พระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ
เรื่อง พระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ
การประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 กันยายน 2554 คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักราชเลขาธิการ (รล.) ได้สรุปพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานสนองพระราชดำริ
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้รับแจ้งจาก รล. ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำให้แก่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เนื่องในโอกาสที่ได้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินเป็นทุนประเดิมสำหรับการก่อตั้งมูลนิธิน้ำ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ และกราบบังคมทูลรายงานแนวทางการดำเนินงานของมูลนิธิ ในการนี้ รล. ได้ส่งสรุปพระราชดำริมาเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานสนองพระราชดำริ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. เรื่องดินถล่มที่เพิ่มขึ้นมาก ให้ศึกษาหาแนวทางแก้ไข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยสถานการณ์ดินถล่มที่มีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยให้ใช้ความระมัดระวังในการดำเนินงาน แม้กระทั่งหญ้าแฝกอาจจะเป็นตัวการให้ดินถล่มได้ เพราะรากเจาะลึกทำให้ดินแตกแยก ควรศึกษาอย่างรอบคอบว่าโครงสร้างดินลักษณะใด ควรจะดำเนินการอย่างไร ปลูกพืชชนิดใด เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทรงกังวลเรื่องการบุกรุกพื้นที่เพาะปลูกเข้าไปในป่า ทำให้พื้นที่ดินถล่มเพิ่มขึ้นตามมา เมื่อเปิดพื้นที่ใหม่ขึ้นไปบนภูเขาจะเกิดการสร้างถนนขวางทางน้ำก่อความเสียหายทั้งอุทกภัยและดินถล่ม การแก้ไขปัญหาคือการปรับที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม ถูกต้อง ซึ่งใช้เวลา 10 ถึง 20 ปี จึงจำเป็นต้องศึกษา วิจัย ทดลองให้ได้คำตอบว่าจะปลูกพืชอย่างไรให้มีรากแก้วลึกสลับกับหญ้าแฝก หรือพืชอื่นที่เหมาะสมตามสภาพ
2. เรื่องอุทกภัย ภัยแล้ง ให้ศึกษาสรุปการแก้ไขในพื้นที่สำคัญ แม่น้ำที่มีผลต่อการเกิดอุทกภัย ภัยแล้ง มี 5 สาย คือ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน และแม่น้ำป่าสัก มีพระราชดำริให้ดำเนินการศึกษาและพัฒนาแม่น้ำทั้ง 5 สาย จะช่วยแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งของประเทศได้มาก
พื้นที่แม่น้ำน่าน น้ำว้า ควรศึกษาพื้นที่ต้นน้ำว่าจะฟื้นฟูรักษาและใช้ประโยชน์อย่างไร ไม่ให้ดินถล่มและหน่วงน้ำไว้ได้ โดยการสร้างฝายและทำนบเพิ่มเติม พื้นที่แม่นำยมให้มูลนิธิชัยพัฒนาประสานดำเนินการสร้างพัฒนาเขื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง โดยให้ประชาชนในพื้นที่ยอมรับและเห็นประโยชน์ร่วมกัน อาจเป็นการพัฒนาเขื่อนแก่งเสือเต้นให้เหมาะสมทั้งลักษณะและขนาดที่ยอมรับได้ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน หากศึกษาแล้วสรุปได้ทางเลือกที่เหมาะสมก็ให้เร่งดำเนินการ มิฉะนั้นจะเสียหายมากขึ้น เมื่อมีแผนงานแล้วให้เชื่อมโยงทั้งระบบของแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน และแม่น้ำป่าสัก ใช้หลักการทั้งอ่างพ่วง แก้มลิง การผันน้ำ และคลองทูอินวัน (คลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำ) เพื่อบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ดำเนินการเชื่อมต่อเขื่อนลำตะคองกับอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำแล้วศึกษาหาพื้นที่แก้มลิงก่อนถึงจังหวัดนครราชสีมา
3. เรื่องการจัดการน้ำชุมชน ให้รวบรวมชุมชนมาช่วยทำงาน ให้ชุมชนชาวบ้านที่มีความรู้ ประสบความสำเร็จ มีประสบการณ์ จัดการและพัฒนาน้ำในพื้นที่แล้วขยายผลไปยังชุมชนอื่น
4. เรื่องน้ำปัญหามากมาย ให้พัฒนาพื้นที่ตัวอย่างก่อน การใช้ที่ดิน ป่าต้นน้ำ เกี่ยวโยงกัน ให้ศึกษาและพัฒนาโครงการตัวอย่างในพื้นที่ให้ประสบความสำเร็จสรุปแนวทางแก้ปัญหาให้ได้แล้วจึงขยายผล