นักวิจัยจุฬาฯ ผลิตเซรั่มจากเมือกหอยทากสยามครั้งแรกในไทย
จุฬาฯ เดินหน้า ร่วมกับสภาอุตฯ โชว์ผลงานวิจัยจากขุมทรัพย์ธรรมชาติ หอยทากสยาม(Snail Siam) สู่นวัตกรรมความงามระดับโลก ย้ำผลงานวิจัยไทยปลอดภัยใช้ได้จริง
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แถลงข่าวเปิดตัว “หอยทากแห่งสยามและเมือกจากเมนเทิล ขุมทรัพย์อมตะแห่งความงาม จากธรรมชาติ” โชว์ความหลากหลายของสายพันธุ์หอยทาก และศักยภาพการใช้เมือกหอยทากสายพันธุ์ไทยในอุตสาหกรรมความงามสู่ตลาดโลก
ทั้งนี้ ภายใต้การค้นคว้าจากทีมนักวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศาสตราจารย์ นพ. ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร. สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรม และเลขาธิการคลัสเตอร์สุขภาพและความงาม สภาอุตสาหกรรม เข้าร่วมงาน
ศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติกส์ของสัตว์ กล่าวว่า ลักษณะที่โดดเด่นของหอยทากคือการผลิตเมือกเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปอย่างอมตะ ทั้งเมือกจากเท้าหอยทากเพื่อให้ประโยชน์ในการเดินที่สง่างามในธรรมชาติ และ เมือกจากแมนเทิลให้ผิวพรรณของหอยทากคงความชุ่มชื้นและงดงามมาหลายล้านปีตามการวิวัฒนาการ แม้แต่เมือกที่ขับออกมาเพื่อป้องกันตัวจากศัตรูก็มีประโยชน์ เช่นกัน
ด้วยเหตุนี้อารยธรรมโบราณตั้งแต่อาณาจักรโรมันหรืออียิปต์ ได้ใช้ประโยชน์จากหอยทากเพื่อการบริโภค และใช้ประโยชน์จากเมือกเพื่อความงาม แม้ปัจจุบันหลายประเทศ อาทิ ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และชิลี ได้ค้นพบความลับของเมือกหอยทาก ที่นอกจากจะมีสรรพคุณช่วยให้ผิวนุ่มนวล จนมีการเพาะเลี้ยงและนำสารสกัดจากเมือกหอยทากมาใช้เพื่อความงามแล้ว ยังมีผลการวิเคราะห์ทางเคมีที่พบสารประกอบที่เป็นประโยชน์มากมาย อาทิ สารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านการอักเสบ โปรตีนและเปปไทด์ ที่เป็นประโยชน์ด้านการบำรุงผิวพรรณอีกด้วย
“การวิเคราะห์เมือกหอยทากไทยที่ชื่อว่า หอยนวล Hemiplecta distincta พบว่าอุดมไปด้วยสารนานาชนิดที่มีประโยชน์มากมาย เหมาะต่อการซ่อมแซมและบำรุงผิว อาทิ อิลาสติน (elastin) อะลันโทอิน(alantoin) กรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic acid) กรดไกโคลิก (glycolic acid) และสารแอนตี้ออกซิแดนท์ (anti-oxidant) เป็นต้น จัดได้ว่าเป็นเมือกคุณภาพชั้นดีเยี่ยม ที่สามารถนำมาต่อยอดหรือพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมทางด้านเครื่องสำอางและธุรกิจความงาม ที่สำคัญและที่น่าภาคภูมิใจคือเป็นผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรชีวภาพของไทยเราเอง ทั้งนี้เซรั่มดังกล่าว ได้มีการจดสิทธิบัตรในนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้มีการพูคคุยกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อผลิตในเชิงอุตสาหกรรมต่อไป ส่วนจะมีวางจำหน่ายตามท้องตลาดเมื่อไหร่นั้นคงต้องให้ท่านที่สนใจติดตามข่าวอีกครั้ง ” ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวและเพิ่มเติมว่า
นักวิชาการ จุฬาฯ กล่าวต่อว่า จากการทำงานวิจัยพื้นฐานลงพื้นที่ในประเทศไทยอย่างจริงจังเป็นเวลามากกว่ากว่า 20 ปี พบว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายของสปีชีส์(Species)หอยทากบกสูงมาก ในระบบนิเวศที่หลากหลาย มีการค้นพบและได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่แล้วมากกว่า 600 ชนิด และมีคาดว่าน่าจะมีมากถึง 1,000-1,500 ชนิด เนื่องจากประเทศไทย มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของป่าเขตร้อน สามารถพบหอยทากบกหลายประเภทที่มีความโดดเด่น
ขณะเดียวกันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการค้นพบหอยทากไทยที่เป็นชนิดใหม่ของโลกหลายชนิด อาทิ หอยมรกต Amphidromus classiarius และหอยบุษราคัม Amphidromus principalis หอยสองชนิดที่ได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารีคือ ที่มีความหมายทั้งในเชิงวิชาการทางวิวัฒนาการ และความงาม
“จากการค้นพบหอยทากไทยแล้วกว่าหลายร้อยชนิดนั้น เป็นเครื่องยืนยันว่า 1) ประเทศไทยมีทรัพยากรหอยทากแห่งป่าเขตร้อนที่มีประสบการณ์รักษาผิวพรรณที่เป็นพลวัต 2) หอยทากไทยถูกนำมาบริโภคเป็นอาหารได้เช่นกัน 3) หอยทากไทยมีเมือกจากแมนเทิลที่อุดมไปด้วยสารที่ดูแลผิวหนังให้มีความงามอย่างยั่งยืน 4) คนไทยทุกคนสามารถชื่นชมความงามนี้ได้จากทรัพยากรของเราเอง 5) คนไทยมีทรัพย์ในดินที่จะใช้สร้างอนาคตของลูกหลานได้อย่างยั่งยืนหากทุกคนเห็นความสำคัญและช่วยกันดูแล” ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้านศาสตราจารย์ ดร. สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเปิดตัวโครงการหอยทากแห่งสยามในวันนี้ ถือเป็นความสำเร็จของการเดินตามยุทธศาสตร์วิจัย ของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ในการก้าวเข้าสู้ศตวรรษที่ 2 ที่จะมาถึงในปี 2560 นี้ ที่ต้องพูดเช่นนี้เพราะว่าโครงการนี้ได้สร้างต้นแบบของการวิจัย ที่สามารถก้าวข้ามรอยต่อระหว่างวิจัยขึ้นหิ้งกับวิจัยขึ้นห้าง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เป็นสิ่งที่พูดกันในวงการวิจัยไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่ในทุกเวทีในระดับนานาชาติ และเป็นความเชื่อมั่นที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ของคณะวิทยาศาสตร์ว่า ยิ่งสร้างองค์ความรู้เชิงลึกมากเท่าใด มูลค่าเพิ่มในการนำไปใช้ประโยชน์จะยิ่งมีค่าสูง
ในขณะที่ทุกประเทศคาดการณ์และนำไปสู่ความกังวลว่า เมื่อประชากรของโลกเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านคนใน 30 ปีข้างหน้า ปัญหาเรื่อง อาหาร พลังงานและสภาวะแวดล้อม จะเป็น 3 วิกฤติหลักของมวลมนุษยชาติ และเห็นตรงกันว่า “ฐานชีวภาพ หรือ Bio-based” คือ ทางลอดของโลก ดังนั้น การวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งถือว่าประเทศไทยมีอุดมสมบูรณ์เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก จึงกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ ปัญหา นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เป็นผู้นำการวิจัยเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ทำงานวิจัยพื้นฐานตีพิมพ์ผลงานวิจัยเชิงลึกแล้วมากกว่า 100 เรื่อง ถึงเวลาที่จะแปลงองค์ความรู้ที่สั่งสมมายาวนานกว่า 30 ปี สู่การใช้ประโยชน์
“การที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้งานวิจัยไทย โดยคนไทยและใช้ทรัพยากรธรรมาติของไทย ให้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ในโครงการหอยทากแห่งสยามในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จและถือเป็นต้นแบบของความร่วมมือ เพื่อผลักดันงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง"
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ผมหวังไว้คือที่สุดแล้วโครงการนี้จะช่วยจุดประกายให้เยาวชนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครอง หันมาสนใจและเห็นความสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์และงานวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่านวัตกรรม และเป็นทางรอดของประเทศ