จากมือที่ "เปื้อน" บาป สู่มือที่ "ปั้น" บุญ
...“ผมเคยบอกกับครูว่า ครูครับ หากครูนำพระพุทธรูปองค์ที่ผมปั้นไปถวายที่วัดไหน ช่วยบอกผมด้วย เมื่อออกไปแล้ว ผมจะได้ไปกราบ ถ้าได้ออกไปผมจะพาลูก พาครอบครัวไปกราบไหว้ ไม่ว่าพระจะไปประดิษฐานอยู่ที่ไหนจะไป และจะบอกกับลูกว่า พระองค์นี้พ่อเป็นคนปั้น เพื่อจะได้มีสิ่งดีดี อวดลูกบ้าง”
อภิเชฐ เจ้าของผลงานปั้น พระพุทธนฤอภัยมงคล 1 ใน 8 ผลงานการปั้นพระพุทธรูป จากโครงการ "ปั้นดินให้เป็นบุญ" ณ แดนการศึกษา เรือนจำกลางบางขวาง จังหวัดนนทบุรี ที่เตรียมนำทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ บอกถึงความตั้งใจ เมื่อเขาพ้นโทษ
อภิเชฐ ผู้ต้องขังคดีฆ่า แห่งคุกบางขวาง อดีตเคยเป็นตำรวจมาก่อน เล่าว่าการต้องมาอยู่คุกบางขวาง กิจวัตรประจำวันในแต่ละวันเหมือนผ่านไปอย่างช้าๆ เต็มไปด้วยความทรมาน คิดถึงบ้านก็คิดถึง คิดถึงครอบครัวที่สุด
แต่เมื่อมีโครงการ "ปั้นดินให้เป็นบุญ" ทำให้ อภิเชฐ รู้สึกว่า ชีวิตในแต่ละวันเริ่มมีค่า มีความหมาย มีรสชาติมากขึ้น ด้วยภารกิจงานที่ต้องทำ ชีวิตเขาจึงมีความหวังอยากมีชีวิตอยู่รอดกลับไปอยู่กับครอบครัวและช่วยเหลือสังคมในอนาคตมากขึ้น
ขณะที่ “ธีรพงศ์” ผู้ต้องขังคดียาเสพติด กับผลงานปั้นพระพุทธอภัยนิรมิต เล่าถึงความรู้สึกครั้งแรกที่เรือนจำบางขวางเปิดโอกาสให้มีการปั้นพระพุทธรูปว่า
“เหมือนเราได้อยู่โลกอีกโลกหนึ่งของสังคม ซึ่งน้อยนักที่คนในสังคมภายนอกจะได้เจอ หรืออาจไม่เคยเจอเลยก็ได้และไม่มีโอกาสด้วยซ้ำที่จะได้มาจับต้องเนื้อดินทุกเม็ด แล้วก่อขึ้นเป็นองค์พระ ด้วยจิตใจในความรู้สึกที่ยากจะอธิบายได้ คือพูดง่ายๆ ว่า คนที่จะเริ่มต้นทำงานได้นั้นต้องมีหลักอิทธิบาท 4 มีฉันทะ คือมีความรักในงาน และมีวิริยะ คือมีความเพียร ฯ ความรู้สึกทั้งหมด ตื่นเข้าไปถึงข้างใน ที่ทำให้อยากจะตื่นขึ้นมาทำงานในทุกๆวัน เวลาปั้นพระ ใจเราจดจ่อ มีสมาธิอยู่กับงานตรงหน้า จนผมกลับไปฝันถึงพระพุทธรูปที่ปั้นอยู่หลายหน”
ยิ่งเมื่อมารู้ว่า งานปั้นของเขาถูกคัดเลือกให้เป็นผลงานพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะที่งดงาม เตรียมถวายแด่ในหลวงด้วยนั้น “ธีรพงศ์” บอกว่า เป็นบุญที่สุดแล้ว หาที่สุดมิได้ สร้างความภาคภูมิใจในชีวิตให้เขาอย่างมาก
“ถ้าในวันหนึ่งที่ได้ออกไปจากที่นี่ อยากไปดูความสำเร็จที่เราไม่คาดหวังไว้ในตอนนั้น และเป็นสิ่งเราได้ทำก็อยากไปกราบสักการะสักครั้งหนึ่ง ก่อนที่ลมหายใจตรงนี้จะสิ้นสุดลงไป” ธีรพงศ์ เป็นอีกคนที่รอคอยวันเวลาที่จะได้ออกไปใช้ชีวิตแบบปกติอีกครั้ง
ด้านอาจารย์ยี่หร่า ภูษิต รัตนภานพ ครูใหญ่ประจำชั้นเรียน เรือนจำกลางบางขวาง บอกเล่าความรู้สึกวันแรกที่ได้รับเชิญมาสอนผู้ต้องขังปั้นพระพุทธรูป ว่า “ผมรู้สึกไม่ค่อยดี รู้สึกถึงความน่าหวาดกลัว บรรยากาศไม่ค่อยดี มืดๆคลื้มๆ เหมือนบรรยากาศไม่เอื้ออำนวย คิดว่ายากไปไหมที่จะมาสอนคนเหล่านี้"
