Yannawa Riverfront ปั้นพื้นที่ริมน้ํา ให้กลายเป็นหน้าเป็นตาเมือง
การพลิกฟื้นและพัฒนาฟื้นฟู "ย่านบางรัก-ยานนาวา-บางคอแหลม" ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นสูง แต่ยังขาดแคลนพื้นที่โล่ง สำหรับผู้คนให้ได้มีโอกาสทำกิจกรรมนันทนาการ ออกกำลังกาย และพบปะสังสรรค์ ถึงวันนี้กำลังจะกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของกรุงเทพมหานคร เมื่อเจ้าของที่ดิน และกลุ่มภาคียุทธศาสตร์ พร้อมใจร่วมกันวางแผนพัฒนาเมืองแบบใหม่ที่ไม่แยกส่วนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และไม่มีการเวนคืนที่ดิน
ในชื่อ "ริมน้ำยานนาวา (Yannawa Riverfront)" โครงการนำร่องฟื้นฟูย่านริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทย เริ่มต้นจากเชิงสะพานตากสิน จนถึงคลองกรวย (ข้างโรงแรมซาเทรียม) ระยะทางยาวกว่า 1.2 กิโลเมตร
หากจะให้นึกภาพง่ายๆ ก็คือ พื้นที่ตั้งโครงการริมน้ำยานนาวา อยู่ห่างจากถนนเจริญกรุงแค่ 200 – 300 เมตร อีกทั้งยังมีความต่อเนื่องกับย่านศูนย์กลางธุรกิจใจกลางเมืองอย่าง ย่านบางรัก-สีลม-สาธร นั่นเอง
ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผอ.ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง เล่าถึงความเป็นมาของโครงการนำร่องฟื้นฟูเมืองริมแม่น้ำเจ้าพระยาว่า ต่อยอดมาจากโครงการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ย่านสะพานปลาในกรุงเทพฯ ที่ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development:UddC) ได้รับการสนุบสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ออกแบบปรับปรุงย่านสะพานปลาสู่ต้นแบบที่ผสานรวมพื้นที่สาธารณะอเนกประโยชน์เข้ากับโครงการป้องกันน้ำท่วมอย่างมีนวัตกรรม
"เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทางศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ร่วมกับ สสส. มหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยปักกิ่ง จัดให้มีการสัมมนานานาชาติ ว่าด้วยการฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่ 1 เรียกว่า พื้นที่ศึกษาย่านสะพานปลากรุงเทพฯ มีการนำเสนอผลงานสู่สาธารณะ ซึ่งได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนในพื้นที่ศึกษา และนับได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ย่านสะพานปลากรุงเทพฯระยะที่ 1"
กระทั่งต่อมาในปี 2556 ก็มีการผลักดันให้เกิดการประชุมภาคียุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ย่านสะพานปลากรุงเทพฯ ขึ้น เปิดเวทีให้ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในการพัฒนาที่ดิน รวมถึงภาคียุทธศาสตร์ทั้งหมดร่วมหารือถึงวิสัยทัศน์ และแนวทางการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ย่านสะพานปลา
ครั้งนั้นได้รับความร่วมมือจากผู้ถือกรรมสิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่ทุกราย ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนในพื้นที่ ส่งผลให้ทุกภาคส่วนเล็งเห็นตรงกันถึงความสำคัญ ความเป็นไปได้ในการพัฒนาฟื้นฟูย่านสะพานปลาร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ
ท้ายสุดนำมาซึ่งการดำเนินงานโครงการพัฒนาฟื้นฟูย่านสะพานปลากรุงเทพฯ แบบพหุภาคีระยะที่ 2 และเลือกพื้นที่ริมน้ำบริเวณย่านสะพานปลาเป็นพื้นยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะริมน้ำภายใต้ชื่อ "ริมน้ำยานนาวา"
"ริมน้ำยานนาวา" หรือ Yannawa Riverfront จะเน้นพัฒนาให้เกิดพื้นที่สาธารณะทางเดิน ทางจักรยานริมน้ำคุณภาพสูงเพื่อสุขภาวะที่ดีเป็นหลัก เป็นพื้นที่นันทนาการ พักผ่อน และรักษาสภาพแวดล้อมของเมือง รวมไปถึงการป้องกันภัยพิบัตจากน้ำท่วม ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ ทำงานภายใต้คณะทำงานเฉพาะกิจ (Taskforce) ที่ประกอบด้วยเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินรายใหญ่ รายย่อย กรมเจ้าท่า และกรุงเทพมหานคร โดยมีศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง เป็นเลขานุการ
หลังเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นตัวผังแม่บทพื้นที่ริมน้ำ ผังรายละเอียดพื้นที่ยุทธศาสตร์ริมน้ำ ข้อเสนอแนะเชิงการบริหารจัดการพื้นที่หลังโครงการเสร็จสมบูรณ์ จากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียชุมชนโดยรอบ ตลอดจนกลุ่มภาคียุทธศาสตร์แล้ว
จากนี้ไปคณะทำงานเฉพาะกิจ เตรียมผลักดัน ริมน้ำยานนาวา ให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนี้ โครงการ "ริมน้ำยานนาวา" ที่มีความสะดวกทั้งด้านคมนาคม รถ เรือ ราง ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสิน และท่าเรือสาธร นับเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายระบบรางและเรือ ที่เชื่อมกันอย่างสมบูรณ์สุดจุดเดียวของกรุงเทพมหานคร ทำให้มีประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้พื้นที่บริเวณนี้จำนวนมหาศาลต่อวัน กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
ส่วนศาสนสถานสำคัญ อย่าง วัดยานนาวา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ติดถนนเจริญกรุง เขตยานนาวา และใกล้กับสะพานตากสินที่สุด พระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา แสดงความเห็นด้วยกับ ความคิดริเริ่มของทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมดำเนินการจัดทำโครงการนี้ให้เกิดขึ้น
พร้อมกันนี้อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสวรรค์ดังที่ประเทศต่างๆ ให้การยกย่องประเทศไทยเป็นเมืองน่าอยู่ และเป็นประเทศที่น่าเที่ยวที่สุดประเทศหนึ่ง
ขณะที่นายวันชัย ถนอมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กทม. ยอมรับว่า โครงการริมน้ำยานนาวา เป็นโครงการประวัติศาสตร์ เพราะตลอดะระยะทาง 72 กิโลเมตรของริมน้ำเจ้าพระยา ยังไม่มีพื้นที่ตรงไหนสวยงามเหมือนอย่างตรงจุดนี้เลย
ฉะนั้น พื้นที่สาธารณะที่ออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่ม (Universal Design) ใช้กระบวนการทำงานร่วมหารือแบบพหุภาคี สร้างความสมดุลระหว่าง ประโยชน์สาธารณะ กับผลตอบแทนการลงทุนเช่นนี้
จึงหวังได้ว่า โครงการพัฒนาฟื้นฟูเมืองแห่งแรกของประเทศไทย อนาคตจะกลายเป็นหน้าเป็นตาให้กับกรุงเทพมหานคร เมือหลวงที่มีประวัติศาสตร์ผูกพันกับสายน้ำมาอย่างยาวนาน
|