"การบินไทย" ไม่ล้มหรอก เราจะกลับมาบินสูงขึ้นอีกครั้ง?
"..คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้มอบหมายให้การบินไทย เร่งรัดดำเนินการปรับปรุงแผนการแก้ไขปัญหาองค์การ ใน 3 เรื่อง คือ 1. เน้นที่การลดต้นทุนอย่างจริงจัง และลด Capacity ที่ไม่กำไร โดยแผนการลดต้นทุน จะต้องมีเป้าหมายลดต้นทุนที่ท้าทาย เช่น ร้อยละ 20-30 2. นำเสนอมาตรการที่จะใช้ประโยชน์จากพันธ์มิตร ทั้งในและนอก Star Alliance อย่างเป็นรูปธรรม 3. ให้ความสำคัญกับตำแหน่งยุทธศาสตร์ ต้องวิเคราะห์โดยละเอียด และมีกลยุทธ์ที่ลึกซึ้งกว่าเพียงจะเป็น "Premium Airlines" .."
การบินไทย.. ไม่ล้มหรอก!
นี่คือ บทสรุปใจความสำคัญ ของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ที่ตอบคำถามกับสื่อมวลชน ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤติทางการเงิน ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สายการบินของคนไทยทั้งชาติ ในช่วงปลายเดือน ม.ค.58 ที่ผ่านมา หลังเกิดกระแสข่าวว่า "การบินไทยกำลังเผชิญหน้ากับภาวะล้มละลาย"
พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุด้วยว่า แนวทางการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ในเบื้องต้นจะต้องปรับเปลี่ยนการบริหารเพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่น การปรับลดเส้นทางการบินในบางเส้นทาง รายได้ของพนักงาน การขายทรัพย์สินบางส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป
"แผนฟื้นฟูการบินไทยกำลังดูอยู่ ที่ประชุม(คนร.)กำลังพิจารณาอยู่ ไม่ล้มหรอก ตอนนี้ต้องลดค่าใช้จ่าย ลดบางเส้นทาง ต้องมีการขายสินทรัพย์บางส่วนออกไป" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
คำถามที่น่าสนใจ! สถานะทางการเงินของ การบินไทย แท้จริง เป็นอย่างไร? ไม่ล้มจริงหรือ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลสถานะการเงิน ของการบินไทย ที่เปิดเผยในเว็บไซต์ ตลาดหลักทรัพย์ มาไล่เรียงให้เห็นภาพดังนี้
งบการเงินปี 54 แจ้งว่า มีรายได้ 194,525.55 ล้านบาท ขาดทุน 10,196.97 ล้านบาท
งบการเงินปี 55 แจ้งว่า มีรายได้ 213,893.19 ล้านบาท กำไร 6,228.97 ล้านบาท
งบการเงินปี 56 แจ้งว่า มีรายได้ 212,441.68 ล้านบาท ขาดทุน 12,047.37 ล้านบาท
ล่าสุดช่วงไตรมาส 3 ของปี 57 แจ้งว่ามีรายได้ 149,230.37 ล้านบาท ขาดทุน 9,210.73 ล้านบาท
จากตัวเลข จะเห็นได้ว่า การบินไทย กำลังประสบปัญหาเรื่องขาดทุนอย่างหนัก
โดยเฉพาะในช่วงปี 56 ที่ยอดขาดทุนสูงถึง 12,047.37 ล้านบาท มากกว่าในช่วงปี 56 ที่ตัวเลขขาดทุนอยู่ที่ 10,196.97 ล้านบาท ก่อนจะกลับมามีกำไร ในปี 55 และก็กลับไปขาดทุนหนักกว่าเดิม
ขณะที่ในช่วงไตรมาส 3 ของ ปี 57 ตัวเลขขาดทุนพุ่งไปอยู่ที่ 9,210.73 ล้านบาทแล้ว
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในส่วนของตัวเลขทรัพย์สินรวม ของการบินไทย กลับเพิ่มขึ้นทุกปี
ปี 2554 แจ้งตัวเลข 274,444.70 ล้านบาท ปี 2555 แจ้งตัวเลข 304,095.88 ล้านบาท ปี 2556 แจ้งตัวเลข 307,084.73 ล้านบาท ล่าสุดช่วงไตรมาส 3 ของปี 57 อยู่ที่ 310,243.06 ล้านบาท
สอดคล้องกับ หนี้สินรวม ที่เพิ่มขึ้นทุกปี เช่นกัน ปี 2554 แจ้งตัวเลข 211,009.48 ล้านบาท ปี 2555 แจ้งตัวเลข 234,277.44 ล้านบาท ปี 2556 แจ้งตัวเลข 250,166 ล้านบาท
ล่าสุดช่วงไตรมาส 3 ของปี 57 อยู่ที่ 262,551.79 ล้านบาท
จากการตรวจสอบงบดุลช่วงไตรมาส 3 ของปี 57 พบว่า มีการระบุข้อมูลการขาดทุนไว้หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น จากการขายเครื่องบิน 82,151,560 บาท จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา นอกจากนี้ยังมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบิน วงเงินกว่า 2,293,900,483 บาท เป็นต้น
