เก็บตกงานบอลจุฬา-มธ.หลังเหตุอลหม่าน! ทหารคุมเข้ม-ยึดป้ายล้อการเมือง
“…เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงได้ทำการปิดประตูอย่างกะทันหัน ขณะที่หัวขบวนของนักศึกษากำลังจะเข้าสู่สนาม ทำให้มีนักศึกษาหลายคนแสดงท่าทีไม่พอใจขึ้นมาทันที อย่างไรก็ดีมีการเจรจากัน ซึ่งท้ายสุดเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้นำป้าย “ข้อความแสดงความเห็นทางการเมือง” เข้ามาแสดงภายในสนาม และขอเก็บป้ายผ้าทั้งหมด อนุญาตให้เหลือเพียงหุ่นล้อการเมืองเท่านั้น…”
และแล้วการแข่งขันฟุตบอลประเพณีนัดประวัติศาสตร์ระหว่าง “รั้วจามจุรี” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ “รั้วเหลืองแดง” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มาบรรจบกับอีกครั้งเป็นปีที่ 70
หลังจากที่ไม่ได้จัดมา 2 ปี ด้วยภัยธรรมชาติ และเหตุการณ์ทางการเมือง
แต่ “ไฮไลต์” สำคัญของงานคือ “พาเหรดล้อเลียนการเมือง” ที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษมากกว่าทุกปี !
เนื่องจากก่อนหน้านี้มีข่าวว่า “ท็อปบู้ต” สั่งการให้คุมเข้ม ขอความร่วมมือ “งด” ล้อเลียนทางการเมือง เนื่องจากกังวลว่าอาจเป็นการ “ขยายแผล” ความขัดแย้งขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหูถึงความเหมาะสมในกรณีดังกล่าว
แม้ต่อมาจะออกมายืนยันว่า “ไม่ได้ขอให้งดการเดินพาเหรด แค่ขอความร่วมมือเท่านั้น” แต่ก็สายเกินการเสียแล้ว !
(อ่านประกอบ : ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-มธ.งานเข้า! ทหารขอร่วมมืองดล้อเลียนการเมือง)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ลงพื้นที่ตรวจสอบงานแข่งขันฟุตบอลประเพณีดังกล่าว ที่สนามกีฬาศุภชลาศัย บรรยากาศเป็นไปด้วยความชื่นมื่นครื้นเครง มีห้างร้านหลายแห่งมาเปิดบูธขายของที่ระลึก ไม่ว่าจะเป็นผ้าพันคอ หรือเสื้อผ้า และพวกสินค้าต่าง ๆ
แต่ที่น่าสนใจคือด้านนอกรั้วสนามศุภชลาศัย ฝั่งถนนบรรทัดทอง มีรถขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) จอดอย่างสงบอยู่ 3 คัน และมีทหารยืนประจำการอยู่ 6 นาย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบนาย
“ทหารมากันเยอะ เพื่อดูแลความปลอดภัยตามปกติ ทางผู้กำกับ สน.ปทุมวัน เขาขอให้มา” เป็นคำยืนยันจากปากทหารรายหนึ่ง
ขณะที่ฝ่ายตำรวจ ยืนยันว่า งานนี้ตำรวจมากันกว่าร้อยนาย แบ่งเป็นหลายหน่วย เช่น สายตรวจจราจร หน่วยงานเก็บกู้ระเบิด เป็นต้น
อย่างไรก็ดีช่วง “ไฮไลต์” สำคัญ ที่เริ่มปล่อยขบวนพาเหรดของทั้ง 2 สถาบัน ทางฝั่งจุฬาฯทยอยเดินเข้าสู่สนามจนครบหมดแล้ว และจะถึงคิวของฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น
ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงได้ทำการปิดประตูอย่างกะทันหัน ขณะที่หัวขบวนของนักศึกษากำลังจะเข้าสู่สนาม ทำให้มีนักศึกษาหลายคนแสดงท่าทีไม่พอใจขึ้นมาทันที
อย่างไรก็ดีมีการเจรจากัน ซึ่งท้ายสุดเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้นำป้าย “ข้อความแสดงความเห็นทางการเมือง” เข้ามาแสดงภายในสนาม และขอเก็บป้ายผ้าทั้งหมด
อนุญาตให้เหลือเพียงหุ่นล้อการเมืองเท่านั้น !
