ศาลปค.ยกฟ้องคดีสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่สั่งระงับเที่ยวบิน 5ทุ่ม-ตี5
ศาลปกครองกลางสั่งยกฟ้องโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไม่ระงับบริการขึ้น-ลงของเครื่องบินช่วง 5 ทุ่ม ถึง ตี 5 ชี้มีมาตรการทางเทคนิคเพื่อลดมลพิษแล้ว
10 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลปกครองกลาง ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลยดำที่ 1667/2557 คดีหมายเลขแดงที่ 270/2558 ซึ่งเป็นคดีพิพาทระหว่างนายณรงศักดิ์ ด้วงนิล และพวกอีก 29 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ผู้ถูกฟ้องที่ 1) กรมการบินพลเรือน (ผู้ถูกฟ้องที่ 2) กระทรวงคมนาคม (ผู้ถูกฟ้องที่ 3) กระทรวงการคลัง (ผู้ถูกฟ้องที่ 4) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องที่5) คณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องที่ 6) ในคดีเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามและการกระทำละเมิดหรือความรับผิดชอบอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 30 คน ฟ้องมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึง 25 และผู้ฟ้องคดีที่ 27 ถึงที่ 30 เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ หรือไม่ และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จัดทำโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องที่ 5 และ 6 ไม่ประกาศให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ไม่กำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดและไม่กำหนดให้ท้องที่โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นเขตควบคุมมลพิษเป็นการละเลยต่อหน้าที่ และขอให้ระงับการบินในช่วงเวลา 23 นาฬิกา จนถึงเวลา 5 นาฬิกาของทุกวัน
ศาลปกครองกลางพิพากษาตามประเด็นดังนี้
1.ศาลพิจารณาเห็นว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 30 คน มีสิทธิฟ้องคดีตามกฎหมายในมาตรา 26 เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ
2.การจัดทำโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่าไม่สามารถนำมากำหนดว่าชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในขณะนั้นไม่ได้มีการบังคับว่าจะต้องมีการทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่ให้เป็นดุลยพินิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งภายหลังก็ได้มีการจัดทำโครงการดังกล่าวไปแล้ว
3.ศาลเห็นว่าการกำหนดท้องที่โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้เป็นเขตควบคุมมลพิษนั้น ศาลเห็นว่า ตามมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2548 เมื่อโครงการพิพาทไม่เข้าองค์ประกอบของมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่ให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ในการประกาศให้พื้นที่โครงการเป็นเขตควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 55 และเห็นว่าผู้ฟ้องคดีที่ 5 ไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ รวมทั้งเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องประกาศให้ท้องที่ใดเป็นเขตควบคุมมลพิษ
4.ศาลเห็นว่า ไม่มีเหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ต้องระงับการขึ้นลงของเครื่องบินในเวลา 23 นาฬิกา ถึง 5 นาฬิกา เนื่องจากการตรวจวัดระดับเสียงเกินจากมาตรฐานเพียงเล็กน้อยและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ก็ได้ดำเนินมาตรการทางเทคนิคเพื่อลดมลพิษทางเสียงรวมถึงจัดตั้งกลไกกำกับการดำเนินงานตามมาตรการในรูปคณะกรรมการแล้ว
ดังนั้นศาลจึงพิพากษาให้ยกฟ้อง
ขอบคุณภาพจากสปริงนิวส์