เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกหวั่นเปิดเสรี ยุโรปตีตลาดเนื้อไทย เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นสูญ
เวทีฟังความเห็นการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ตัวแทน ก.พาณิชย์ เกรงเกษตรกรถูกฟ้องละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเพราะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เสนออียูคุ้มครองความหลากหลายชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเกรงยุโรปตีตลาดเนื้อไทย เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านสูญ ด้านทีดีอาร์ไอมองต่างมุมได้ประโยชน์มหาศาลจากการขยายตลาดสู่โลก แนะเกษตรกรไทยเร่งพัฒนาคุณภาพ เพื่อเพิ่มราคาผลผลิต
เมื่อวานนี้(13 มิ.ย. 53) ภาคประชาสังคมจัดสัมมนารับฟังความเห็น “การจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป” ที่โรงแรมเซนจูรี่ปาร์ค เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอต่อกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ก่อนยกร่างนำเข้า ครม. นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ประธานคณะอนุกรรมการภาคประชาสังคม กล่าวถึงความเป็นมาว่ารัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและสหภาพยุโรป(อียู) ประกาศเจรจาความตกลงดังกล่าวตั้งแต่ 4 พ.ค.50 โดยมีคณะกรรมการร่วมจัดทำความตกลงฯ ทำหน้าที่ควบคุมการเจรจาในภาพรวม ซึ่งมีประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายเห็นต่าง เช่น อาเซียนยื่นข้อเสนอให้อียู พิจารณากำหนดการเปิดตลาดสินค้าเพียงร้อยละ 75-80 ขณะที่อียูต้องการร้อยละ 90
นางสาวกรรณิการ์ กล่าวว่า การประชุมร่วมครั้งล่าสุดที่มาเลเซีย มี.ค.53 อียูมีปัญหานโยบายระหว่างประเทศที่ไม่ยอมให้พม่าเข้าร่วม และส่งสัญญาณว่าจะไม่เจรจาภายใต้กรอบภูมิภาคต่อไป โดยเสนอเจรจาทวิภาคีกับ 3 ประเทศอาเซียน ซึ่งเจรจากับสิงคโปร์ เวียดนามไปแล้วในปี 2552 และสนใจจะเจรจากับไทย แต่ไทยมีนโยบายชัดเจนว่าต้องเตรียมความพร้อมก่อน โดยมติ ครม.วันที่ 12 ม.ค.53 ให้กระทรวงพาณิชย์ตั้ง “คณะกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนในเรื่องการจัดทำความตกลง การค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป” ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลประกอบการพิจารณา
“เมื่อเร็วๆนี้ เกาหลีเพิ่งลงนามความตกลงดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญเปิดตลาดสินค้าเกษตรของอียูสู่ตลาดเกาหลีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปศุสัตว์ประเภทเนื้อหมู ซึ่งเป็นผลดีเนื่องจากเกาหลีมีเกษตรกรน้อยมาก และยังมีประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคมและแรงงาน รวมอยู่ในตัวบทเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งผลให้หลายฝ่ายกำลังจับตามองความเคลื่อนไหวการจัดทำความตกลงของไทย” นางสาวกรรณิการ์ กล่าว
