ก.วิทย์ฯ ผนึก มท.นำ วทน. เสริมชุมชนแกร่ง ตั้งปราชญ์ที่ปรึกษาทุกจังหวัด
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เล็งหาปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ อาจารย์ นักวิจัย หรือธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ นั่งให้คำปรึกษา หวังชาวบ้านจัดการตัวเองด้วยองค์ความรู้
5 กุมภาพันธ์ 2558 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงแผนปฏิรูปกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อพัฒนาชุมชนว่า เป็นหัวใจหลักของการปฏิรูปประเทศ คือนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน) เพื่อสังคมและชุมชนอันนำไปสู่การพัฒนาที่ทำให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์ จาก วทน. จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สร้างโอกาสให้ให้ผู้ประโยชน์ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา ได้มีโอกาสเรียนรู้ และบริหารจัดการความรู้ด้วยตัวเอง
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ความสำเร็จในกรณีของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ได้นำ วทน. ลงไปพัฒนาหมู่บ้านลิ่มทอง จังหวัดบุรีรัมย์ ดำเนินการร่วมกับชาวบ้านนำแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมและเทคโนโลยี จีพีเอส (GPS) มาใช้ศึกษาทิศทางการไหลของน้ำ ขุดสร้างบ่อพักน้ำดักตะกอนอย่างเป็นระบบ ทำให้เกษตรกรรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมแลน้ำแล้งได้อย่างรู้ทัน เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในชุมชนอย่างเป็นระบบ เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปี ต่อยอดการเกษตรแบบครบวงจร ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ควรมีที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ประจำจังหวัดในทุกจังหวัด ซึ่งอาจมาจากปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัย หรือธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ประโยชน์จาก วนท. เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ มาให้คำปรึกษากับผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง ซึ่งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นที่ปรึกษาในคณะทำงานพัฒนาของแต่ละจังหวัดด้วย
"ขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดข้อเสนอนี้กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อกระจายความเจริญให้กับท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป"ดร.พิเชฐ กล่าว และว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีองค์ความรู้มากมายที่จะสามารถช่วยเหลือชุมชน แต่อาจยังขาดเรื่องบริหารจัดการและประสานความร่วมมืออย่างเป็นระบบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดระบบการทำงานใหม่ หรือ Re-packaging เพื่อให้การปฏิรูป สทน.สัมฤทธิ์ผล จะขยายผลสำเร็จจากงาน สทอภ. และ สสนก. โดยให้หน่วยงานทั้งหมดมาร่วมบูรณาการงานเพื่อช่วยท้องถิ่นชุมชนอย่างเป็นระบบให้ชาวบ้านได้ตระหนักถึง วทน. และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ชาวบ้านจัดการตนเองด้วยความรู้ด้าน วทน.
"กระทรวงวิทยาศาสตร์ต้องสร้างเครือข่ายของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อนำ วทน. มาสร้างความเข้มแข็งกับชุมชนและสังคมดังตัวอย่างความสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์กับกองพันทหารช่างที่ 51 และชาวบ้านในการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบ้านกุดใหญ่ อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยการบริหารจัดการที่ประสบความสำเร็จเกิดจากความเข้มแข็งของชุมชนที่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ให้เกิดผล โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง มีการเสียสละพื้นที่บางส่วนจำนวน 15 ไร่ เพื่อให้เป็นที่เก็บน้ำของชุมชน และทำให้ชาวบ้านตัดสินใจทำนาปรังกันมากขึ้น"