สื่อเพื่อสันติภาพกลางไฟขัดแย้ง...หยุด hate speech - สร้างภาพปีศาจ
"ลองดูข่าวกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส ประเด็นที่ว่าเหตุใดไอเอสถึงใช้ความรุนแรง มีส่วนน้อยมากในการรายงานข่าว"
เป็นข้อสังเกตของ โปรเฟซเซอร์ เจค ลินช์ (Jake Lynch) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย อดีตนักข่าวและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้าน "สื่อเพื่อสันติภาพ" หรือ Peace Journalism ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจในแวดวงนิเทศศาสตร์และวารศาสตร์ไปทั่วโลก
โดยเฉพาะสถานการณ์ของโลก ณ ปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เข่นฆ่า
เจค ลินช์ กล่าวเรื่องนี้ในการอบรมเชิงปฏิบัติการสื่อสันติภาพ หรือ Peace Journalism Workshop หัวข้อ "สื่อเพื่อสันติภาพจะเป็นจริงได้หรือ?" ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ก.พ.58 ซึ่งกิจกรรมดีๆ นี้มี Rotary Peace Centre จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Southeast Asian Press Alliance (SEAPA) ให้การสนับสนุน
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการรายงานข่าวไอเอส ไม่ได้ต่างอะไรกับข่าวความรุนแรงรายวันที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งแม้ เจค ลินช์ จะไม่ได้พูดถึง ทั้งๆ ที่ผู้อบรมเกือบทั้งหมดเป็นผู้สื่อข่าวไทยทั้งกระแสหลักและออนไลน์ แต่ข่าวสารที่ปรากฏตลอด 11 ปีไฟใต้ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นไปตามข้อสังเกตข้างต้น
และการรายงานลักษณะนั้น ในทางวิชาการเรียกว่า "สื่อเพื่อสงคราม" หรือ War Journalism ซึ่งตรงกันข้ามเกือบจะสิ้นเชิงกับแนวทางของ Peace Journalism หรือ "สื่อเพื่อสันติภาพ" ซึ่งมองว่าการรายงานข่าวสถานการณ์ความรุนแรงหรือความขัดแย้งเพียงอย่างเดียว อาจจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งยิ่งทวีความรุนแรง
แต่การรายงานข่าวแบบ "สื่อเพื่อสันติภาพ" จะครอบคลุมถึงการรายงานสถานการณ์ การวิเคราะห์ถึงสาเหตุการเกิดสถานการณ์และความรุนแรง และที่สำคัญนอกจากจะนำเสนอว่าผู้รับสื่อกำลังเผชิญกับความรุนแรงอะไรแล้ว ยังมีการนำเสนอทางเลือกและแนวทางในการป้องกันไปที่รากเหง้าของความรุนแรงด้วย
ผลิดอกสันติภาพ
ปัจจุบันแนวคิด "สื่อเพื่อสันติภาพ" แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง และเป็นต้นกำเนิดของสื่อชนิดนี้ในหลายๆ พื้นที่ขัดแย้ง เช่น มินดานิวส์ (http://www.mindanews.com/) สื่อเพื่อสันติภาพในมินดาเนา MAP หรือ Media Association for Peace (http://mapmena.org/) เครือข่ายสื่อเพื่อสันติภาพในเลบานอน หรือแม้ Park University ในรัฐมิสซูรี่ สหรัฐอเมริกา ก็มี Centre for Global Peace Journalism เป็นต้น
แต่สำหรับประเทศไทย แม้จะมีความขัดแย้งที่รุนแรงถึงขั้นใช้อาวุธในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานกว่า 10 ปี และมีความขัดแย้งทางการเมืองที่ทั้งรุนแรงและร้าวลึกมากขึ้นทุกที ทว่าแนวคิด "สื่อเพื่อสันติภาพ" กลับไม่ค่อยแพร่ขยายเท่าที่ควร สื่อทุกแขนงในเมืองไทยยังเต็มไปด้วยถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง หรือ hate speech ในบริบทต่างๆ
และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้เกิดการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ขึ้นมา โดยมี เจค ลินช์ เป็นวิทยากรหลัก
ภูมิหลังความขัดแย้ง
"นักข่าวมีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงด้วยการเสาะแสวงหาข้อมูลอย่างรอบด้าน และวิพากษ์ตัวเองอย่างตระหนักรู้ถึงผลจากการรายงานข่าวของตน" เป็นปรัชญาการทำงานของคนข่าวในทัศนะของ เจค ลินช์ ซึ่งเคยทำหน้าที่สื่อมวลชนมาก่อนเป็นนักวิชาการ
"หลายๆ ครั้งโดยไม่ได้ตั้งใจ เราทำให้ข่าวกลายเป็นสิ่งที่คนรู้สึกว่าสถานการณ์กำลังจะรุนแรงขึ้น โดยไม่ได้สร้างความเข้าใจ และไม่ได้สร้างความหวังของสันติภาพ"
เจค ลินช์ อธิบายว่า ข้อจำกัดของการรายงานข่าวที่อยู่ภายใต้กรอบเวลาหรือเส้นตาย (dead line) ซึ่งสื่อมวลชนทั่วโลกต้องเผชิญนั้น คำถามคือ ทำไมต้องนำเสนอข่าวนี้ในวันนี้ แต่เมื่อเป็นข่าวที่ต้องทำภายใต้กรอบเวลาที่เป็นเส้นตาย จึงมักไม่มีคำตอบหรือคำถามลักษณะดังกล่าว หรือถ้าจะมี คำตอบที่ได้ก็มักมาจากอคติ
"เราควรรายงานว่าทำไมถึงเกิดความรุนแรงขึ้น ไม่ใช่แค่เกิดอะไร ที่ไหน อย่างไร เพราะทุกเหตุการณ์มีกระบวนการของมัน มีภูมิหลังของมัน ซึ่งต้องรายงานให้เข้าใจด้วย ที่ผ่านมามีการรายงานเหตุการณ์เป็นช่วงๆอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้รายงานว่ากระบวนการอะไรทำให้เกิดเหตุการณ์นั้น หลายครั้งสื่อนำเสนอแต่ความรุนแรงอย่างเดียว แต่ไม่ได้รายงานเหตุปัจจัยที่ทำให้คนใช้ความรุนแรง และมีหนทางอย่างไรในการเข้าไปจัดการ หรือตอบสนองความรุนแรงนั้นด้วยสันติวิธี"
เขาสรุปในเบื้องต้นว่า ถ้านักข่าวรายงานโดยไม่มีข้อมูลเหล่านี้ ย่อมเป็นการรายงานข่าวเพื่อสงคราม (War Journalism) นำไปสู่ความรุนแรง ทำให้สังคมยอมรับความรุนแรง และยอมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหาได้
4มุมต่าง "peace-war"
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวต่ออีกว่า แนวคิดสื่อสันติภาพจะต้องไม่ปรากฏแต่ข่าวความรุนแรงอย่างเดียว แต่ต้องรายงานสิ่งที่พยายามทำให้เกิดสันติสุขด้วย สิ่งสำคัญคือต้องไม่ใช่การรายงานเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
ขณะที่เรื่องภูมิหลังของเหตุการณ์ซึ่งนักข่าวมักละเลยที่จะรายงาน อาจเป็นแง่คิดของนักข่าวเองที่เข้าใจว่าคนทั่วไปรู้ภูมิหลังของเหตุการณ์อยู่แล้ว จึงมุ่งแต่รายงานเฉพาะเหตุการณ์เท่านั้น ทำให้คนส่วนใหญ่ลืมสาเหตุของความขัดแย้ง
เจค ลินช์ ยังยกหลักคิดของ ศาสตราจารย์ โจฮัน กัลตุง (Johan Galtung) นักวิชาการชาวนอร์เวย์ด้านสันติภาพและความรุนแรงศึกษา เจ้าตำรับ "สื่อเพื่อสันติภาพ" ที่ได้ถึงความแตกต่าง 4 ประการระหว่างสื่อสันติภาพกับสื่อเพื่อสงคราม แล้วนำมาอธิบายใหม่อย่างเห็นภาพ ได้แก่
1.สื่อเพื่อสันติภาพมุ่งเน้นเรื่องสันติภาพ แต่สื่อเพื่อสงครามมุ่งเน้นเรื่องความรุนแรง