ขณะที่หมายเหตุประกอบงบการเงิน ช่วงไตรมาส 3 ของปี 57 ที่ตรวจสอบ โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีการระบุข้อมูลการดำเนินธุรกิจของการบินไทยไว้ ดังนี้
- ในงวดนี้ บริษัทฯ มีเครื่องบินที่ใช้ดำเนินงานจำนวน 104 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินของบริษัทฯ จำนวน 36 ลำ เครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าทางการเงิน (Finance Leases) จำนวน 36 ลำ และเครื่องบินเช่าดำเนินงาน (Operating Leases) จำนวน 32 ลำ ทั้งนี้ ไม่รวมเครื่องบินรอการขายจำนวน 23 ลำ ที่มีมูลค่าสุทธิตามบัญชีจำนวน 8,935.14 ล้านบาท
อาคารบนพื้นที่เช่า ซึ่งเป็นสัญญาเช่าที่ดินกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีระยะเวลา 30 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2549 ถึง 29 กันยายน 2579 และที่ดอนเมืองมีระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ วันที่ 27 กันยายน 2552 ถึงวันที่ 28 กันยายน 2555 เมื่อสิ้นสุดสัญญา อาคารและส่วนควบต่างๆ บนพื้นที่เช่าจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2555 บริษัทฯ ได้ทำหนังสือขอเช่าพื้นที่ และเช่าที่ดินดังกล่าวข้างต้นกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2555 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2558 ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ทั้งนี้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้เรียกเก็บค่าเช่าดังกล่าวข้างต้นในอัตราตามสัญญาเดิม
บริษัทฯ ได้นำที่ดินแปลงหนึ่งที่กรุงเทพมหานครไปวางเป็นหลักประกันต่อศาล และบริษัทฯ จะได้ยื่นอุทธรณ์ ในคดีที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้บริษัทฯ ชำระค่าเสียหายจากการระงับการสั่งซื้อไวน์เป็นจำนวนเงิน 27.63 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
สินทรัพย์ตามสัญญาเช่าการเงิน ได้แก่ เครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าการเงินที่ทำสัญญาซื้อเครื่องบินเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอเมริกา แต่บริษัทฯ ได้ทำสัญญาเช่าทางการเงินเป็นเงินสกุลยูโร ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และเงินเยน
ณ วันที่ 1 มกราคม 2557 สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่ถือไว้เพื่อขายประกอบด้วย เครื่องบิน A300-600 จำนวน 4 ลำ A340-500 จำนวน 4 ลำ B737-400 จำนวน 4 ลำ B747-400 จำนวน 4 ลำ และ ATR72 จำนวน 2 ลำ รวม 18 ลำ จำนวนเงิน 7,195.59 ล้านบาท และสินทรัพย์ถาวรอื่น จำนวน 1.13 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7,196.72 ล้านบาท ซึ่งในระหว่างงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2557 มีสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่นที่ถือไว้เพื่อขายเพิ่มขึ้นประกอบด้วย เครื่องบิน A330-300 จำนวน 3 ลำ และ A300-600 จำนวน 4 ลำ จำนวนเงิน 2,306.45 ล้านบาท และสินทรัพย์ถาวรอื่น จำนวนเงิน 2.67 ล้านบาท รวมเพิ่มขึ้นในงวดนี้จำนวนเงิน 2,309.12 ล้านบาท และมีสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่นที่ถือไว้เพื่อขายลดลงประกอบด้วย เครื่องบิน A330-300 จำนวน 1 ลำ และ A300-600 จำนวน 1 ลำ รวมลดลงในงวดนี้ จำนวนเงิน 566.90 ล้านบาท รวมสินทรัพย์ ไม่หมุนเวียนอื่นที่ถือไว้เพื่อขายเพิ่มขึ้นสุทธิ จำนวนเงิน 1,742.22 ล้านบาท
ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่ถือไว้เพื่อขายประกอบด้วย เครื่องบิน A300-600 จำนวน 7 ลำ A340-500 จำนวน 4 ลำ B737-400 จำนวน 4 ลำ B747-400 จำนวน 4 ลำ ATR72 จำนวน 2 ลำ และ A330-300 จำนวน 2 ลำ รวม 23 ลำ จำนวนเงิน 8,935.14 ล้านบาท และสินทรัพย์ถาวรอื่น จำนวนเงิน 3.80 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 8,938.94 ล้านบาท
