4 องค์กรวิชาชีพสื่อผนึกกำลังตั้ง คพส.ควบคุมกันเองอย่างสร้างสรรค์
รัฐมนตรีสำนักนายกฯ ฟังข้อเสนอปฏิรูปสื่อ อ้างคณะทำงานชุดคณบดีนิเทศจุฬาฯหน้าที่เพียงระดมความคิด ด้าน 4 สมาคมวิชาชีพสื่อตั้งคณะ กก.พัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน เร่ง 5 ภารกิจ“ปฏิรูปสื่อ-ขจัดปัญหา-ควบคุมกันเอง-หลักสูตรพัฒนาสื่อ-พัฒนาองค์กรศึกษาและเฝ้าระวัง” ชี้ รบ.อย่าเสียเวลารับฟังความเห็นอีกเพราะสรุปประเด็นตั้งแต่ปี 2543 ส่วนผู้ประกอบการวิทยุท้องถิ่นเผยมีคนเข้าไปหากินกับวิทยุเล็กๆ หลอกเก็บค่าจัดสรรคลื่นเป็นหมื่น
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลสื่อภาครัฐ เข้าพบปะคณะกรรมการ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย โดยมีบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์เข้าร่วมหารือการปฏิรูปสื่อมวลชนของรัฐ การเร่งรัดออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อจัดสรรและกำกับดูแลสื่อสารมวลชน ด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
นายองอาจ กล่าวว่า เป็นการมารับฟังความคิดเห็นจากสื่อมวลชน เพราะการปฏิรูปสื่อเป็นหนึ่งในแผนปรองดอง ซึ่งหลายคนสับสนว่าสื่อไม่ดีตรงไหนถึงปฏิรูป จึงอยากใช้คำว่าพัฒนาก็คือการทำให้ดีขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลไม่มีความประสงค์ที่จะชี้นำหรือบอกให้ทำอย่างหนึ่งอย่างใด การปฏิรูปต้องเกิดจากการเห็นพ้องต้องกันของคนในแวดวงสื่อสารมวลชน ภาควิชาการ องค์กรประชาชน และภาคประชาชนทั่วไป
นายองอาจ กล่าวว่า ในส่วนของรัฐบาลได้มอบหมายให้ รศ.ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานคณะทำงานด้านการปฏิรูปสื่อ ซึ่งจะมีหน้าที่ประสานงาน รวบรวมความคิดเห็น จุดยืน ความต้องการในการปฏิรูปสื่อเท่านั้น ซึ่งหลังจากนี้จะมีกทาบทามบุคคลมาร่วมงาน
“การเคลื่อนไหวของภาครัฐจะเป็นการรับฟังความคิดมากกว่าจะไปบอกว่าสื่อควรทำอะไร หลังรับฟังแล้วอาจใช้เวลาสักระยะ คงไม่เกินสามสี่เดือน อะไรที่เกี่ยวกับรัฐบาลที่สามารถทำได้ จะรับไปทำ เช่น ถ้าเห็นว่าต้องมีการแก้ไขกฎหมายหรือผลักดันกฎหมายเข้าสู่สภา” นายองอาจ กล่าว
นายเกียรติชัย พงศ์พาณิชย์ ที่ปรึกษาสภาการหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวว่า หลังเหตุการณ์พฤษภา’35 ทำให้เกิดทีวีเสรี แต่ครั้งนี้การปฏิรูปสื่อเกิดจากดำริของรัฐบาลซึ่งจะกลายเป็นส่วนของการปฏิรูปประเทศ กำลังพูดถึงสื่อภาครัฐว่าควรปฏิรูปอย่างไร เช่น กรมประชาสัมพันธ์มีปัญหาเรื่องเครื่องมือที่ไม่สามารถแข่งขันกับเอกชนได้ การบริหารจัดการไม่ได้เรื่อง คณะกรรมการต้องไปคิดว่าทำอย่างไร ทั้งนี้เห็นว่าการปฏิรูปก็ไม่ได้เอาภาคสื่อจริงๆเข้าไปร่วม การตั้งแต่ฝ่ายวิชาการไม่ได้เสียหายอะไร แต่เหมือนกับฝ่ายอำนาจรัฐคิดเองทำเอง แต่สื่อไม่มีบทบาท
นายเกียรติชัย กล่าวว่า สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญต้องคงไว้ การปฏิรูปสื่อต้องมีหลักการหลั่งไหลอย่างเสรีของข่าวสาร สร้างสันติภาพ สร้างความเสมอภาคและความยุติธรรมให้เกิดขึ้น โดยมีจริยธรรมมากำกับ รัฐต้องไปคิดว่ากลไกที่จะนำไปสู่การปฏิรูปมีอะไรบ้าง และทำอย่างไรให้มีองค์กรที่ควบคุมกันเองได้ เช่น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และจะทำให้เข้มแข็งได้อย่างไร นอกจากนี้ต้องมีองค์กรของผู้บริโภคที่คอยติดตามการทำงานของสื่อให้อยู่ในกรอบจริยธรรมวิชาชีพ ไม่ปล่อยให้ภาครัฐดำริขึ้นมาเอง และต้องกลับไปดูสื่อของภาครัฐด้วย