แต่เมื่อเขาลองปรับมุมมอง อย่างแรกเลยที่คิดคือนักเรียนไม่มีพื้นฐานอะไรเลย ถ้าเราไปสอนให้เขา ก็จะได้ถ่ายทอดความรู้ที่เรามี ได้ช่วยเหลือคนที่ก้าวพลาดไปแล้ว "ผมจึงตอบรับและเข้ามาสอนคนที่นี่”
เมื่อสอนไปได้สักพัก อาจารย์ยี่หร่า เริ่มรู้สึกได้ถึงความอบอุ่น ความเป็นกันเอง ความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน และที่สำคัญเขาเหล่านี้มุ่งมั่นกว่านักศึกษาที่เคยสอนอยู่ข้างนอกเสียอีก
“คนเหล่านี้เปรียบเสมือนศิลปินคนหนึ่งเช่นกัน มีความรู้สึก มีความพิเศษอะไรบางอย่าง ในความงามที่เขาได้มองเห็นด้วยของเขาเอง ถ้าสังเกตจากพระพุทธรูปที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป พระแต่ละรูปที่แต่ละคนปั้นออกมาก็มีความงามในอุดมคติ ไม่ได้แค่ทำตามแบบเพียงอย่างเดียว แต่ใส่จิตนาการเข้าไปด้วย”
ครูใหญ่ประจำชั้นเรียน สังเกตอย่างละเอียดตั้งแต่ขั้นตอนการเขียน จนถึงการปั้น เขาเห็นเค้าโครงใบหน้าหรือสัดส่วนที่คล้ายคลึงกับคนปั้นรวมอยู่ในนั้น
“อย่างพี่อภิเชฐตอนผมสอนเขาก็จะเน้นไปในเรื่องของการขยายสัดส่วน แต่บังเอิญมีแบบ พี่อภิเชฐก็เลยขยายสัดส่วนของพระที่ตัวเองจะปั้นได้แป๊ะเลย ส่วนกลุ่มของ พี่ธีรพงศ์ ต้องชื่นชมมาก เพราะกลุ่มนี้จะมีการทำงานที่สามัคคีกันมาก ทำงานเป็นระบบ ทั้งความมุ่งมั่น ความตั้งใจ ซึ่งพระพุทธรูปที่ปั้นออกมาจะมีความอ่อนหวาน อ่อนโยน และสะท้อน บุคลิกอย่างของผู้สร้างขึ้นมา”
อาจารย์ยี่หร่า ผู้ที่คร่ำหวอดสอนลูกศิษย์มามากมาย เมื่อเข้ามาสอนผู้ต้องขังที่บางขวาง ยอมรับแรกๆ ไม่ได้คาดหวังว่า ผลงานต้องสวยอะไรมากมาย หรือให้ได้อย่างที่เราต้องการ เพียงแค่สอน ให้ดูต้นแบบ หลังจากนั้นให้เขาออกแบบกันเอง นักเรียนบางคนก็ไม่ยอมทำตาม ไม่เชื่อครูจะปั้นปางนอน หรือปางไสยาสน์บ้าง มีบางคนอยากปั้นพระเครื่อง เราก็ปล่อยให้เขาคิดไป ถือว่าเป็นศิลปินด้วยกัน ทำอะไรก็ไม่ต้องฟังครู แต่เมื่อผลงานปรากฎขึ้นมาในสายตาของทุกคนในวันนี้ เรียกว่า มาจากมือ และจากใจ ของเขาจริงๆ จากตอนแรกที่ไม่รู้เลยว่าจะออกมาในรูปแบบไหน แต่เมื่อได้เห็น "ผมชื่นใจมากๆ นักเรียนของเราไม่ได้ปั้นพระด้วยมือ แต่ปั้นด้วยใจ ด้วยศรัทธาอันบริสุทธิ์สูงส่ง”
ครูใหญ่ประจำชั้นเรียน แห่งคุกบางขวาง ผู้ค้นพบศักยภาพในตัวของผู้ต้องขัง เชื่อว่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้สังคมเห็นว่า มนุษย์ถ้ายังมีความศรัทธา มีความเชื่อมั่นตัวเอง ถึงแม้ชีวิตอาจพลาดพลั้งไป เราก็สามารถกอบกู้ศรัทธา สามารถสร้างสิ่งที่ดีงามกลับคืนมาได้
นี่คือความมหัศจรรย์ของงานพุทธศิลป์ ที่ช่วยขัดเกลาจิตใจนักเรียนหลังกำแพงคุกบางขวางให้มีความสว่างไสว และสัมผัสได้ถึงความสุขสงบภายในจิตใจของตัวเองอย่างแท้จริง
นอกจากผู้ต้องขังจะได้เรียนปั้นพระพุทธรูปแล้ว อีกความสามารถที่ค้นพบ คือ การแต่งเพลง วาดภาพประติมากรรมหลังกำแพงคุกบางขวาง
ผลงานของ ผู้ต้องขังรุ่น 1-4 ของเรือนจำบางขวาง