ชวนโหลดแอพฯ ‘FoodiEat’ คำนวณสรีระ ห่างไกลโรคอ้วน
สวทช. จับมือ 4 หน่วยงาน เปิดตัวแอพพลิเคชั่น “FoodiEat” คนไทยใส่ใจสุขภาพ ห่างไกลโรคอ้วน
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับ 4 หน่วยงานด้านโภชนาการ ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมอนามัย แถลงข่าวเปิดตัว Mobile Application FoodiEat ณ โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จากโครงการสำรวจรูปร่างและสรีระของประชากรไทยในปี 2550-2551 ของโครงการ SizeThailand พบสัดส่วนของคนไทยอยู่ในภาวะโรคอ้วนเพิ่มขึ้น 34% เป็น 1 ใน 3 ของคนไทยที่อยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งปัญหาโรคอ้วนเป็นปัญหาสากลทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปส่งผลให้ผู้คนส่วนใหญ่หันมาบริโภคอาหารสำเร็จรูป อาหารจานด่วน รวมถึงเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง แต่มีการทำงานที่ใช้แรงงานหรือออกกำลังกายน้อยลง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เนคเทคจึงได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น FoodiEat ขึ้นมา ซึ่งออกแบบให้ใช้งานง่าย บนมือถือทั้งระบบ ios และ Android โดยสามารถบันทึกพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และคำนวณค่าพลังงานที่เผาผลาญจากการออกกำลังกาย รวมถึงให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพแก่ผู้บริโภคได้โดยตรงผ่านเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งจะเรียนรู้พฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายของผู้ใช้
"ข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายของผู้ใช้แอพพลิเคชั่น จะเป็นคลังข้อมูลที่สำคัญสามารถนำมาใช้ต่อยอดในงานวิจัย เพื่อการปรับปรุงและพัฒนานโยบายในด้านสุขภาพของประชากรไทยต่อไป” ผอ.สวทช. กล่าว
ด้านศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการสร้างนโยบาย ซึ่งจะนำมาสู่การสร้างความสุขให้กับประชาชนคนไทย หนึ่งในนโยบายสำคัญนี้คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะการสร้างเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีและการป้องกันโรค ซึ่งเป็นแนวทางหลักที่มีความหมายสำคัญและดีกว่าการรักษาเมื่อเจ็บป่วย
รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพอันสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้องและออกกำลังกายไม่เพียงพอ จึงได้ให้การสนับสนุน โครงการส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนไทยในรูปแบบที่หลากหลาย แอพพลิเคชั่นบนมือถือ FoodiEat จะเป็นทางเลือกให้ประชาชนทั่วไปสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลสุขภาพของตนเอง
“FoodiEat ถือเป็นแอพพลิเคชั่นแรกที่เชื่อมโยงข้อมูลกับ 3 หน่วยงานหลักที่มีฐานข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการและฉลากโภชนาการสำหรับอาหารไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสร้างฐานข้อมูลโภชนาการอาหารไทย” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ขณะที่ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาโรคอ้วนเป็นปัญหาหนักของคนไทย มีผู้ที่ป่วยเป็นโรคอ้วน ร้อยละ 34 ของผู้ป่วยทั่วประเทศ และสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคที่ไม่ติดต่อ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง รวมร้อยละ 70 ของยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด จึงเป็นภาระต่อการรักษาเป็นอย่างมาก
การจัดการกับโรคนี้มีวิธีเดียว คือ การปรับเปลี่ยนชีวิต พฤติกรรมการกิน การดื่ม และออกกำลังกายให้เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ทาง สสส. เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีสื่อสารที่ช่วยให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลสุขภาพต่างๆได้ง่ายและวดเร็ว โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟนที่มีคนไทยใช้มากถึงร้อยละ 30 ของมือถือทั้งหมด
สำหรับแอพพลิเคชั่น FoodiEat สสส.ได้นำข้อมูลเทรนด์สุขภาพใหม่ ๆ เช่น ลดพุง ลดโรค อาหารเพื่อสุขภาพ และกิจกรรมทางกาย นำเสนอรูปแบบ Infographic เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ และคนวัยทำงาน
“สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อสุขภาพสำเร็จแล้ว 4 แอพพลิเคชั่น ได้แก่ Plan money วางแผนการเงิน, Bike route แนะเส้นทางปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ, Snap’n bite ช่วยลดน้ำหนัก และ DoctorMe แนะนำวิธีเยียวยาการเจ็บป่วยเบื้องต้น สามารถดาว์นโหลดได้ฟรีทาง Google Play ปัจจุบันมียอดดาว์นโหลดมากกว่า 4 แสนครั้ง” ผู้จัดการ สสส. กล่าว
ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากสถิติพบว่าคนไทยอ้วนเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองลงมาจากประเทศมาเลเซีย และประเทศที่มีสุขภาพดีที่สุดในเอเชียคือประเทศสิงคโปร์ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้คนไทยรับประทานอาหารที่ดีถูกสุขลักษณะ ห่างไกลจากโรคอ้วน
ทั้งนี้ เครื่องมือที่เป็นประโยชน์กับการบริโภคในชีวิตประจำวันจึงได้สนับสนุนข้อมูลที่แสดงบนฉลากอาหาร เช่น คุณค่าทางโภชนาการ 15 รายการจากกรอบข้อมูลโภชนาการ ได้แก่ ค่าพลังงาน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โซเดียม วิตามิน และเกลือแร่ เป็นต้น
ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที 24 ประเภท เช่น ขนมขบเคี้ยว อาหารกึ่งสำเรจรูป อาหารแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์จากนม ประมาณ 3,000 ผลิตภัณฑ์ ที่จำหน่าย ณ ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ข้อมูลดังกล่าวจะใช้เป็นฐานข้อมูลให้ผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นสแกนบาร์โค้ดผลิตภัณฑ๋อาหารและบันทึกข้อมูลการบริโภคได้ง่ายขึ้น .