2.สื่อเพื่อสันติภาพมุ่งเน้นรายงานความจริง แต่สื่อเพื่อสงครามให้น้ำหนักกับการโฆษณาชวนเชื่อ
3.สื่อเพื่อสันติภาพมุ่งเน้นรายงานเสียงจากประชาชนทั่วไปและเหยื่อ ขณะที่สื่อเพื่อสงครามมุ่งรายงานเฉพาะผู้นำของคู่ขัดแย้ง
4.สื่อเพื่อสันติภาพให้น้ำหนักในเรื่องทางออกของความขัดแย้ง ขณะที่สื่อเพื่อสงครามเน้นไปที่ฝ่ายใดได้รับชัยชนะ
เทียบปกนิตยสารดัง
เจค ลินช์ ได้หยิบปกนิตยสารข่าวต่างประเทศ 2 ฉบับมาเปรียบเทียบกัน ทั้งสองปกพูดถึงเรื่องเดียวกัน คือ สงครามอ่าวเปอร์เซีย ฉบับหนึ่งตั้งคำถามว่า "ใครจะเป็นผู้ชนะ" ระหว่าง ซัดดัม ฮุสเซน (อดีตผู้นำอิรัก) กับ จอร์จ ดับเบิลยู บุช (อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ) เข้าข่ายเป็นสื่อเพื่อสงคราม
ขณะที่อีกฉบับหนึ่ง นำคำพูดของบุชมาขึ้นปก แต่แทนบางคำด้วยชื่อและโลโก้ของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของโลก เพื่อชี้ให้เห็นเบื้องลึกของความขัดแย้งมีผลประโยชน์เรื่องพลังงานเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีบริษัทพลังงานเข้าไปอยู่ในวงของความขัดแย้งด้วย
เจคลินช์ วิเคราะห์ว่า การรายงานของนิตยสารข่าวแบบแรก ทำให้สังคมรู้สึกว่าสงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งการรายงานยังให้ความสำคัญเฉพาะคู่กรณี และตั้งคำถามเพียงว่าชัยชนะจะเป็นของฝ่ายไหน โดยไม่ได้มองว่ามีผู้เกี่ยวข้องมากมายกว่านั้น และละเลยที่จะบอกว่าปัจจัยของความขัดแย้งคืออะไร
ส่วนการรายงานข่าวของนิตยสารข่าวอีกฉบับหนึ่ง ทำให้สังคมเข้าใจว่ามีตัวละครอื่นอีกในความขัดแย้ง และมีผลต่อความขัดแย้งด้วย
หยุดสร้างภาพ"เทพ-มาร"
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวด้วยว่า การรายงานข่าวเพื่อสงครามอีกลักษณะหนึ่ง คือ การทำให้สังคมเข้าใจว่าฝ่ายหนึ่งเป็นปีศาจ นำเสนอแต่ภาพลบ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นเทพ แยกเป็นฝ่ายดีกับฝ่ายไม่ดีแค่ 2 ขั้ว ทำให้เกิดความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง
เขายังยกตัวอย่างการรายงานข่าวจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เช่น ข่าวระเบิดควรเสนออย่างไรให้เป็นการรายงานข่าวเพื่อสันติภาพ โดยอธิบายว่า นอกจากการนำเสนอภาพเหตุการณ์แล้ว ควรเสนอเสียงจากผู้ได้รับผลกระทบที่หลากหลาย ข้อเรียกร้องหลายๆ มุม มีการเสนอทางออก และพูดคุยกับประชาชน ตลอดจนรัฐบาลเกี่ยวกับทางออกในการคลี่คลายปัญหา และสะท้อนให้เห็นถึงคู่กรณีของความขัดแย้งซึ่งมีหลายคน หลายกลุ่ม ไม่ใช่แค่ผู้นำของแต่ละฝ่ายเท่านั้น
"การรายงานข่าวข่าวหนึ่ง มีอีกหลายประเด็นที่หยิบมาพูดถึงได้นอกเหนือจากความรุนแรง เช่น การจัดการความขัดแย้งที่สร้างสรรค์ ความพยายามในการรักษาสันติภาพ ส่งเสริมเรื่องราวเชิงบวกที่นำไปสู่สันติภาพ การฟื้นฟูภายหลังสงคราม เป็นต้น ซึ่งหากนักข่าวนำมารายงาน ก็จะทำให้คนที่รับข่าวสารมีแนวคิดอื่นๆ นอกเหนือจากความรุนแรง"
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เปรียบเทียบ 2 ปกนิตยสารดัง
2 เจค ลินช์ ขณะบรรยาย