นางบัญญัติ ทัศนียะเวช ที่ปรึกษาสภาการหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวว่า การปฏิรูปสื่อต้องทำตลอดเวลาตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ให้ล้าหลัง สื่อกระแสหลักมีองค์กรดูแล มีกรอบจริยธรรมที่เข้มแข็ง อยู่ในฐานะที่รับใช้ประชาชนได้ แต่ยุคนี้มีสื่อที่เกิดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ หลายครั้งทำให้สังคมยุ่งเหยิง เกิดการยั่วยุ รัฐบาลและกลไกของรัฐไม่สามารถติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
น.ส.ผุสดี คีฏะวรนาฏ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวว่า สื่อมวลชนจีนรายงานข่าวว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงเหมือนการปฏิวัติชาวนาของเหมา เซ ตุง ซีซีทีวีซึ่งเป็นสำนักข่าวทางการจีนและสถานีโทรทัศน์ฮ่องกงที่อยู่ภายใต้รัฐบาลจีนวิเคราะห์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกกลั่นแกล้ง และมีคนระดับรัฐบาลบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นซุน ยัด เซ็น ของไทย เสนอว่าไทยจำเป็นต้องมีองค์กรที่รับผิดชอบในการให้ข้อมูลเพื่อให้สำนักข่าวต่างประเทศได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวว่า รัฐบาลอาจสับสนในตัวเอง เพราะตอนตั้งรัฐบาลใหม่ๆดูจริงจัง นายกฯแต่งตั้งนายวรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานคณะทำงานด้านการปฏิรูปสื่อที่ดึงคนจากวงการต่างๆเข้าร่วม มีความเห็นในการปฏิรูปช่อง 11 ให้เป็นองค์การมหาชนตาม พ.ร.บ.องค์การมหาชน 2542 ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารในการตราพระราชกำหนด และต่อไปต้องมีการปฏิรูปสื่อวิทยุของทหารและหน่วยงานรัฐประมาณ 500 คลื่น ไม่ต้องพูดถึงวิทยุชุมชนประมาณ 8,000 คลื่น โดยหลักการที่ชัดเจนคือการเช่าเวลาไปเช่าช่วงต่อ แต่ขณะนี้ถ้าไม่มีความชัดเจนคณะกรรมการชุด รศ.ดร.ยุบลก็ไปซ้ำรอยกับชุดของนายวรากรณ์
นายประสงค์ ยังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญพูดถึงการห้ามปิดข่าวสาร แต่กระบวนการบล็อกเว็บไซต์เป็นอำนาจของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะไปขออำนาจศาล ปัญหาอยู่ที่ว่าใครจะตรวจสอบการใช้อำนาจ ล่าสุดมีคนโทรศัพท์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โทร.เข้าไปขอไอพีผู้โพสต์ข้อความที่อ้างว่าหมิ่นสถาบัน และการใช้อำนาจศาลปิดเว็บไซต์ทำได้หรือไม่
นายก่อเขตต์ จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า การปฏิรูปสื่อไม่ได้จำกัดอยู่ที่ภาครัฐ สำคัญคือสื่อต้องเรียกร้องกันเองว่าจะดูแลกันอย่างไรให้เดินตามกรอบวิชาชีพที่รับผิดชอบต่อสังคม และยังต้องเรียกร้องต่อผู้ชมและผู้ฟังให้ตรวจสอบสื่อ อาจจะมีการจัดองค์กรกำกับดูแลในอนาคตเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคสื่อเอกชน ส่วนสื่อในกำกับรัฐก็สามารถปฏิรูปได้ทันที เพราะอยู่ในกำกับรัฐอยู่แล้ว
นายเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย กล่าวว่า ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 ผู้ประกอบอาชีพจัดรายการวิทยุต้องเช่าช่วงเวลาต่ออีกครั้ง หลังรัฐธรรมนูญ 2540 คาดหวังว่าภายใน 5 ปีจะมีการปฏิรูปสื่อ จัดสรรคลื่นวิทยุ แต่ก็ยังต้องเช่าช่วงเวลาเหมือนเดิม เมื่อลงมาจัดตั้งสถานีวิทยุเองก็ต้องต่อสู้ เพราะต้องการทำธุรกิจวิทยุในชุมชน ไม่ใช่วิทยุชุมชน เพราะเข้าใจดีถึงคำว่าวิทยุชุมชน ต้องการเป็นเอสเอ็มอีในชุมชนไม่ใช่ธุรกิจระดับชาติ แทนที่รัฐบาลจะเอาข้อมูลเก่ามาปัดฝุ่น กลับมาจัดรับฟังความเห็นที่ไม่รู้ต้องรออีกกี่รอบ ขณะนี้มีการหวาดระแวงกันมากขึ้น มีคนบางกลุ่มเข้าไปหากินกับวิทยุเล็กๆว่าต้องมาเป็นสมาชิกไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการจัดสรรคลื่น บางรายต้องจ่ายเป็นหมื่นๆบาท
นายภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวว่า หากรัฐบาลจะริเริ่มปฏิรูปสื่อ ควรคิดว่าจะมีโครงสร้างหรือกระบวนการอย่างไรบ้าง ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อรับมือสงครามข่าวสาร มีความพยายามทำทีวีอาเซียนเพื่อเป็นกระบอกเสียง แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น ควรมีกระบอกเสียงของไทยเองหรือไม่ ทั้งนี้การปฏิรูปควรเริ่มจากสื่อ ซึ่งเอกชนได้ทำมาต่อเนื่องและจะทำต่อไป
“สื่อในอาณัติรัฐ ถ้าควบคุมเอาไว้ คนทำงานก็ไม่ได้เป็นมืออาชีพ เพราะตรวจสอบไม่ได้ อาจเป็นเพียงเครื่องมือการเมือง ถ้าปล่อยให้เสรีภาพสื่อรัฐจะพลิกฝ่ามือไปเลยได้หรือไม่” นายภัทระ กล่าว
ภายหลังการรับฟังความคิดเห็น นายประสงค์ ในฐานะตัวแทนสมาคมวิชาชีพสื่อ แถลงการณ์จัดตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน”(คพส.) ประกอบด้วยผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน นักกฎหมาย ผู้แทนองค์ด้านคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อมวลชนและการปฏิรูปสื่อ โดยระบุวัตถุประสงค์เพื่อ 1.เร่งผลักดันการปฏิรูปสื่อมวลชนของรัฐ ออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรอิสระทำหน้าที่จัดสรรและกำกับดูแลสื่อมวลชนด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่ใช้ความถี่และไม่ใช่ความถี่ 2.ขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสวงหาและนำเสนอข้อมูลข่าวสารของประชาชนและสื่อมวลชน โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
3.ศึกษาแนวทางปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่องค์กรกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมสื่อมวลชนให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงและความคาดหวังของสังคม 4.ศึกษาแนวทางแสวงหาความร่วมมือในการทำหลักสูตรพัฒนาบุคลากรวิชาชีพสื่อสารมวลชนอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพเพื่อให้เป็นหลักประกันการทำหน้าที่ในวิชาชีพ และ 5.ศึกษาและนำไปสู่การสนับสนุนพัฒนาองค์กรการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อให้เข้มแข็งและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ได้แก่ องค์กรสื่อสารมวลชน องค์กรด้านวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดกระบวนการตรวจสอบสื่อมวลชนโดยภาคสังคมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น.