาธิการคนที่สอง โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดที่สองมาร่วมแบกภาระอันยิ่งใหญ่ และเริ่มมีการจัดกิจกรรมลงพื้นที่ศึกษาปัญหาข้อเท็จจริงจากเสียงสะท้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในหลายๆกรณี เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ชาวบ้านได้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น และได้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้สังคมได้รับรู้
หลังจากที่ได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ ทางกรรมการบริหารก็ได้นำข้อเท็จจริงต่างๆ มาเผยแพร่ภายในมหาวิทยาลัย จนเกิดการผลักดันเป็นกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยเพื่อการทำงานภาคสังคม โดยผ่านการสร้างจิตสำนึกต่อบทบาทและหน้าที่ของปัญญาชนเพื่อการสร้างสังคมที่ดีในอนาคต
และการเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 เม.ย.2556 ผมได้รับเลือกตั้งจากคณะกรรมการสมัชชาใหญ่ สนน.จชต. ให้เป็นผู้นำสูงสุดของสหพันธ์ฯ ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธาน และทาง สนน.จชต.ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS
6.เปอร์มัสในปัจจุบันมีโครงสร้างอย่างไร
PerMAS รุ่นที่ 3 มีแผนงานและความรับผิดชอบของคณะกรรมการแต่ละฝ่ายดังนี้
1) ประธาน ทำหน้าที่ออกสื่อ เดินสายพบปะ เป็นโฆษกขององค์กร เป็นประธานในที่ประชุม และตัดสินใจปัญหาฉุกเฉิน
2) เลขานุการ ทำหน้าที่จัดเก็บและรวบรวมข้อมูลการทำงานของประธาน จดบันทึกการประชุม รับผิดชอบงานที่ประธานมอบหมาย
3) รองประธานคนที่ 1 ฝ่ายจัดขบวนนักศึกษา
4) รองประธานคนที่ 2 ฝ่ายจัดขบวนนักเรียน
5) รองประธานคนที่ 3 ฝ่ายจัดขบวนเยาวชน
6) รองประธานคนที่ 4 ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ประสานงานและอำนวยการให้กับองค์กรนักศึกษาและเยาวชนปาตานีที่อยู่ต่างประเทศ ทำให้นักศึกษาและเยาวชนที่อยู่ต่างประเทศรับรู้ว่าตนเอง คือ PerMAS
7) ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ ทำหน้าที่จัดขบวนทีมสื่อนักเรียน นักศึกษา และเยาวชน ให้มีการรณรงค์และการนำเสนอไปในทิศทางเดียวกัน กำหนดและติดตามประเด็นต่างๆ ในการขับเคลื่อน ประชาสัมพันธ์วาทกรรม "ปาตานี" และ "อัตลักษณ์" เช่น กิจกรรมเวทีบีจารอปาตานี (Bicara Patani) กิจกรรมซาตูปาตานี (Satu Patani) เป็นต้น พร้อมจัดกิจกรรมรณรงค์และขับเคลื่อนประเด็นสันติภาพ ต่อต้านการเลือกปฏิบัติ และสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ตลอดจนจัดกิจกรรมตามวันสำคัญ เช่น กิจกรรมรำลึกตากใบ วันสันติภาพสากล เป็นต้น
8) ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมศักยภาพ ทำหน้าที่ออกนโยบายในการเสริมศักยภาพบุคลากร นำเสนอข้อมูลและความรู้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ จัดตั้งโรงเรียนการเมือง หรือ Politic school /PerMAS school (ศูนย์กลาง) และ Politic school /PerMAS เขตพื้นที่ต่างๆ จัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพสตรีในการเคลื่อนไหวประเด็นสันติภาพ จัดค่าย Motivacy Camp เพื่อจัดสร้างเยาวชนรุ่นใหม่มาทดแทนรุ่นเก่า จัดกิจกรรมอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในประเด็นต่างๆ ให้กับองค์กรฐาน โดยองค์กรฐานต้องส่งตัวแทน 2 คนต่อองค์กรเพื่อเข้ารับการอบรมทุกๆ 3 เดือน
9) ผู้อำนวยการฝ่ายเครือข่าย ทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลองค์กรฐานต่างๆ กลุ่มซีเอสอาร์ (กลุ่มที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม) ทั้งในและนอกพื้นที่ที่เคลื่อนไหวในปาตานี จัดกิจกรรมเยี่ยมเยียนและแลกเปลี่ยนประเด็นกับองค์กรต่างๆ ออกนโยบายในการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ (Stakeholder) พร้อมสร้างเครือข่ายกับองค์กรระหว่างประเทศ และเปิดศูนย์ข้อมูลข่าวสารปาตานีในต่างแดน
10) ผู้อำนวยการฝ่ายสหกรณ์ ทำหน้าที่เปิดสหกรณ์ PerMAS จัดทำแผนธุรกิจ
