เปิด 7 ปมร้อน!พิรุธสร้างศูนย์การค้า "อิน สแควร์" ชง "ประยุทธ์" เคลียร์
เปิด7 ปมร้อน! ผู้ประกอบการศูนย์การค้า"อิน สแควร์" ชงเรื่องถึง ประยุทธ์ -รมต.-หัวหน้าหน่วยงานราชการ ช่วยเคลียร์ปัญหาถูกเบี้ยวเงินค่าเช่าซื้อตึกยาวนานหลายปี เสียหายกว่า 1.5 พันล้าน "รฟท.-ธ.อิสลาม" สะเทือน!
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นรายละเอียดในหนังสือร้องเรียน ที่กลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำสัญญาเช่าซื้อที่ศูนย์การค้า อิน สแควร์ บริเวณหลังตลาดนัดจัตุจักร ยื่นเรื่องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยตรวจสอบแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ โดยจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย มีกว่า 100 คน รวมวงเงินกว่า 1.5 พันล้านบาท
-------------
ตามที่ บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด (บริษัทนี้จดทะเบียนครั้งแรกชื่อบริษัท เจ.เจ.เซ็นเตอร์ จำกัด ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อดังนี้ ครั้งที่ 2 เปลี่ยนเป็นบริษัท อินสแควร์ ช้อปปิ้ง มอลล์ จำกัด เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 ครั้งที่ 3 เปลี่ยนเป็น บริษัท อินสแควร์ จำกัด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ครั้งสุดท้ายเปลี่ยนเป็นบริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ได้รับสิทธิการเช่าที่ดินจำนวน 7.93 ไร่ หน้ากว้าง 154 เมตร ลึก 95 เมตร ย่านถนนกำแพงเพชร 2 แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร จากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ซึ่งต่อไปให้เรียกว่า “รฟท”) ตามสัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคาร ที่บริเวณย่านพหลโยธิน(แปลง 5) สัญญาเลขที่ 902520965 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2552 มีกำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2552 สิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาวันที่ 31 สิงหาคม 2556 และตามสัญญาเช่าที่ดินเพื่อดำเนินการจัดหาประโยชน์ ที่บริเวณย่านพหลโยธิน(แปลง 5) สัญญาเลขที่ 907520966 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2552 มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 30 ปี
บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารโครงการศูนย์การค้า อินสแควร์ ดังกล่าว ด้วยการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร รวมทั้งได้มีการขออนุญาตดัดแปลงต่อเติมอาคารดังกล่าวจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (ซึ่งต่อไปให้เรียกว่า “กทม”)
บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อนำมาใช้ก่อสร้างอาคารโครงการศูนย์การค้า
อินสแควร์อย่างเป็นทางการจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ซึ่งต่อไปให้เรียกว่า “ธนาคาร”) ซึ่งการให้สินเชื่อของโครงการศูนย์การค้าแห่งนี้ “ธนาคาร”ได้ให้ บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด นำสิทธิการเช่าที่ดินที่ได้ทำไว้กับ “รฟท” และอาคารโครงการศูนย์การค้าดังกล่าววางไว้ให้เป็นหลักประกันการให้สินเชื่อดังกล่าวด้วย
สืบเนื่องมาจากข้าพเจ้ากลุ่มลูกค้าที่ได้รับความเสียหาย ผู้ได้รับสิทธิการเช่าจากการทำสัญญาตอบแทนการให้สิทธิการเช่าเพื่อเช่าพื้นที่ในโครงการศูนย์การค้า อินสแควร์ ได้มีหนังสือขอความเป็นธรรมฯ ถึง “รฟท”ในฐานะที่เป็นผู้ให้เช่าที่ดินอันที่ตั้งของอาคารโครงการศูนย์การค้าดังกล่าว รวมทั้ง “ธนาคาร”ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อแก่โครงการศูนย์การค้าแห่งนี้ และเป็นผู้ยึดถือสิทธิการเช่าที่ดินและอาคารโครงการศูนย์การค้าแห่งนี้เป็นหลักประกันในการให้สินเชื่อแก่ บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเป็นธรรมและขอให้ตรวจสอบความถูกต้องการดำเนินการของโครงการศูนย์การค้า อินสแควร์ เนื่องจากพบความผิดปกติที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายมากมาย คือ
ประเด็นที่ 1 สถานะทางสัญญา ณ ปัจจุบันของ บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด ที่มีต่อ “รฟท” และ “ธนาคาร” ยังอยู่ในขั้นปกติหรือไม่
ประเด็นที่ 2 การที่ บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด ได้รับสิทธิการเช่าจาก “รฟท” มีการกล่าวอ้างสิทธิตามสัญญาเลขที่ 902520965 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2552 มีกำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2552 สิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาวันที่ 31 สิงหาคม 2556 ซึ่งหมายความว่าการก่อสร้างจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญาภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2556 ขณะนี้ล่วงเลยเวลามาเป็นระยะเวลา 1 ปีเศษแล้ว “รฟท” และ “ธนาคาร” ในฐานะคู่สัญญากับ บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด มีการดำเนินการอย่างไรในการให้มีการปฏิบัติตามสัญญาฉบับดังกล่าว เพราะจากสภาพที่ปรากฎต่อสาธารณะชนโดยทั่วไปพบว่าโครงการอาคารศูนย์การแห่งนี้มีการก่อสร้างไม่ถูกต้องครบถ้วนหลายรายการ มีการแก้ไขแบบการก่อสร้างหลายรายการ การตรวจรับมอบการก่อสร้างของ “รฟท” มีการดำเนินการถึงขั้นตอนใด “รฟท” ได้มีการเข้าไปตรวจสอบเอกสารการขออนุญาตใช้อาคารของอาคารโครงการศูนย์การค้าแห่งนี้ที่ บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด ต้องยื่นขออนุญาตจากกรุงเทพมหานครอย่างครบถ้วนแล้วใช่หรือไม่
ในส่วนของ “ธนาคาร” ในฐานะผู้สนับสนุนสินเชื่อโครงการศูนย์การค้าแห่งนี้จะมีมาตรการการเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร หาก บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด ไม่สามารถก่อสร้างอาคารโครงการศูนย์การค้าแห่งนี้ได้เสร็จครบถ้วนตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับ “รฟท” จนอาคารโครงการศูนย์การค้าแห่งนี้ถูกระงับการใช้อาคารเพราะไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามแบบการก่อสร้างที่ได้ทำสัญญาไว้กับ“รฟท” หรือที่ได้มีการยื่นขออนุญาตก่อสร้างไว้กับ”กทม”
ประเด็นที่ 3 กรณีที่ บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด มีการใช้วงเงินสินเชื่อของ”ธนาคาร” ซึ่งข้าพเจ้าฯ เชื่อว่าได้มีการเบิกจ่ายวงเงินสินเชื่อดังกล่าวจนครบถ้วนแล้ว จากเอกสารโฆษณาโครงการดังกล่าวได้ระบุไว้ว่าพื้นที่ของโครงการ มีพื้นที่รวม 73,000 ตารางเมตร เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าก่อสร้างต่อตารางเมตรตามมาตรฐานของศูนย์การค้าโดยทั่วไป ต้นทุนค่าก่อสร้างต่อตารางเมตรจะอยู่ที่ประมาณตารางเมตรละ 25,000 – 35,000 บาท เมื่อนำพื้นที่ของโครงการศูนย์การค้ามาคำนวณคราวๆ จะพบว่าจะต้องใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาทก็ดี เป็นสารสำคัญที่ทำให้ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าการกล่าวอ้างสิทธิตามสัญญาเลขที่ 902520965 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2552 สัญญาแห่งการได้สิทธิการเช่าที่ดินคิดเป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 12,680 ตารางเมตร(7.93 ไร่) ซึ่งเป็นต้นตอแห่งการได้มาซึ่งสิทธินั้นยังมีผลบังคับอยู่ตามกฎหมายหรือไม่ และแผนผัง และรูปแบบโครงการที่มีการเสนอชนะการประมูลที่ถูกระบุแนบท้ายสัญญาจำนวน 17 แผ่นคือแบบใด ที่มีพื้นที่อาคารใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 17,280 ตารางเมตร มูลค่าโครงการตามสัญญาประมาณ 546,430,775 บาท ความแตกต่างของพื้นที่อาคารใช้ประโยชน์ที่มีความแตกต่างกันมากมาย และมูลค่าโครงการที่”ธนาคาร”ให้วงเงินสินเชื่อ 1,700 ล้านบาท โดยมีมูลค่าโครงการถึง 3,200 ล้านบาท
เป็นข้อพิรุธว่าหน่วยงานของรัฐทั้ง 2 หน่วยงานใช้แบบใดในการคำนวณมูลค่าโครงการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การปกปิดข้อความจริงดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อประชาชนและสร้างความเสียหายต่อรัฐ มีความจงใจร่วมกันเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง หลีกเลี่ยงกฎหมายหรือไม่ การประเมินมูลค่าโครงการที่แตกต่างประมาณ 6 เท่าในช่วงระยะเวลาเพียงไม่เกิน 3 เดือนเป็นความผิดปกติที่ต้องตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ไม่ทราบว่าอาคารโครงการศูนย์การค้าแห่งนี้จะเข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พรบ.ร่วมทุนฯ หรือไม่ อีกทั้งโครงการอาคารศูนย์การค้านี้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ตาม พรบ.ร่วมทุนฯ หรือไม่ ดังนั้นหากโครงการอาคารศูนย์การค้านี้เข้าข่ายเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนตาม พรบ.ร่วมทุนฯ แล้ว และ “รฟท” ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนของ พรบ.ร่วมทุนฯ แล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อสัญญาของ “ธนาคาร” และข้าพเจ้าฯ
ประเด็นที่ 4 พื้นที่ของโครงการศูนย์การค้าอินสแควร์พื้นที่ที่มีการส่งมอบให้มีจำนวนไม่ครบถ้วนตามที่ระบุไว้ตามสัญญาที่อ้างถึง 7 ที่บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัดทำไว้กับ”รฟท” ซึ่งจำนวนพื้นที่ที่ขาดหายไปจำนวน 425.45 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อน(มีผู้เช่ารายเดิมที่มีการทำสัญญากับ “รฟท”อยู่ก่อนแล้ว) ระยะเวลาการที่ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปีเศษยังไม่ได้รับการแก้ไข อันเป็นสารสำคัญที่ส่งผลกระทบศักยภาพของการประกอบธุรกิจของโครงการศูนย์การค้า ส่งผลกระทบต่อการระบายรถของโครงการ ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามแบบการก่อสร้าง และจากการที่มีการส่งมอบพื้นที่ขาดหายไป แต่มีการนำสิทธิการเช่าไปเป็นหลักประกันกับ”ธนาคาร” จึงมีพิรุธว่ามีการซ่อนเร้นปกปิดข้อความจริงเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนเพื่อให้มีการเปิดการประมูลหรือไม่ รวมทั้งข้อพิรุธว่าการส่งมอบพื้นที่ไม่ครบถ้วนการให้วงเงินสินเชื่อดังกล่าวมีการตรวจสอบหลักประกันหรือไม่
ประเด็นที่ 5 นอกจากนั้นการก่อสร้างอาคาร ซึ่ง บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด ได้แจ้งว่าได้รับใบอนุญาตการใช้อาคาร ครั้งที่ 1 ตามแบบ อ.6 เลขที่ 27/2556 ระบุไว้ว่าอาคารโครงการเป็นอาคารชนิดตึก 8 ชั้น และแจ้งว่าได้รับใบอนุญาตการใช้อาคารครั้งที่ 2 ตามแบบ อ.6 เลขที่ 5/2557 ระบุไว้ว่าอาคารโครงการเป็นอาคารชนิดตึก 9 ชั้น ประเด็นการก่อสร้างอาคารโครงการดังกล่าวมีการขออนุมัติก่อสร้างอาคารโครงการนี้ตามแบบการก่อสร้างที่ได้ยื่นไว้กับ “รฟท” “กทม” และที่ได้ยื่นไว้กับ”ธนาคาร” ที่เป็นคู่สัญญานั้นมีจำนวนชั้นของอาคารโครงการทั้งหมดกี่ชั้นแน่ เนื่องจากการที่มีพื้นที่เช่าของอาคารเพิ่มขึ้นอีก 1 ชั้น ประเด็นสำคัญจากบันทึกผลการตรวจสอบการก่อสร้างของ”รฟท” ที่ระบุตรวจรับการดำเนินการก่อสร้างชั้น 1-8 ครบ 100% โดยมีเงื่อนไข”ส่วนชั้นที่ 9 คณะกรรมการฯได้ตรวจสอบอาคารตามแบบที่บริษัทฯได้ยื่นขอแก้ไขต่อฝ่ายบริหารทรัพย์สินแล้ว และรอเอกสารการอนุมัติจากฝ่ายบริหารสินทรัพย์เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป”
ขัดแย้งกับใบอนุญาตการใช้อาคารที่ระบว่าอาคารโครงการเป็นอาคารตึก 9 ชั้น รวมทั้งในการขอสินเชื่อจาก”ธนาคาร”ระบุว่าเป็นอาคาร 8 ชั้น มีข้อขัดแย้งทำให้เชื่อว่าการก่อสร้างอาคารมีปัญหา การตรวจรับ การออกใบอนุญาตไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสัญญาเช่าที่ดินเพื่อดำเนินการจัดหาประโยชน์ ที่บริเวณย่านพหลโยธิน(แปลง 5) สัญญาเลขที่ 902520966 ว่าขณะนี้มีผลบังคับแล้วหรือไม่เพียงใด เพราะเห็นว่าความผูกพันยังคงอยู่ที่สัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคารบริเวณย่านพหลโยธิน (แปลง 5) สัญญาเลขที่ 902520965 ใช่หรือไม่ การที่มีการทำสัญญาฉบับใหม่อีก(ตามที่อ้างถึง 9-10) จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย
ประเด็นที่ 6 จากการเข้าไปตรวจสอบสถานะกิจการของ บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการดังกล่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ไม่มีการส่งงบการเงินของบริษัทมาตั้งแต่ปี 2554 โดยมีการส่งงบการเงินครั้งสุดท้ายคืองบการเงินปี 2553 ซึ่งเป็นความผิดปกติทางการเงิน รวมทั้งมีความเชื่อมโยงทางการเงินของประธานบริหารบริษัทใหญ่ของบริษัท ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 3 บริษัทคือบริษัท สแกนโกลบอล จำกัด(มหาชน) บริษัท เดวา ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด(มหาชน) และบริษัท เอสเอ็มซี เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) ความผิดปกติดังกล่าว”ธนาคาร”ก็ยังมีการอนุมัติสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง
ความผิดปกติมีการจดทะเบียนเพิ่มทุน 500 ล้านบาท โดยบริษัท สแกน โกลบอล จำกัด(มหาชน) ซึ่งมีการทำธุรกรรมที่ผิดปกติ เพราะบริษัท สแกน โกลบอล จำกัด(มหาชน) มีคำสั่งห้ามคำธุรกรรมของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งการเพิ่มทุนจำนวนมากดังกล่าวน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการเพิ่มทุนดังกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์ใดมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินกู้ของ”ธนาคาร”หรือไม่ นอกจากนั้นการที่มีการผิดสัญญากับ”ธนาคาร”จนมีการฟ้องร้องเป็นคดีที่ศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ ผบ.4334/2557 ในคำฟ้องมีเรื่องของการจำนำหุ้นด้วย ทำให้มีข้อพิรุธว่าการเพิ่มทุนดังกล่าวจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินกู้ ซึ่งน่าจะมีการดำเนินการในบางส่วนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นในระหว่างเกิดปัญหาความไม่ชัดเจน
จึงขอให้มีการตรวจสอบการให้วงเงินสินเชื่อ เงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินทั้งหมด หนังสือแจ้งการอนุมัติสินเชื่อ(ที่ ธอท.สธ.1215/2552 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 และที่ ธอท.สธ.1334/2555 ลงวันที่ 25 กันยายน 2555)การนำสิทธิการเช่าเป็นหลักประกัน มีการดำเนินการถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งมีการให้ความยินยอมให้โอนสิทธิการเช่าจากผู้ที่เกี่ยวข้องคือ”รฟท”หรือไม่ เพราะทั้งหมดนี้มีผลกระทบต่อข้าพเจ้าฯ จากที่มีการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่น่าจะมีการเบิกวงเงินกู้จนเต็มวงเงินจากที่มีการฟ้องคดี รวมทั้งให้มีการตรวจสอบเส้นทางการเงินของบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับบริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด
ประเด็นที่ 7 มีการปกปิดข้อความจริงที่ต้องมีการขออนุญาตให้เช่าช่วงกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ข้อ 8.จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีการขออนุญาตให้ถูกต้องต่อ”รฟท” และทราบในภายหลังว่ามีการเอาสิทธิการเช่ากับตัวอาคารไปผูกพันหนี้กับสถาบันการเงินคือ”ธนาคาร” ความผูกพันหนี้ที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขในสัญญา(คือเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินกู้ที่เป็นสารสำคัญและเกี่ยวข้องกับกลุ่มลูกค้า) การไม่มีการขออนุญาตจาก”รฟท”และการแจ้งให้”ธนาคาร”ทราบ การที่มีการผิดสัญญากับ”ธนาคาร” ทำให้ปัจจุบันมีการฟ้องคดีและขอคุ้มครองชั่วคราวทำให้ไม่สามารถจดทะเบียนการเช่าได้ ความไม่ชัดเจนในการดำเนินการของ”รฟท” และ”ธนาคาร”ในการควบคุมกำกับดูแลให้บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัดในฐานะคู่สัญญาปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญา ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานะทางสัญญาของข้าพเจ้าให้ได้รับความเสียหาย
