รุนแรงลดแต่ยังไม่สงบจริง..."ลม้าย"นำทีมประชาสังคมเดินสานใจดับไฟใต้
"สถานการณ์ความรุนแรงช่วงนี้ดูเหมือนว่าดีขึ้นมาก หากดูจากสถิติหรือตัวเลขจะเห็นว่าดีขึ้น แต่ก็ยังมีคนเตือนว่าเงียบแบบนี้ให้ระวัง มีข่าวออกมาต่อเนื่องว่าจะเกิดเหตุใหญ่ ทำให้ต้องระวังตัวมากขึ้น"
เป็นข้อสังเกตจากคนในพื้นที่จริงอย่าง ลม้าย มานะการ ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ซึ่งประเมินสถานการณ์ชายแดนใต้แตกต่างจากรัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบปัญหาอย่างเห็นได้ชัด
ด้วยเหตุนี้ เธอและองค์กรเครือข่าย ทั้งภาคประชาชนและประชาสังคมชายแดนใต้ จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรม "เดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้" เพราะเชื่อว่าความรุนแรงในพื้นที่ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตกว่า 6,000 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 10,000 คน (เป็นตัวเลขความสูญเสียรวมที่ไม่ได้แยกแยะเฉพาะคดีความมั่นคงตามที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ดำเนินการ) ยังไม่ได้ยุติลง
ฉะนั้นประชาชน กลุ่มบุคคล องค์กรทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม จึงควรมีความพยายามร่วมกันในการเสาะแสวงหากระบวนการและวิธีการในการสร้างความสงบสุขและสันติภาพขึ้นในพื้นที่
สำหรับภาคประชาชนและประชาสังคมที่ร่วมกิจกรรม ได้แก่ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ศูนย์เยาวชนฟ้าใส เยาวชนกลุ่มลูกเหรียง สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี เครือข่ายประชาสังคมนราธิวาส เครือข่ายชุมชนศรัทธา-กัมปงตักวา สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ และศูนย์สันติวิธีชายแดนใต้-สสมศ. มหาวิทยาลัยมหิดล
หลักการคือ รณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น และความจำเป็นที่ภาคประชาชนและประชาสังคมต้องร่วมมือกันสานความสัมพันธ์ของสังคมที่ดำรงอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย ตลอดจนความพยายามที่จะสื่อให้สังคมรับรู้ว่าความขัดแย้งที่เป็นความรุนแรงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ยังมีหนทางที่จะคลี่คลาย รวมทั้งสร้างความสงบและสันติให้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ
กิจกรรมการเดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้ จึงเป็นอีกความพยายามหนึ่งที่ช่วยให้เกิดความตระหนักรู้และเสริมสร้างความร่วมมือ โดยการเดินรณรงค์ในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรงอยู่นั้น เป็นการแสดงออกเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในฐานะ "ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่" และแสดงออกถึงความเป็นห่วงเป็นใยซึ่งกันและกัน
วัตถุประสงค์ก็เพื่อรณรงค์ให้คนในพื้นที่และนอกพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงออกถึงความปรารถนาที่จะให้ความรุนแรงยุติ หรือบรรเทาเบาบางลง, เพื่อสร้างความร่วมมือของคนในพื้นที่ในอันที่จะร่วมสร้างสานสายสัมพันธ์เพื่อสันติภาพ ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมเดินได้ตระหนักถึงความรู้สึกและความต้องการในฐานะปัจเจกบุคคล ต่อสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ และเข้าใจความหมายของสันติภาพจากภายในของแต่ละบุคคล
ทั้งนี้ ระยะเวลากิจกรรม "เดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้" คือระหว่างวันที่ 15-21 ก.พ.นี้ ตั้งต้นที่ อ.เมือง จ.ยะลา ผ่าน จ.ปัตตานี และสิ้นสุดที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
สำหรับกิจกรรม "เดิน" เพื่อรณรงค์ให้เกิดสันติภาพชายแดนใต้นั้น เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2553 โดยคณะเดินเพื่อสันติปัตตานี หรือที่เดิมใช้ชื่อว่า "คณะธรรมยาตราเพื่อสันติปัตตานี" นำโดย นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เดินเท้าจาก อ.ศาลายา จ.นครปฐม ด้วยระยะทาง 1,100 กิโลเมตร จนถึงตัวเมืองปัตตานี ใช้เวลาทั้งสิ้น 53 วัน
ลม้าย กล่าวว่า แนวคิดการเดินเพื่อสันตินั้น เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างคนในพื้นที่ พร้อมกันนั้นก็จะได้รวบรวมประเด็นที่ได้รับจากผู้คนในสถานที่ต่างๆ ระหว่างที่เดิน เพื่อสรุปเป็นข้อมูลเสนอให้กับภาครัฐสำหรับใช้แก้ไขปัญหาต่อไปในแนวทางสันติวิธี
"ส่วนสถานการณ์ความรุนแรงช่วงนี้ดูเหมือนว่าดีขึ้นมาก หากดูจากสถิติหรือตัวเลขจะเห็นว่าดีขึ้น แต่ก็ยังมีคนเตือนว่าเงียบแบบนี้ให้ระวัง มีข่าวออกมาต่อเนื่องว่าจะเกิดเหตุใหญ่ ทำให้ต้องระวังตัวมากขึ้น แต่ก็มีสัญญาณที่ดีเกิดขึ้นจากการทำงานของภาคประชาสังคม ทำให้เห็นว่ากลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหวเริ่มเปลี่ยนมาใช้การต่อสู้ในรูปแบบสันติวิธีมากขึ้น แต่ไม่ใช่กลุ่มฮาร์ดคอร์ เพราะกลุ่มนี้จะนิยมใช้ความรุนแรงอยู่แล้ว"
ลม้ายยังเห็นว่า กิจกรรม "เดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้" จะส่งผลดีในแง่ที่ทำให้คนที่มีแนวคิดแตกต่าง ได้มีช่องทางในการแสดงออก เพราะที่ผ่านมาคนเหล่านั้นไม่มีทางเลือกให้เดินมากนัก รัฐไม่เคยฟังพวกเขาเลย
"ส่วนตัวคิดว่าคนที่ออกมาต่อสู้กับรัฐ เป็นเพราะเขาไม่มีทางเลือก ไม่มีเวทีให้เขาได้เสดงความคิดเห็น เขาจึงหันมาใช้วิธีรุนแรงเพื่อให้รัฐได้หันมาฟังพวกเขาบ้าง แต่ก็เป็นที่น่ายินดีที่ สมช. (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ) ได้ให้ความสำคัญ ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นวาระแห่งชาติ และเห็นว่ารัฐในระดับนโยบายก็พยายามแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี จึงถือเป็นโอกาสให้ภาคประชาสังคมทุกกลุ่มในพื้นที่ร่วมกันทำความเข้าใจและต่อสู้ในแนวทางสันติวิธีด้วยเช่นกัน"
เธอกล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาชายแดนใต้ในระยะยาว รัฐควรให้ประชาชนกำหนดเองว่าต้องการอะไร รัฐเพียงสนับสนุนให้เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ลงมาเล่นเองเหมือนในอดีต เพราะหากรัฐยังคิดอยู่แบบเดิม ก็อย่าหวังเลยว่าปัญหาความรุนแรงจะยุติลง!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ลม้าย มานะการ (ภาพจากแฟ้มภาพอิศรา)
อ่านประกอบ : จาก 1,100 กิโลเมตรถึงปัตตานี “โคทม”จี้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