ในระหว่างงวดบริษัทฯ ได้ตกลงขายเครื่องบิน ประกอบด้วย เครื่องบิน B747-400 จำนวน 4 ลำ A300-600 จำนวน 4 ลำ และ ATR 72 จำนวน 2 ลำ รวม 10 ลำ ทั้งนี้บริษัทฯ ได้รับเงินจากการขายเครื่องบิน A300-600 จำนวน 1 ลำ และได้โอนกรรมสิทธ์เครื่องบินดังกล่าวให้กับผู้ซื้อเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557
นอกจากนี้ กรรมการบริษัทฯ ยังได้รับสิทธิประโยชน์ด้านบัตรโดยสาร ซึ่งในงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2557 และ 2556 กรรมการบริษัทฯได้ขอออกบัตรโดยสารให้แก่ตนเอง และผู้เกี่ยวข้องจำนวน 153 ฉบับ และ 232 ฉบับ ตามลำดับ ซึ่งประมาณมูลค่าจากราคาเต็มตามชั้นที่เดินทางคิดเป็นเงิน 13.41 ล้านบาท และ 23.04 ล้านบาท ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลกรณีการฟ้องร้องคดีต่างๆ ได้แก่
-เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2557 บริษัท Southern Air Inc., (SAI) ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากบริษัทฯ กรณีบริษัทฯ ผิดสัญญาซื้อขายพื้นที่ระวางบรรทุกสินค้ากับบริษัท Southern Air Inc., (SAI) ทั้งนี้สำนักกฎหมาย SKADDEN, ARPS, SLATE, MEAGHER & FLOM ทนายความบริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอตัดฟ้องแล้ว เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
-เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2554 สำนักกฎหมาย Macfarlanes LLP ทนายความบริษัทฯ ได้ยื่นฟ้องบริษัท Koito Industries Limited และบริษัท Asia Fleet Services (s) Pte., Ltd. กรณีผิดสัญญาซื้อขายเก้าอี้เครื่องบินสำหรับเครื่องบิน แอร์บัส แบบ A330-300 แบบ A380-800 และเครื่องบินโบอิ้ง แบบ B777-300 ต่อศาลประเทศอังกฤษแล้วซึ่งขณะนี้ บริษัท Koito Industries Limited (บริษัท KI Holdings Limited) และบริษัท Asia Fleet Services (s) Pte., Ltd. ได้ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งแล้ว ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งศาลได้นัดสืบพยานในวันที่ 26 มกราคม 2558 ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2558
- กรณีที่บริษัทฯ ถูกตรวจสอบโดยทางการของประเทศสหรัฐอเมริกา (Department of Justice/DOJ) โดยแยกออกเป็น 2 กรณี
1.1 กรณี Cargo US DOJ Investigation ซึ่งบริษัทฯ ได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่า DOJ ได้ยุติการสอบสวนบริษัทฯ ไปแล้ว
1.2 กรณี Passenger US DOJ Investigation ปัจจุบันบริษัทฯ ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จาก DOJ จึงคาดว่า DOJ น่าจะยุติการดำเนินคดีกับบริษัทฯ แล้ว
-เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2552 ACCC ได้ยื่นฟ้องบริษัทฯ กล่าวหาว่าบริษัทฯ กระทำการละเมิดกฎหมาย Trade Practices Act 1974 โดยยังไม่ได้ระบุยอดค่าปรับและค่าใช้จ่ายที่เรียกร้องมาปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ตกลงประนีประนอมยอมความกับ Australian Competition and Consumer Commission (ACCC) เป็นเงินค่าปรับจำนวน 7,500,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย พร้อมค่าทนายความของ ACCC จำนวน 500,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,000,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2555 ศาลได้มีคำพิพากษาให้ประนีประนอมยอมความตามที่บริษัทฯ และ ACCC ตกลงกันแล้วโดยบริษัทฯ สามารถผ่อนชำระค่าปรับได้เป็นจำนวน 7 งวด ในช่วงระยะเวลา 3 ปี
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จ่ายชำระค่าปรับงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว
- กรณีที่บริษัทฯ ถูกตรวจสอบโดยทางการของประเทศสาธารณรัฐเกาหลี Korea Fair Trade Commission /KFTC