นางสาวอรุณี พูลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงบริบทในการจัดทำความตกลงของไทยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตว่า ขอบเขตการเจรจาคือการลดภาษีสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม ประมง พืชและสัตว์ สุขอนามัย ซึ่งอาจถูกเรียกร้องให้พัฒนาคุณภาพการผลิตและทรัพย์สินทางปัญญา โดยฝ่ายไทยคาดว่าจะมีการเปิดตลาดและมีสินค้าครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ตลอดจนความสมดุลระหว่างสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม
“แต่อียูคาดหวังผูกขาดข้อมูลการทดลองยาที่บริษัทยายื่นต่อ อย. เพื่อขึ้นทะเบียนตำรับยา ป้องกันการถูกนำไปใช้เชิงพาณิช โดยให้ไทยเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาทรัพย์สินทางปัญญาและสนธิสัญญาบูดาเปสว่า ด้วยการรับฝากเก็บจุลชีพ ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าอนาคตอาจทำให้เกษตรกรถูก ฟ้องร้องจากการใช้จุลินทรีย์ เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรไทยหันมาใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพที่ทำเองตามปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง”
นายศิริพันธ์ วัชราภัย ผู้แทนกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งต้องการให้สหภาพยุโรปคุ้มครองด้วยเช่นกัน นอกจากนี้อียูยังต้องการให้ไทยขยายความคุ้มครองทางลิขสิทธิ์จาก 50 ปี เป็น 70 ปีหลังผู้สร้างสรรค์ตาย
ดร.วิศาล บุปผเวส ที่ปรึกษาฝ่ายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) กล่าวว่า หากกลัวจะเสียเปรียบจากการทำความตกลงดังกล่าว จะยิ่งทำให้เสียโอกาสทางการค้าที่ควรจะได้รับอย่างมหาศาลจากการขยายตลาด
“ประเทศเล็กเมื่อเปิดเสรีกับประเทศใหญ่ได้ประโยชน์สูงมาก เช่น สินค้าชนิดหนึ่งเรามีภาษีที่จำกัดการนำเข้า เขาก็มีเหมือนกัน เราลดภาษี 1% แต่จะได้ขยายตลาดมากมายกว่าที่เขาลดให้ 1% และรายได้ของเราแค่นี้จะกินอะไรที่เขาส่งมาได้เพิ่มขึ้นอีกไม่เท่าไหรหรอก แต่ยิ่งตลาดใหญ่ขึ้นจะขายผลผลิตได้มากขึ้น”
ดร.วิศาล ยังเปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า เกษตรกรไทยต้องเร่งพัฒนาผลผลิต เพราะอนาคตผู้บริโภคในตลาดโลกจะเรียกร้องคุณภาพมากขึ้น หากทำได้จะทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น ทั้งนี้ถ้ามาตราฐานสินค้าดีก็เป็นประโยชน์ในการขายตลาดภายในประเทศด้วย เพราะคนไทยก็หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่าคัดค้านการเปิดเสรีเนื้อวัว เนื้อหมู เนื่องจากยุโรปสามารถผลิตได้มาก หากนำเข้าเสรีจะตีตลาดเกษตรกรไทย และคัดค้านการเปิดเสรีเมล็ดพันธุ์พืช เพราะจะทำให้พันธุ์พืชท้องถิ่นหมดไปในที่สุด
“สินค้าประเภทเนื้อและผลิตภัณฑ์เนื้อจะทำลายการผลิตภายใน ขณะที่ยุโรปมีบริษัทลงทุนเมล็ดพันธุ์ใหญ่มาก ถ้ากฎหมายเราเปิดช่องให้เขาลงทุน จะนำไปสู่การผูกขาดทำให้เกษตรกรขึ้นกับบริษัท เหมือนที่ตกอยู่ในวงจรซีพีตอนนี้”
องค์กรด้านเกษตรยังมองว่าการจดสิทธิบัตรด้านจุลินทรีย์หรือสนธิสัญญาบูดาเปส จะทำให้เกษตรกรไทยเดือดร้อนหนัก ทำให้ความมั่นคงทางอาหารหมดไป ส่วนองค์กรผู้บริโภคเสนอว่าควรมีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัย เช่น การสุ่มตรวจและออกฉลากรับรอง ด้านองค์กรงดเหล้าเรียกร้องไม่ให้การเจรจานำเรื่องเหล้าเข้าหารือ เพราะการเปิดตลาดจะทำให้เหล้าซึ่งเป็นสินค้าอันตรายราคาถูกลงมีการนำเข้ามาก ขึ้น ส่วนองค์กรด้านแรงงานเรียกร้องให้พัฒนามาตรฐานสวัสดิการแรงงานไทย.