11) เลขาธิการ ทำหน้าที่รักษาการแทนประธาน ติดตามและกำกับงานตามแผนและนโยบาย จัดการเรื่องการประชุม งบประมาณ และดูแลบัญชีทั้งหมด
12) ผู้ประสานงานแต่ละเขต ทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลพื้นฐานองค์กรฐาน ชุมชนรอบข้าง สรรหาองค์กรฐาน และรวบรวมกำกับดูแลพื้นที่ในความรับผิดชอบ
สำหรับรองประธานทั้ง 4 ฝ่าย จะปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการกลางของสหพันธ์ฯ ประสานงานและอำนวยการกับองค์กรนักศึกษา นักเรียน หรือเยาวชนในความรับผิดชอบของตน รวมทั้งดำเนินการจัดกิจกรรมและโครงการเพิ่มศักยภาพให้กับแกนนำและองค์กรนักศึกษา นักเรียน และเยาวชน
7.มุมมองต่อรัฐไทย
สำหรับมุมมองของเปอมัสที่มีต่อรัฐ คือ รัฐไทยยังคงใช้แนวทาง "การทหารนำการเมือง" ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในปาตานี มีบางเรื่องบางคราวรัฐพยายามใช้แนวทางการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหา แต่เรายังมองว่าเป็นแผน "แยกกันเดิน รวมกันตี" คือ ฝ่ายหนึ่งพยายามเอาใจชาวปาตานีและนักรบจูแว (นักสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานี) แต่อีกฝ่ายก็พยายามสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวปาตานี สังเกตได้จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้
ขณะเดียวกันรัฐไทยไม่ยอมเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับชาวปาตานีเลย แม้ว่าจะมีนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม นักสิทธิมนุษยชน แต่หลายๆ คนก็ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ การปิดล้อมหอพักนักศึกษา การดิสเครดิตตามสื่อสังคมออนไลน์ การไปขอข้อมูลส่วนตัวที่บ้าน
8.ทำไมมองรัฐในแง่ลบ
มาจากคำถามที่ว่าทำไมรัฐถึงมองเราในแง่ลบ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า นักศึกษาอาจไม่ทั้งหมดคือนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และไม่ใช่แค่เฉพาะนักศึกษาปาตานีเท่านั้น หากแต่นักศึกษาจากส่วนกลาง กรุงเทพฯ หรือทั่วโลก ก็จะมีขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอยู่แล้ว และทุกที่บนโลกคู่กรณีของขบวนการเคลื่อนไหวนักศึกษาก็คือรัฐนั่นเอง
นอกจากนี้ เปอร์มัสยังเป็นองค์กรที่พยายามเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชนปาตานีให้สามารถพูดหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างอิสระ ซึ่งบางครั้งคำตอบที่ได้จากชาวบ้านก็ทิ่มแทงความรู้สึกของรัฐไทยอย่างแรง แต่กระนั้นมันก็คือความจริง แม้ว่าเขาจะพูดตรงและแรง แต่ก็ยังดีกว่าให้เขาไปฆ่าใครไม่ใช่หรือ
9.เป้าหมายสุดท้ายของกระบวนการสันติภาพและเปอร์มัส ต้องการเอกราช ปกครองพิเศษ หรือประชามติกำหนดใจตนเอง
เปอมัสไม่เคยซีเรียสเรื่องเป้าหมายสุดท้ายของกระบวนการสันติภาพ มันจะจบลงด้วยเอกราช หรือออโตโนมี (ปกครองตนเอง) หรืออุดมการณ์ของพวกจูแวจะหมดไป แล้วชาวปาตานีถูกกลมกลืนกลายเป็นไทยหมดก็ตาม แต่ที่เราซีเรียสและพยายามเคลื่อนไหวอยู่ตลอดก็คือ ขั้นตอนและวิธีการของกระบวนการสันติภาพต่างหาก
เปอร์มัสสนับสนุนแนวทางสันติวิธีทุกรูปแบบ และไม่สนับสนุนแนวทางความรุนแรง ซึ่งแนวทางสันติวิธีก็มีอยู่หลายวิธี ทั้งการเจรจา การพูดคุย การเปิดเวที การเสวนา และการลงประชามติ (right to self determination) ก็เป็นหนึ่งในวิธีการต่อสู้แบบสันติวิธี ไม่ว่าผลสุดท้ายของกระบวนการสันติภาพหรือผ่านการประชามติแล้วจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เพียงแค่ประชาชนส่วนใหญ่พึงพอใจต่อสันติภาพแบบนั้น เปอร์มัสก็พอใจเช่นกัน
ขอยืนยันคำตอบว่า หากประชาชนพึงพอใจต่อสันติภาพอย่างไร เปอร์มัสก็พอใจต่อสันติภาพอย่างนั้น
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กิจกรรมต่างๆ ของเปอร์มัส
2 กราฟฟิกแสดงโครงสร้างการบริหารงานของเปอร์มัส
ขอบคุณ : กราฟฟิกโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
อ่านประกอบ : รู้จัก PERMAS องค์กรนักศึกษาชายแดนใต้ เปิดพื้นที่ขับเคลื่อนอนาคต "ปาตานี"