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 บริษัทฯ ได้รับคำตัดสินฉบับทางการ โดย KFTC มีคำสั่งปรับบริษัทฯ เป็นเงินจำนวน ทั้งสิ้น 2,877,000,000 วอน แต่ไม่ดำเนินคดีอาญากับบริษัทฯ และพนักงานที่เกี่ยวข้อง และบริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ คำตัดสินของ KFTC Commissioners ต่อศาล ผลปรากฏว่า ศาลมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของบริษัทฯ ทั้งเส้นทางการบินออกจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลีและเส้นทางการบินออกจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งบริษัทฯ ได้ยื่นฎีกาต่อศาล
ปัจจุบัน ศาลฎีกาสาธารณรัฐเกาหลีได้มีคำตัดสินยืนตามคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ (Seoul High Court) ทั้งกรณีเส้นทางการบินออกจากสาธารณรัฐเกาหลี และเส้นทางการบินออกจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงไปยังสาธารณรัฐเกาหลี กล่าวคือ ให้บริษัทฯ ชำระค่าปรับจำนวน 2,198,000,000 วอน สำหรับเส้นทางการบินออกจากสาธารณรัฐเกาหลี และชำระค่าปรับจำนวน 679,000,000 วอนสำหรับเส้นทางการบินออกจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง พร้อมชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกาให้แก่ KFTC จำนวน 36,611,290 วอน หรือประมาณ 1.13 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ได้รับรู้เป็นค่าใช้จ่ายแล้วในไตรมาส 3 ปี 2557 ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ชำระเงินค่าปรับดังกล่าวทั้ง 2 รายการตามคำตัดสินของ KFTC ไว้แล้ว ในขณะยื่นอุทธรณ์ต่อศาล
-กรณีที่บริษัทฯ ถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการด้านการพาณิชย์ของประเทศนิวซีแลนด์ (New Zealand Commerce Commission) หรือ NZCC กล่าวหาว่าบริษัทฯ ร่วมกับสายการบินอื่นกำหนด Fuel Surcharge และ Security Surcharge ซึ่ง เป็นการละเมิดกฎหมายพาณิชย์ (Commerce Act) ของประเทศนิวซีแลนด์ โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้บริษัทฯ ชำระค่าปรับและค่าใช้จ่ายตามกฎหมาย โดยยังไม่ได้ระบุยอดค่าปรับและค่าใช้จ่ายที่เรียกร้องมา
ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ตกลงประนีประนอมยอมความกับคณะกรรมการด้านการพาณิชย์ของประเทศนิวซีแลนด์(New Zealand Commerce Commission) หรือ NZCC เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2556 ศาลประเทศนิวซีแลนด์ ได้มีคำพิพากษาตามแนวทางของการเจรจาประนีประนอมที่บริษัทฯ ได้ทำกับ NZCCโดยศาล ได้อนุญาตให้บริษัทฯ ชำระค่าปรับให้แก่ทางการของประเทศนิวซีแลนด์ เป็นจำนวน 2,700,000.00 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และชำระค่าใช้จ่ายทนายความของคณะกรรมการ NZCC จำนวน 259,079.18 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 2,959,079.18 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ โดยสามารถแบ่งชำระค่าปรับเป็น 4 งวด ในระยะเวลา 18 เดือน
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จ่ายชำระค่าปรับงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 3 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว
-กรณีที่บริษัทฯ ถูกกลุ่มผู้โดยสารฟ้องเรียกค่าเสียหายบริษัทฯ ต่อศาลนครลอสแองเจลีส และศาลนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา กล่าวหาว่าบริษัทฯ กำหนดราคาอัตราค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมพิเศษต่างๆ อันเป็น การละเมิดกฎหมาย Antitrust ของประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาศาลมีคำสั่งให้ศาลนครซานฟรานซิสโกพิจารณาเป็น คดีเดียว โดยยังไม่มีการระบุจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้องร้องจนกว่าศาลจะชี้ขาดว่าบริษัทฯ เป็นฝ่ายผิด
ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ตกลงประนีประนอมยอมความกับโจทก์เป็นเงินจำนวน 9.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา รวมค่าใช้จ่ายในการ Notice ให้แก่กลุ่มโจทก์ทั้งหมด (Action Class) และค่าทนายความของโจทก์แล้ว โดยบริษัทฯ สามารถแบ่งชำระค่าปรับเป็น 2 งวด อย่างไรก็ตาม สัญญาประนีประนอมยอมความจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาล Federal Court เมืองซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนที่การประนีประนอมยอมความ
จะมีผลบังคับตามกฎหมาย ส่วนการชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นการชำระเงินเข้าบัญชี Escrow ซึ่ง Escrow Agent จะทำการโอนให้แก่โจทก์ได้ต่อเมื่อศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่หากศาล ไม่มี คำพิพากษาดังกล่าวก็จะต้องโอนเงินคืนให้แก่บริษัทฯ ต่อไป
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จ่ายเงินในการประนีประนอมยอมความงวดที่ 1 และงวดที่ 2 เข้าบัญชี Escrow ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว
-กรณีบริษัทฯ ถูกจำเลยในคดี Cargo Civil Class Action ในประเทศออสเตรเลียยื่นคำร้องเพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยต่อบริษัทฯ
สายการบิน British Airways สายการบิน Singapore Airlines (ร่วมกับ Singapore Airlines Cargo) สายการบิน Cathay Pacific และ Lufthansa Cargo ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เรียกบริษัทฯ เข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีแพ่ง และเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2556 ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นคำร้องเพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยต่อบริษัทฯ รวมทั้งสายการบินอื่นๆ เพื่อให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามสัดส่วนในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้จำเลยชำระค่าเสียหายต่อโจทก์
ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ตกลงประนีประนอมยอมความกับโจทก์และจำเลยแล้ว เป็นเงิน 500,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งศาลได้เห็นชอบตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ จำเลย และสายการบินที่ถูกไล่เบี้ย (รวมทั้งบริษัทฯ) ตกลงกันแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอศาลจัดทำคำสั่งอนุญาตการประนีประนอมยอมความเป็นลายลักษณ์อักษร
-กรณีบริษัทฯ ถูกสายการบิน British Airways ซึ่งเป็นจำเลยในคดี Cargo Civil Action ในประเทศอังกฤษร้องขอใช้สิทธิไล่เบี้ย
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557 บริษัทฯ ได้รับหนังสือจากทนายความในประเทศอังกฤษของสายการบิน British Airways แจ้งว่าสายการบิน British Airways ซึ่งเป็นจำเลยในคดี Civil Class Action ในประเทศอังกฤษ และถูกฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการกำหนดราคาค่าธรรมเนียมพิเศษ (Fuel Surcharge และSecurity Surcharge) ในช่วงระหว่างปี 2542 - 2550 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอใช้สิทธิไล่เบี้ยสายการบินอื่นๆ จำนวน 18 ราย รวมทั้งบริษัทฯ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่ใช่คู่ความหลักในคดี คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล
-กรณีบริษัทฯ ถูกฟ้องในคดี Cargo Civil Case ในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 บริษัทฯ ได้รับแจ้งเรื่องนี้จากสำนักงานสาขาของบริษัทฯ ในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีว่า กลุ่มบริษัทแอลจี ได้แก่ LG Chemical, LG Electronics, LG Display และ LG Life Science ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อสายการบินจำนวน 12 ราย รวมทั้งบริษัท ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการร่วมกันกำหนดราคา Fuel Surcharge ระหว่างสายการบินต่างๆ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2546 - 2550 โดยกลุ่มบริษัทแอลจีได้ระบุจำนวนทุนทรัพย์ในคำฟ้องเป็นเงินจำนวน 404,000,000 วอน พร้อมดอกเบี้ย หรือประมาณ 12.28 ล้านบาท และได้สงวนสิทธิ์ในการแก้ไขคำฟ้องเพื่อเพิ่มเติมจำนวนทุนทรัพย์หากกลุ่มบริษัทแอลจีสามารถพิสูจน์ได้ในภายหลัง ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล
ส่วนสัญญาและภาระผูกพัน มีหลายกรณีดังนี้
- บริษัทฯ มีภาระผูกพันในการซื้อเครื่องบินที่ต้องชำระเป็นเงิน 35,429.45 ล้านบาท สำหรับเครื่องบิน A320-200 จำนวน 5 ลำ A350-900 XWB จำนวน 4 ลำ และ B777-300ER จำนวน 3 ลำ คาดว่าจะได้รับมอบในระหว่างปี 2557-2561
- บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Leases) เครื่องบินจำนวน 46 ลำ โดยมีภาระผูกพันที่ต้องจ่ายค่าเช่าเครื่องบินตามสัญญาเช่าดำเนินงานเป็นจำนวนเงิน 4,657.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 151,429.42 ล้านบาท ประกอบด้วย เครื่องบิน A320-200 จำนวน 15 ลำ A330-300 จำนวน 2 ลำ A350-900 จำนวน 8 ลำ B737-400 จำนวน 3 ลำ B777-200 จำนวน 2 ลำ B777-300ER จำนวน 8 ลำ B787-8 จำนวน 6 ลำ และ B787-9 จำนวน 2 ลำ
- กรณี เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมที่สนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2554 บริษัทฯ ได้บันทึกผลเสียหายจากเหตุอุทกภัยสำหรับทรัพย์สินที่เสียหาย ประกอบด้วยเครื่องบิน A300-600 จำนวน 2 ลำ อะไหล่เครื่องบิน (Consumable Part) พัสดุทั่วไปและอุปกรณ์ของฝ่ายช่าง ค่าซ่อมแซมเครื่องมืออุปกรณ์ของฝ่ายช่าง และวัตถุดิบคลังภัตตาคาร ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 บริษัทฯ ได้รับเงินค่าสินไหมทดแทน จากบริษัทประกันภัยเป็นจำนวนเงิน 1,759.02 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ รับรู้รายได้ ค่าสินไหมทดแทนจากเหตุอุทกภัยเป็นจำนวนเงิน 1,652.04 ล้านบาท โดยบริษัทฯได้รับรู้ในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จสำหรับปี 2554 ปี 2555 ปี 2556 และสำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2557 แล้ว จำนวนเงิน 175 ล้านบาท 284.23 ล้านบาท 1,135.09 ล้านบาท และ 57.72 ล้านบาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการเรียกร้องเงินค่าสินไหมชดเชยจากบริษัทผู้รับประกันภัยให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
- ความเสียหายจากเหตุเที่ยวบิน TG 679
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556 เที่ยวบิน TG 679 (เครื่องบินแบบ A330-300 ทะเบียน HS-TEF) ไถลออกนอกทางวิ่ง (Runway) หลังจากการนำเครื่องลงจอด ณ สนามบินสุวรรณภูมิ อุบัติเหตุในครั้งนี้มีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บในเบื้องต้นประมาณ 80 คน และไม่มีผู้เสียชีวิต ในส่วนของเครื่องบินนั้นได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งเครื่องบินลำดังกล่าวข้างต้น ได้ทำประกันภัยไว้ในวงเงิน 32.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 1,014.01 ล้านบาท
กรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น ผู้รับประกันภัยของบริษัทฯ ได้รับทราบแล้ว พร้อมกับได้แต่งตั้งทนายความรวมทั้ง Lost Adjusters เพื่อประสานงานกับบริษัทฯ ทั้งในเรื่องการเรียกร้องค่าเสียหาย การฟ้องร้อง และการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้โดยสาร รวมทั้งการประเมินความเสียหายของเครื่องบินของบริษัทฯ จากเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และ เมื่อวันที่18 กันยายน 2556 บริษัทฯ ได้รับเงิน Interim งวดแรกจากผู้รับประกันภัย จำนวน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 7.92 ล้านบาท
ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ประเมินค่าใช้จ่ายในการซ่อมเครื่องบินร่วมกับ Surveyor ของผู้รับประกันภัย และการทำ Full Repair Assessment โดย บริษัท Airbus ได้ข้อสรุปว่าค่าใช้จ่ายในการซ่อมเครื่องบินสูงกว่าทุนประกันภัย ดังนั้นในเงื่อนไขของการประกันภัยถือว่าเครื่องบินลำดังกล่าวเสมือนเสียหายโดยสิ้นเชิง (Constructive Total Loss/CTL) ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับค่าสินไหมทดแทน จากผู้รับประกันภัยแล้วทั้งสิ้น จำนวน 29.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 942.55 ล้านบาท โดยได้รับเงินในเดือนกันยายน 2557 จำนวน 23.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 740.79 ล้านบาท และรับเงินในเดือนตุลาคม 2557 จำนวน 6.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 201.76 ล้านบาท
ขณะนี้บริษัทฯ ได้รับเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) รวมทั้งผู้โดยสารทั้งชาวไทย และจีนมากกว่า 30 ราย ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา และดำเนินการของบริษัท ที่ปรึกษากฎหมายของผู้รับประกันภัย ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อสู้คดีให้บริษัทฯ และค่าสินไหม ผู้รับประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
ส่วนการแก้ไขปัญหาการขาดทุนจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ในหมายเหตุงบการเงินระบุว่า ผลขาดทุนจากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลงอย่างมีสาระสำคัญ และได้ส่งผลให้อัตราส่วนสภาพคล่อง (Liquidity Ratio) เท่ากับ 0.87 เท่า (ไม่รวมรายรับด้านขนส่งที่ยังไม่ถือเป็นรายได้) และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Interest Bearing Debt to Equity) เท่ากับ 4.02 เท่า สำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2557 ทำให้บริษัทฯ จำเป็นต้องเบิกใช้วงเงินสินเชื่อหมุนเวียน (Committed Revolving Credit Line) เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินให้บริษัทฯ มีกระแสเงินสดหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างเพียงพอ สามารถดำเนินโครงการลงทุนที่ได้ผูกพันไว้แล้ว ในขณะที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนธุรกิจเพื่อให้ผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีการกู้เงินระยะยาว เพื่อชำระค่าเครื่องบินที่ถึงกำหนดรับมอบ ทั้งนี้บริษัทฯ ได้ประมาณการกระแสเงินสดของปี 2557 และ 2558 ซึ่งได้จัดทำประมาณการดังกล่าวข้างต้นให้สอดคล้องกับแผนการแก้ไขปัญหาของบริษัทฯ โดยได้เตรียมการจัดหาเงินทุนสำหรับปี 2557 ไว้เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งวางแผนจัดหาเงินทุนสำหรับปี 2558 เพื่อให้บริษัทฯ สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องต่อไป
บริษัทฯ ได้จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาบริษัทฯ ซึ่งผ่านความเห็นชอบในหลักการจากคณะกรรมการบริษัทฯ แล้วเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2557 โดยในระยะเร่งด่วนมีแผนมุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ลดค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงให้ผลการดำเนินงานในปี 2557 และจัดหาเงินทุนเพื่อให้บริษัทฯ สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไปในอนาคต และบริษัทฯ ได้พิจารณาหารือร่วมกันระหว่างคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหาของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ได้ประชุมกัน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 ทั้งนี้บริษัทได้เข้าร่วมประชุมกับผู้แทนกระทรวงการคลังซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 คณะกรรมการบริษัทฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ และการปฏิรูป บริษัทฯ ประกอบด้วยคณะกรรมการบริษัทฯ และผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก เพื่อกำกับดูแลและกลั่นกรองการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปบริษัทฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อบริษัทฯ จะได้นำแผนยุทธศาสตร์และกรอบการปฏิรูปองค์กรเป็นหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติงานประจำปี 2558 และในระยะปานกลางต่อไป
