สภาทนายฯ เรียกร้องสื่อขอโทษ กรณีเสนอข่าวกระทบวิชาชีพทนายความ
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 14.00 น. นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ พร้อมด้วย นายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ, นายสุวิทย์ เชยอุบล อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการฯ และนายชวน คงเพชร อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษฯ ร่วมแถลงการณ์เรื่อง "เมื่อประชาชนหมดสิทธิ์อุทธรณ์/ฎีกาคดีต่อศาลฎีกาในคดีแพ่งและคดีอาญา (ยาเสพติด) กับข่าวที่ไม่ชอบด้วยจริยธรรมของสื่อสิ่งพิมพ์" และเรียกร้องให้สื่อมวลชนขอโทษผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ
โดยนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ. แถลงว่า เป็นที่น่าเสียใจต่อสื่อมวลชนสายงานหนังสือพิมพ์บางฉบับที่ลงข่าวให้ร้ายวิชาชีพทนายความในทางที่สร้างความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชนผู้อ่าน กรณีสภาทนายความส่งผู้แทนไปชี้แจงต่อกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยไม่เห็นด้วยกับการเสนอกฎหมายของศาลยุติธรรมที่ไปตัดสิทธิของประชาชนในการเสนอคดีต่อศาลฎีกา ซึ่งร่างแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับที่สภานิติบัญญัติได้รับไว้เพื่อพิจารณานั้น หากผ่านใช้เป็นกฎหมายจะทำให้คดีแพ่งและคดีอาญา (ยาเสพติด) สิ้นสุดแค่ชั้นศาลอุทธรณ์โดยศาลได้ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการเดิมให้เป็นการต้องขออนุญาตต่อผู้พิพากษา 4 ท่านแทน ซึ่งสภาทนายความเห็นว่าขัดด้วยหลักการสากลของสิทธิมนุษยชนที่องค์กรในประเทศไทยพึงถือปฏิบัติ
ในที่ประชุมดังกล่าวไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องค่าตอบแทนในชั้นฎีกาเลย แต่สื่อกลับไปเสนอข่าวว่าเป็นเพราะทนายความต้องการค่าจ้างในชั้นฎีกานั้น เรื่องนี้ต้องทราบกันก่อนว่า การฎีกานั้นเป็นการเสนอฎีกาเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่ออุทธรณ์/ฎีกาในข้อกฎหมายและหรือข้อเท็จจริงสู่การพิจารณาของศาลฎีกาไม่มีการสืบพยานเหมือนศาลชั้นต้น การจะไปเรียกค่าทนายความให้มากมาย ไม่อาจเป็นไปได้ และค่าวิชาชีพทนายความนั้น ไม่ได้สูงมากมายในชั้นฎีกา ความจริงก็ยังน้อยกว่าค่าธรรมเนียมศาลและการวางหลักประกัน(เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตจากศาลในการขอทุเลาคำบังคับของศาลอุทธรณ์/ศาลชั้นต้น ศาลชำนัญพิเศษ) ในกรณีเป็นฝ่ายต้องอุทธรณ์/ฎีกา ประการสำคัญตัวความจะได้รับการอธิบายอย่างละเอียดถึงประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่จะใช้เป็นเหตุผลที่จะอุทธรณ์/ฎีกา ซึ่งเป็นสิทธิของตัวความที่จะพิจารณาด้วยว่าจะอุทธรณ์/ฎีกาต่อไปด้วยไหม ถ้าจะต้องใช้เงินวางศาลเรื่องค่าธรรมเนียมศาล และวางหลักประกันในการต่อสู้คดีต่อไปในจำนวนที่สูง
กรณีการกล่าวอ้างของสื่อมวลชนดังกล่าวจึงเป็นการทำให้เกิดการเข้าใจผิดเป็นการละเลยหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะต้องสอบถามผู้ที่ถูกกล่าวหาอีกข้างหนึ่งก่อนจะเสนอข่าว ไม่ใช่หูเบาฟังความข้างเดียวแล้วก็เขียนส่งไปเลย สื่อมวลชนต้องเป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระรักศักดิ์ศรี คงไม่ต้องไปเขียนเชียร์ใครหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงได้รับหรือฟังมาเท่านั้น จึงขอให้สื่อมีวิจารณญาณที่ดีสมกับที่บรรพชนของท่านได้สะสมไว้อย่ารีบทำร้ายความดีของบรรพชนสื่อให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาเลย
ทางสภาทนายความเองก็เคยมีความตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์ในกรณีที่สมาชิกของท่านถูกคุกคามต่อเสรีภาพในการทำข่าว เราจึงอยากจะขอให้สมาชิกหรือผู้ประกอบการสื่อ สอบถามทางสภาทนายความซึ่งเป็นสภาวิชาชีพก่อนว่าความจริงเป็นอย่างไร สภาทนายความยินดีที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบ สื่อที่ลงพิมพ์ข้อความดังกล่าวจึงควรที่จะทำคำขอโทษสภาทนายความและผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ.