สสส. จับมือผู้ประกอบการ งดขายเหล้าแก่เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี
สสส. จับมือผู้ประกอบการ งดขายเครื่องดื่มเหล้าแก่เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี หลังพบ นักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเด็กและเยาวชนช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2554 เยาวชน 2.5 ล้านคนที่กลายเป็นนักดื่ม และมีแนวโน้มเป็นนักดื่มประจำมากถึงร้อยละ 38.7
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกับภาคีเครือข่ายผู้ประกอบการร้านอาหาร ภายใต้โครงการส่งเสริมอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพอร่อยได้ ไร้แอลกอฮอล์ จัดมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการไม่จำหน่ายเหล้าเบียร์แก่เด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ณ ห้อง 201 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.) ซอยงามดูพลี กรุงเทพมหานคร
ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษา สสส. กล่าวถึงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเด็กและเยาวชนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2544 อยู่ที่ร้อยละ 21.6 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 23.7 ในปี 2554 เยาวชนเกือบ 2.5 ล้านคนที่กลายเป็นนักดื่ม และมีแนวโน้มเป็นนักดื่มประจำมากถึง ร้อยละ 38.7 ซึ่งฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำลายสมองส่วนความคิดเหตุผล ทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ขณะที่ผลสำรวจในปี 2556 พบเยาวชนทั้งชายหญิง เริ่มดื่มสุราเมื่ออายุ 14 ปี
ที่ปรึกษา สสส. กล่าวว่า การดื่มเป็นการเพิ่มความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท การใช้ความรุนแรงต่างๆ ดังนั้นการใช้มาตรการเพื่อป้องกันผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยการให้ความรู้รณรงค์ โดยเฉพาะการปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ถือเป็นมาตรการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สำคัญมาตรการหนึ่ง ซึ่งต้องการความร่วมมือจากร้านค้า และผู้ประกอบการร้านอาหารเป็นพลังสำคัญ ที่จะช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อไป
นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานนโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 2551 มีปัญหาเรื่องอุบัติบนท้องถนน ช่วงเทศกาลสงกรานเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ปัจจุบันประเทศไทยอับดับ 2 ของโลกที่มีการอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นอันดับ 2 ที่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรมากที่สุดในโลก สาเหตุสำคัญมาจากแอลกอฮอล์
“สสส.เป็นหัวเรือใหญ่ และผู้ประกอบการร้านอาหาร ได้จัดงานเทศกาลอาหารมาแล้วกว่า 100 งาน กำลังก้าวขึ้นสู่งานที่ 200 และงานที่ปลอดแอลกอฮอล์ในช่วง 7 ปี กว่า 1,000 งาน ทุกเทศกาลที่เกี่ยวกับไร้แอลกอฮอล์ สสส.ได้แทรกเข้าไปในงานเหล่านี้”
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า อนาคตของลูกหลานในสังคม “เอาเงินเท่าไหร่ก็มาซื้อไม่ได้” ถ้าอยากทำให้สังคมดีขึ้น ณ วันนี้เอาเงินมากองให้สังคมเปลี่ยน ก็ไม่สามารถเปลี่ยน เพราะสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว เด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจถิ่นฐานบ้านช่อง ไม่สนใจคนใกล้ตัว คุณค่าที่ทำคือการ ปฏิรูปสังคม อย่ามั่วแต่สนใจผลกำไรจนขาดสามัญสำนึก
ด้านน.ส.ณัจยา แก้วนุ้ย ผู้จัดการโครงการส่งเสริมอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพ กล่าวถึงการพัฒนาแนวคิดและสร้างการรับรู้และความเข้าใจเพื่อปฏิบัติตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีการรณรงค์ ลด ละ เลิก การดื่ม การจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสถานที่ต่างๆ เช่น สถานที่ราชการ วัด โรงเรียน สถานีบริการน้ำมัน สวนสาธารณะต่างๆ รวมถึงไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