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 บริษัทฯ ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เพื่อขอปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2558 โดยขอปรับเพิ่มวงเงินกู้ต่างประเทศ สำหรับการจัดหาเครื่องบินในปีงบประมาณ 2558 เพื่อให้วงเงินดังกล่าวได้รับการอนุมัติภายใต้กรอบวงเงินการบริหารหนี้สาธารณะ และเป็นไปตามเงื่อนไขการกู้เงินภายใต้ ECP Programme และต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2557 บริษัทฯ ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อขอให้พิจารณาสนับสนุนวงเงินกู้ต่อในรูปแบบของ European Commercial Paper (ECP) เพื่อใช้เป็น Bridge Financing ก่อนการจัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในการจัดหาเครื่องบินดังกล่าวข้างต้นแล้วเสร็จ
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2558 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะเสนอ โดยเป็นแผนที่บริษัทฯ จะกู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อชำระค่าเครื่องบิน จำนวน 8 ลำ ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนงานการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการด้านขนส่งทางอากาศ ระยะที่ 1 ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย วงเงินรวม 23,540.47 ล้านบาท (หรือเทียบเท่า 759.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา) ทั้งนี้ บริษัทฯ อาจจะใช้เงินกู้ในรูป ECP เพื่อเป็นเงินกู้ระยะสั้นสำหรับจัดหาเครื่องบินดังกล่าวก่อนการจัดหาเงินกู้ระยะยาวมาทดแทนต่อไปด้วย
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.57 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้มอบหมายให้การบินไทย เร่งรัดดำเนินการปรับปรุงแผนการแก้ไขปัญหาองค์การ ใน 3 เรื่อง คือ
1. เน้นที่การลดต้นทุนอย่างจริงจัง และลด Capacity ที่ไม่กำไร โดยแผนการลดต้นทุน จะต้องมีเป้าหมายลดต้นทุนที่ท้าทาย เช่น ร้อยละ 20-30
2. นำเสนอมาตรการที่จะใช้ประโยชน์จากพันธ์มิตร ทั้งในและนอก Star Alliance อย่างเป็นรูปธรรม
3. ให้ความสำคัญกับตำแหน่งยุทธศาสตร์ ต้องวิเคราะห์โดยละเอียด และมีกลยุทธ์ที่ลึกซึ้งกว่าเพียงจะเป็น "Premium Airlines"
ขณะที่เสียงตอบรับในส่วนของพนักงานการบินไทย เกี่ยวกับการกู้วิกฤตครั้งนี้ ก็เริ่มถูกปลุกขึ้นด้วยคลิปวิดีโอชิ้นหนึ่งในอดีตซึ่งมีความยาวประมาณ 4.28 น. เพื่อบอกเล่าประวัติความเป็นมาของสายการบินแห่งนี้ ว่าไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของประเทศไทย และพนักงานการบินไทยทุกคน และทุกคนพร้อมจะฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน ซึ่งเริ่มมีคนการบินไทยส่งแชร์ต่อในโลกออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก
(https://www.facebook.com/video.php?v=905920079437371)
ทั้งหมดนี่ คือ ภาพรวมความเคลื่อนไหวล่าสุดของปฏิบัติกู้วิกฤตการบินไทยในขณะนี้
ส่วนจะทำได้หรือไม่ คำตอบไม่ได้อยู่ที่ "โชคชะตาฟ้าดิน" เป็นผู้กำหนด แต่อยู่คนการบินไทยทุกคน ที่จะออกมาร่วมพลังช่วยกันคิดช่วยกันทำคนละไม้คนละมือ
เพื่อให้การบินไทยกลับมาบินสูงขึ้นอีกครั้ง!
#เชิญชวนติดตามข่าวสารสำนักข่าวอิศรา ได้ด้วยการกด "Like" ที่ แฟนเพจ "I love isranews"