"เจค ลินช์" ตั้งวงอบรมสื่อสันติภาพ ม.อ.ปัตตานีจัดสัมมนาอิสลามนานาชาติ
การรายงานข่าวท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ หรือขยายวงความเกลียดชังต่อไป เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ "คนทำสื่อ" ต้องทำความเข้าใจ
ที่ผ่านมา "ศูนย์ข่าวอิศรา" หรือในชื่อ "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" ในปัจจุบัน คือโครงการ "เรือธง" ของการรายงานข่าวเชิงสันติภาพในพื้นที่ขัดแย้งอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแม้จะประสบความสำเร็จด้วยดี แต่แนวคิด "สื่อสันติภาพ" ในประเทศไทยก็ยังต้องต่อสู้กับการรายงานข่าวแบบเดิมที่ให้คุณค่ากับความรุนแรง ความสูญเสีย และการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง หรือ hate speech อย่างเข้มข้น
ล่าสุด ฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการสื่อสันติภาพ หรือ Peace Journalism Workshop ในวันศุกร์ที่ 13 ก.พ.58 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ โดยมีวิทยากรชื่อก้องจากวงการสื่อสันติภาพ โปรเฟซเซอร์ เจค ลินช์ (Jake Lynch) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นวิทยากรหลัก
ทั้งนี้ แนวคิดเรื่อง Peace Journalism หรือ "สื่อเพื่อสันติภาพ" เริ่มใช้กันในช่วงปี ค.ศ.1970 โดย ศาสตราจารย์ โจฮัน กัลตุง (Johan Galtung) นักวิชาการด้านสันติภาพและความรุนแรงศึกษา ซึ่งเป็นชาวนอร์เวย์ โดย ศาสตราจารย์กัลตุง เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการ TRANSCEND Peace and Development Network ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านการเผยแพร่แนวคิดสื่อเพื่อสันติภาพ
แนวทางของ Peace Journalism คือ การรายงานข่าวสถานการณ์ความรุนแรงหรือความขัดแย้งเพียงอย่างเดียว อาจจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งยิ่งทวีความรุนแรง แต่การรายงานข่าวแบบ "สื่อเพื่อสันติภาพ" จะครอบคลุมถึงการรายงานสถานการณ์ การวิเคราะห์ถึงสาเหตุการเกิดสถานการณ์และความรุนแรง และที่สำคัญนอกจากจะนำเสนอว่าผู้อ่านกำลังเผชิญกับความรุนแรงอะไรแล้ว จะมีการนำเสนอทางเลือกและแนวทางในการป้องกันไปที่รากเหง้าของความรุนแรงด้วย
กล่าวโดยสรุปคือ "สื่อเพื่อสันติภาพ" จะยืนอยู่บนหลักการการนำเสนอข่าวที่มีความครอบคลุม รอบด้าน ยุติธรรม และถูกต้อง
การอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ ใช้ชื่อว่า "สื่อเพื่อสันติภาพจะเป็นจริงได้หรือ?" โดยมี Rotary Peace Center จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Southeast Asian Press Alliance (SEAPA) ให้การสนับสนุน
เนื้อหาของการอบรมที่มี เจค ลินช์ เป็นวิทยากรหลัก จะมีทั้งการแนะนำความเป็นมาของสื่อเพื่อสันติภาพ, โมเดลสื่อเพื่อสันติภาพ, วิเคราะห์ข่าว จับความแตกต่างของแง่มุมในสื่อเพื่อสันติภาพกับสื่อสงคราม และฝึกการเขียนข่าว
ม.อ.ปัตตานีจัดสัมมนาอิสลามนานาชาติ
อีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.) ได้เชิญนักวิชาการอิสลามจากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ร่วมสัมมนาระหว่างวันที่ 23-25 มี.ค.58 ที่ จ.ปัตตานี เพื่อชี้นําให้สังคมมีความสามัคคี ส่งเสริมค่านิยมทางศีลธรรมเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ และความสงบสุขอย่างยั่งยืนในสังคมพหุวัฒนธรรม
ผศ.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดี ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี ได้กําหนดจัดการสัมมนานานาชาติทางอิสลามศึกษา เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 6 ปี โดยครั้งนี้ตั้งเป้าหมายจะเชิญนักวิชาการอิสลามกว่า 400 คนจากทุกทวีปทั่วโลกรวม 30 ประเทศ เข้าร่วมการสัมมนาระหว่างวันที่ 23-25 มี.ค.58 ที่ ม.อ.ปัตตานี
หัวข้อของการสัมมนานานาชาติครั้งนี้ คือ "คุณค่าอิสลามในโลกที่เปลี่ยนแปลง" เป็นโครงการต่อเนื่องจากการสัมมนานานาชาติทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา กล่าวคือ การสัมมนาครั้งแรกเมื่อวันที่ 21-23 ธ.ค.53 ในหัวข้อ "บทบาทอิสลามศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์" ซึ่งในการสัมมนาครั้งนั้นนักวิชาการอิสลามศึกษาจาก 16 ประเทศได้ร่วมกันกําหนด "ปฏิญญาปัตตานี" ที่มีสาระสําคัญเกี่ยวข้องกับการให้อิสลามศึกษามีส่วนในการพัฒนาวิชาการ เยาวชน การร่วมมือกันเพื่อสร้างสันติสุขให้แก่มวลมนุษย์
ต่อมาในการสัมมนาอิสลามศึกษา ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14-16 ม.ค.56 มีปราชญ์มุสลิมและนักวิชาการอิสลามศึกษาจาก 30 ประเทศเข้าร่วมระดมแนวคิดในหัวข้อ "อิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย" ผลจากการสัมมนาครั้งนั้นได้ยกระดับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี ให้ก้าวสู่นานาชาติ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาอาเซียน ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมุสลิมและสร้างสังคมสันติสุขสมานฉันท์ที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในอนาคต
เปิดสาระ 5 ข้อ "ปฏิญญาปัตตานี"
อนึ่ง "ปฏิญญาปัตตานี" ที่ได้จากการสัมมนานานาชาติครั้งที่ 1 มีสาระสำคัญ 5 ข้อ คือ
1.อิสลามศึกษาจะนําไปสู่สันติสุขและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่เฉพาะระหว่างชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงมวลมนุษยชาติ
2.อิสลามศึกษาจะบูรณาการระหว่างศาสตร์ด้านศาสนาและศาสตร์ทั่วไปเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์สุขของชุมชน และอนาคตของเยาวชนในรุ่นต่อๆ ไป
3.อิสลามศึกษาจะส่งเสริมและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพื่อนําไปสู่การเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งรวมถึงความมั่นคงและความยุติธรรมทางสังคมด้วย
4.อิสลามศึกษาจะส่งเสริมความเป็นนานาชาติของมุสลิม ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างพลเมืองของโลก
5.อิสลามศึกษาจะส่งเสริมในเรื่องโอกาสในการพูดคุยระหว่างสมาชิกประชาคมมุสลิม และเสริมสร้างคุณค่าของมนุษย์ให้ตระหนักถึงสันติภาพ และป้องกันแนวคิดหลักศาสนาที่บิดเบือน
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบเป็นปกหนังสือ Peace journalism จากเว็บไซต์ http://www.peacejournalism.org/Peace_Journalism/Books.html
อ่านประกอบ : Jake Lynch: วารสารศาสตร์สันติภาพ...ขยายขอบเขตเรื่องราวสร้างความเข้าใจ