ก้าวแรกที่ยะลา..กับการเดินเพรียกหาสันติสุขที่ชายแดนใต้
"ถ้าไม่เป็นอะไรไปก่อน ผมจะเดินจนจบโครงการนี้ ไปให้ถึงตากใบ"
เป็นเสียงใสๆ แต่เปี่ยมไปด้วยความมุ่งมันของ มะตอเฮ พะยูซี สมาชิกสมาคมลุ่มน้ำสายบุรี จาก อ.รามัน จ.ยะลา ระหว่างร่วมก้าวเท้าไปกับผู้ร่วมโครงการรณรงค์ "เดินสายใจสู่สันติชายแดนใต้" เมื่อเช้าตรู่ของวันจันทร์ ที่ 16 ก.พ.58
โครงการนี้จัดขึ้นจากความร่วมมือของภาคประชาสังคมหลายกลุ่มหลายองค์กรในพื้นที่ชายแดนใต้ ร่วมกับภาครัฐ เอกชน และศูนย์สันติวิธีชายแดนใต้ มหาวิทยาลัยมหิดล มีวัตถุประสงค์สร้างความตระหนักรู้ให้กับพี่น้องในพื้นที่ถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบ จะได้เห็นความจำเป็นของการร่วมมือกัน สานสัมพันธ์ของสังคมให้ดำรงอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย
อีกทั้งเป็นสัญญะสื่อให้สังคมรับรู้ว่าความขัดแย้งที่เป็นความรุนแรงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกว่า 11 ปีนั้น ยังมีหนทางคลี่คลายได้ด้วยสันติวิธี
ขบวนของคณะรณรงค์เดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้ เริ่มขึ้นที่วงเวียนหอนาฬิกา ถนนสุขยางค์ ในเขตเทศบาลนครยะลา มี พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลาเป็นประธาน เส้นทางการเดินจะผ่านทั้ง จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ไปสิ้นสุดที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ใช้เวลา 7 วัน
ตลอดเส้นทาง คณะเดินรณรงค์จะแวะพูดคุยกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในพื้นที่ พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะ เพื่อนำเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้รับรู้รับทราบต่อไป เพราะภาคประชาสังคมในพื้นที่เชื่อว่า แม้สถานการณ์ภาพรวมของชายแดนใต้จะดีขึ้น แต่สันติสุขยังไม่เกิดขึ้นจริง
พงษ์ศักดิ์ หรือ "นายกฯอ๋า" กล่าวว่า 11-12 ปีที่ผ่าน ประชาชนในพื้นที่โดนผลกระทบด้านจิตใจจากความรุนแรงจนยากเยียวยา มีความหวาดระแวงระหว่างพี่น้องประชาชนด้วยกัน กิจกรรมเดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้จึงเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ทุกภาคส่วนได้แสดงออก อย่างน้อยก็เสมือนเป็นการประกาศว่าสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการคือสันติภาพ
คณะเดินรณรงค์มีทั้งเดินจริงๆ และปั่นจักรยาน วันแรกตั้งเป้าไว้ที่ 32 กิโลเมตร
หนึ่งในผู้ที่ตั้งใจเดินจากต้นทางเมืองยะลา จนถึงปลายทางที่ อ.ตากใบ คือ มะตอเฮ ซึ่งเป็นคนสามจังหวัดขนานแท้
"ร่วมกิจกรรมนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ถ้าไม่ทำก็จะไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะที่นี่คือบ้านของเรา อยากให้เด็ก เยาวชน และคนในพื้นที่ได้รู้สึกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของเราเอง การสร้างสันติสุขเป็นเรื่องของจิตอาสา ไม่ต้องบังคับหรือขอร้องกัน หวังให้พลังน้อยนิดนี้เปิดโอกาสให้เรื่องราวปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ได้คลี่คลายลงบ้าง" มะตอเฮ บอก
ในคณะเดินรณรงค์ มีคนปั่นจักรยานที่ตั้งใจจะร่วมขบวนไปตลอดทางจนถึงที่หมายรวม 3 คัน มาจาก จ.สิงห์บุรี 2 คัน และสระบุรี 1 คัน
ธนะสิทธิ์ พิพุฒ ผู้แทนกลุ่มจักรยาน "ปั่นเพื่อเธอ" จาก จ.สิงห์บุรี จังหวัดเล็กๆ จากภาคกลางของประเทศ บอกว่า ได้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอด เห็นว่ายังมีความรุนแรงอยู่ และรู้สึกเป็นห่วง อยากทำอะไรสักอย่าง กระทั่งได้รับทราบข่าวจากเฟซบุ๊คว่าจะมีการเดินสานใจสู่สันติ จึงได้นัดกับเพื่อนในกลุ่มเดินทางมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
"พวกเราหวังว่าอย่างน้อยเราอาจเป็นเฟืองตัวเล็กๆ ที่ช่วยผลักดันให้ความสงบ ร่มเย็น กลับคืนสู่แผ่นดินไทยและจังหวัดชายแดนภาคใต้"
ธนสิทธิ์ เปิดใจด้วยว่า ใครๆ อาจกลัว ไม่กล้าเดินทางมาชายแดนใต้ แต่สำหรับผู้ที่เคยมาแล้วจะรู้ว่าความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างที่เป็นข่าวเลย ต้องมาสัมผัสเองถึงจะรู้
"พี่น้องมุสลิมในพื้นที่มีน้ำใจมาก ผู้คนที่นี่ใช้ชีวิตปกติเหมือนที่อื่น เราอาจช่วยลดความรุนแรงไม่ได้มาก แต่มาเติมพลังให้ทุกฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงตระหนักว่า มีคนต่อต้านความรุนแรงอยู่" เขากล่าว
ลม้าย มานะการ จากเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ในฐานะผู้ประสานงานหลักในกิจกรรมเดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้ กล่าวว่า ต้องการสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ว่าพื้นที่นี้ยังมีความรุนแรง มีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก มีช่องว่างของความสัมพันธ์ของผู้คน การเดินรณรงค์จะได้แวะเยี่ยมผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบด้วย ทั้งที่เป็นมุสลิมและไทยพุทธ เพื่อสื่อสารให้ทุกฝ่ายหยุดความรุนแรง
โดยเฉพาะต่อเด็กและสตรีทุกศาสนาทุกคน!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พิธีเปิดเดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้ที่ อ.เมืองยะลา
2-3 คณะเดินรณรงค์
4 กลุ่มปั่นจักรยานจากนอกพื้นที่ก็เข้าร่วม