ประเด็นข้อพิรุธดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดส่อไปในทางไม่ถูกต้อง รวมทั้งยังมีการดำเนินการจากกลุ่มบุคคลหลายภาคส่วนที่พยายามจะดำเนินการในสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่อง และข้าพเจ้ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีความชัดเจนจากทั้ง 2 หน่วยงานของรัฐคือ”รฟท” และ”ธนาคาร”
เป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2558 ข้าพเจ้ากลุ่มผู้ที่ได้รับความเสียหายได้มีหนังสือถึง “รฟท”อีกครั้งและขอเข้าพบเพื่อรับฟังคำชี้แจง ณ ที่ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีนางสิริมา หิรัญเจริญเวช ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพย์สิน นางสุพันธ์ โลบุญเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริหาร และนายระพี ชมหนองโพธิ์ หัวหน้ากองจัดการทรัพย์สิน 1 เข้าร่วมประชุมชี้แจงปัญหาเนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่ได้รับความเสียหายเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความชัดเจนของโครงการศูนย์การค้าอินสแควร์ และต้องขอตรวจสอบแบบที่แนบท้ายสัญญาจำนวน 17 แผ่นคือแบบใด “รฟท”ไม่สามารถแสดงแบบที่แนบท้ายสัญญาจำนวน 17 แผ่น โดยได้รับคำชี้แจงจากนางสิริมาว่า
”แบบที่ชนะการประมูลเป็นแบบตามสัญญา จึงมีการถามว่าแบบตามสัญญาคือแบบใดแบบพล่าซ่า 8 ชั้น หรือแบบพล่าซ่า 2 ชั้น อาคารพักอาศัย 16 ชั้น ซึ่งได้รับคำชี้แจงจากนางสิริมาว่าเป็นแบบพลาซ่า 2 ชั้น อาคารพักอาศัย 16 ชั้น ทำให้เกิดความวุ่นวายในห้องประชุมเพราะแบบที่นำเสนอขายให้กับกลุ่มลูกค้าคือแบบพลาซ่า 8 ชั้นไม่ใช่แบบที่ชนะการประมูล และนายระพีแจ้งว่ามีการขอแก้ไขแบบการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2552แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติ มีการถามว่าถูกแก้ตอนไหน ทำตามเงื่อนไขในสัญญาหรือไม่ แต่ไม่มีคำชี้แจงที่ชัดเจนนายระพีชี้แจงว่ายังไงเราต้องอนุมัติ ผู้เสียหายไม่ต้องเป็นห่วงยังไงเราก็อนุมัติ”
กลุ่มลูกค้าที่ได้รับความเสียหายแสดงไม่พอใจเพราะระยะเวลาที่เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายปีมากและสร้างความเสียหายให้กับประชาชนส่อทุจริต จงใจปกปิดข้อเท็จจริงสิ่งที่เป็นสารสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อหลายฝ่าย ซึ่งผู้มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบต้องเร่งดำเนินการให้ความชัดเจนต่อข้อพิรุธหลายประการ
จนถึงปัจจุบันข้าพเจ้ายังไม่ได้รับการชี้แจงที่ชัดเจนจากการ”รฟท” และ”ธนาคาร”ว่าได้มีการดำเนินการตรวจสอบและให้ความชัดเจน และมีแนวทางในการแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนของข้าพเจ้าฯและประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนไม่ได้รับการใส่ใจในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ปัญหาทั้งหมดหากมองเพียงผิวเผินก็เหมือนปัญหาเล็กน้อยจึงไม่มีการดำเนินการใดๆ ซึ่งแท้จริงไม่ใช่ปัญหาเล็กน้อยแต่เป็นปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าประชาชนที่ได้รับความเสียหายจะแก้ไขปัญหาได้ ความเสียหายของประชาชนเป็นส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำ การร่วมกันปกปิดข้อความจริงทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายประการหนึ่ง แต่ปัญหาความเสียหายของรัฐที่เกิดจากหน่วยงานของรัฐที่ควรได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังก็ยังไม่ได้รับการดูแลอย่างแท้จริง
ข้าพเจ้าจึงมีหนังสือฉบับนี้มาเพื่อทวงถามความเป็นธรรมต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแล รวมทั้งทวงถามความเป็นธรรมให้กับความเสียหายของประชาชนและรัฐที่ต้องมีผู้รับผิดชอบ
อ่านประกอบ : รฟท.-ธ.อิสลาม ส่อเอื้อเอกชน!ผู้ค้า"อินสแควร์"ร้อง"อิศรา"สอบเสียหาย1.5พันล.
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก 77ข่าวเด็ด