จากการสำรวจข้อมูลในงานเทศกาลอาหารปลอดภัยอร่อยได้ ไร้แอลกอฮอล์ 10 พื้นที่ต้นแบบ ในปี 2557 ได้สุ่มตัวอย่างประชาชนที่เข้าร่วมงาน 7,351 คน พบว่า ประชาชนเห็นด้วยกับการจัดงานเทศกาลอาหารปลอดภัยอร่อยได้ ไร้แอลกอฮอล์ จำนวน 6,073 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 82.62 และเห็นว่า ควรให้การสนับสนุนในการจัดงานเทศกาลอาหารครั้งต่อไปต้องไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 6,029 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 82.02
อย่างไรก่อนตาม ในปี 2558 นี้โครงการฯได้ยกระดับความเข้มแข็งของภาคี โดยจัดตั้งเป็นประชาคมร้านอาหารในจังหวัดต่างๆ นำร่องจำนวน 15 จังหวัดร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ไม่จำหน่ายเหล้า เบียร์ให้แก่เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี โดยให้การจัดงานเทศกาลอาหารท้องถิ่น ภายใต้คำขวัญ “อร่อยได้ ไร้แอลกอฮอล์” ตลอดจนสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้คำนึงถึงสุขภาพที่ดี
นายสุรพล กำพลานนท์วัฒน์ นายกสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว งบประมานในการจัดกิจกรรมต่างๆค่อนข้างจำกัด จึงขอการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ ผู้ผลิตแอลกอฮอล์ จึงเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ ซึ่งปฏิเสธยากหากการดำเนินกิจกรรมต่างๆขาดสปอนเซอร์ช่วยสนับสนุน
“พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวหาดใหญ่ สงขลาจะแตกต่างจากในหลายพื้นท่องเที่ยว พฤติกรรมการท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ ในประเทศเหล่านี้มีข้อจำกัดในการดื่ม ฉะนั้นในเทศกาลต่างๆเป้าหมายของนักท่องเที่ยวเหล่านี้จะเข้ามาสนุกและดื่มอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะงานเคาท์ดาวน์ งานสงกรานต์ จึงทำให้ผู้ประกอบการมองว่า เมืองของเราควรจะเปิดเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ทางสมาพันธ์เห็นว่า การที่อยากจะให้ธุรกิจการท่องเที่ยวเจริญขึ้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ไม่ควรทำลายภาพลักษณ์ของเมือง ให้ชาวต่างชาติมองเมืองของเราเป็นเมืองอบายมุข” นายสุรพล กล่าว และว่า ฉะนั้นจึงอยากให้ผู้ประกอบการสร้างความแตกต่าง กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมที่ดีขึ้น
ทางด้านผู้ประกอบการจากจังหวัดเชียงราย นายปวีร์พล ภิวัฒน์ชญานันท์ กล่าวว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ เป็นเป้าหมายหลักของบริษัทเหล้า เบียร์ เพราะจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ หรือพะเยา มีบรรยากาศที่ดีมากเย็นสบายน่ากินเหล้า เวลามีผลิตภัณฑ์ออกมาใหม่ 3 จังหวัดนี้จะได้ทดลองก่อน ออกสู่ภาคกลาง และในมุมมองของร้านอาหารยังจำเป็นต้องพึ่งพาสปอนเซอร์จากผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อที่จะได้จัดกิจกรรมต่อไป
“โครงการบูรณาการอาหารปลอดภัยเชียงรายเป็นสุข ดำเนินงานโดยภาครัฐ ในการเชื่อมโยงเกษตกรให้สามารถผลิตอาหารที่ปลอดภัย แล้วสร้างมาตรฐานให้ผลิตอาหารที่มีคุณภาพดีขึ้น เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว จังหวัดเชียงรายจึงเป็นหัวเรือใหญ่จัดงานไร้แอลกอฮอล์ ผลปรากฏว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพียงแต่ยอดการสั่งอาหารจะลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ อยากให้ทางรัฐบาลสร้างสื่อที่เป็นแรงกระตุ้นให้ลด ละ เลิก มาติดตามร้านอาหาร หรือแม้กระทั้งตามเมนูอาหาร อยากให้เป็นแรงสำคัญในการช่วยผู้ประกอบการอีกทาง”