ท้ายสุดขบวนพาเหรดของ “ธรรมศาสตร์” ก็เดินหน้าต่อไปได้ โดยปราศจากป้ายที่แสดงความเห็นทางการเมือง แต่ก็ถือว่าไม่น้อยหน้า ด้วยการนำหุ่นล้อเลียน “ค่านิยม 12 ประการ” ปรากฏมาคู่กับหุ่น “รายการคืนความสุขฯ” ที่ปรากฏภาพ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วย สร้างเสียงปรบมือเกรียวกราวจากผู้ชมได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ขบวนพาเหรดทางฝั่งจุฬาฯ กลับไม่มีการ “ล้อเลียนการเมือง” แต่อย่างใด ?
สำหรับขบวนพาเหรดอื่น ๆ ที่น่าสนใจก็เช่น ขบวน 'Corrup ท่าน' เป็นพาเหรดล้ออำนาจตุลาการ จากกรณีการตีความเขตอำนาจรับคำร้องเพื่อวินิจฉัยการใช้อำนาจเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับเรื่องได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมไทยที่แบ่งขั้วเป็นทุนเดิม เกิดความไม่ไว้วางใจต่อตุลาการศาลฯว่าเที่ยงตรง ยืนหยัดบนหลักการหรือไม่ และชัดเจนเพียงพอหรือไม่ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่เคยเป็นมา
ขบวน 'คู่จิ้น WIN ยกแก๊งค์' เป็นพาเหรดล้อรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมที่ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน จะพลเรือนหรือทหาร ก็ต้องสยบต่อเจ้าแม่ขนส่งทางบก และเจ้าพ่อขนส่งทางอากาศที่คอยกำกับการวางนโยบายขนส่งของประเทศไทยอยู่เสมอ ดังที่สื่อต่าง ๆ รายงานว่ารัฐมนตรีคมนาคมจะยกเลิกรถไฟฟรี ทั้งยังการออกมาเรียกร้องขอเพิ่มค่าโดยสารของรถร่วม ขสมก. ซึ่งจะทำให้ค่าครองชีพในแต่ละวันเพิ่มขึ้น
ขบวน 'Thailand Farm' เป็นพาเหรดล้อความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่เรื้อรังมานานปี ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะที่ 9
ขบวน 'โฆษณาชวนเชื่อ(ง)’ เป็นพาเหรดล้อสื่อมวลชนที่เป็นอีกส่วนหนึ่งของการปลูกฝัง สร้างเสริมทัศนคติที่ถูก "เลือก" ถ่ายทอดให้ผู้รับชม ย่อมมีส่วนกำหนดความคิดของผู้คนในสังคมต่อการมองเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์ทางการเมือง การชี้นำเพื่อยัดเยียดและผิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลชุดอื่นๆ อาจขัดขวางการเติบโตของประเทศ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน
และนี่คือสีสันในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ในปีที่ผ่านมา ซึ่งท้ายสุดก็เกิดเหตุ “อลหม่าน” ขึ้นจนได้ ในขบวนพาเหรดของฝั่งธรรมศาสตร์ แม้ว่าจะถูกยึดผ้าที่เสมือนเป็น “สื่อกลาง” ถ่ายทอดความคิดนักศึกษาสู่ประชาชน
แต่ก็ไม่ยอมทอดทิ้งแนวทาง ใช้ “หุ่น” เป็นตัวกลางสื่อสารแทน
นับเป็นการทิ้งทวนแบบ “อารยะขัดขืน” โดยแท้
#เชิญชวนติดตามข่าวสารสำนักข่าวอิศรา ได้ด้วยการกด "Like" ที่ แฟนเพจ "I love isranews"
อ่านประกอบ : เสียงสะท้อน“นศ.จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์” หลังทหารขวางล้อการเมืองในงานบอล
แปลอักษร "ธรรมศาสตร์" #CUTUball70