ก.วิทย์ เดินเครื่องมุ่งสู่เป้า ผลิตนักวิจัยด้าน วทน. เพิ่ม 10-20 เท่าตัว
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เร่งสร้างผู้ที่จบปริญญาเอกด้าน วทน.เพิ่มขึ้น 10-20 เท่า หวังไทยหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง เล็งสร้างแรงบันดาลใจเด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น พร้อมสร้างความชัดเจนในเส้นทางอาชีพ
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในประเด็น “แนวนโยบายการจัดระเบียบทุนและมุ่งเพิ่มการผลิตนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี และนักนวัตกรรมป้อนเอกชน 10-20 เท่าตัว เตรียมรองรับการลงทุนด้านการวิจัย 1% ของจีดีพี”ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
ดร.พิเชฐ กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลขณะนี้กำลังดำเนินการในหลายส่วน เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนมาลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น เพื่อไปสู่เป้าหมาย 1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ในสัดส่วนการลงทุนภาครัฐต่อภาคเอกชน 30:70 เช่น มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาจาก 200 เปอร์เซ็นต์ เป็น 300 เปอร์เซ็นต์ การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา สำหรับเงินบริจาคเข้ากองทุนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา การแก้ไขระเบียบพัสดุของสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เอื้อกับการจัดซื้อจัดจ้างในสินค้าและบริการที่ใช้นวัตกรรมของไทยมากขึ้น
ในเรื่องของกำลังคนซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า มีความจำเป็นต้องยกระดับให้เป็นโครงการระดับชาติ และมีการกระจายโอกาสให้ทั่วถึงทั้งประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งสร้างผู้ที่จบปริญญาเอกทางด้าน วทน. เพิ่มขึ้น 10-20 เท่า เพื่อทำให้ประเทศไทยมีโอกาสหลุดจากประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง สิ่งสำคัญคือต้องสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นโดยการสร้างความชัดเจนในเส้นทางอาชีพ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับเด็กที่เลือกเรียนวิทยาศาสตร์ว่าเมื่อเรียนจบจะไปประกอบอาชีพอะไร ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนด้วย
“กำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เป็นหลักในกระบวนการพัฒนาระบบ วทน.ของประเทศ ในส่วนของกระทรวงวิทย์ฯ ทำเรื่องกำลังคนในหลายด้าน มีโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วมว.) ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาหลายปี หลักการคือ มีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในภูมิภาค รวมถึงการทำโครงการวิจัยร่วม การเลือกเปลี่ยนบุคลากร การเพิ่มความรู้โดยทำงานร่วมกับต่างประเทศ เป็นต้น” ดร.พิเชฐ กล่าว และว่า จากการหารือมหาวิทยาลัยหลายแห่งมีความพร้อมที่จะสนับสนุนการสร้างเด็กที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพื้นที่ โดยเริ่มต้นนำร่อง 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ปัจจุบันขยายผลไป 15 มหาวิทยาลัยแล้ว