มนุษยธรรมหรือความอยู่รอด : เส้นขนานที่ยากบรรจบใน “รพ.อุ้มผาง”
“ฉะมื่อไม่นึกไม่ฝันว่าแม่จะมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ ก่อนที่จะเข้าโรงพยาบาลเมื่อสองเดือนก่อน แม่สั่งเสียพ่อกับลูกทุกคนเอาไว้แล้ว” พวกเราไม่กล้าพาแม่ไปหาหมอตอนมีอาการใหม่ ๆ เพราะแม่เป็นคนไม่มีบัตร แต่แม่ก็ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ฉะมื่อรู้สึกขอบคุณทุกคนที่โรงพยาบาลอุ้มผางค่ะ”
1
คำพูดที่พรั่งพรูด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและแววตาซาบซึ้งของฉะมื่อ เป็นเหมือนแรงผลักดันให้คนทำงานในโรงพยาบาลชายแดนแห่งนี้มุ่งมั่นทำงานกันต่อไป
“ฉะมื่อ” เป็นบุตรสาวคนที่สองของ “นางชิชะพอ” หญิงปกาเกอญอ(กะเหรี่ยง)อายุ 48 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคไตระยะสุดท้าย เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลอุ้มผางตั้งแต่ 2 กุมภาพันธ์ 2554 เธอเป็นบุคคลที่กำลังอยู่ระหว่างการสำรวจเพื่อขึ้นทะเบียนบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (คนเลข 0) จึงไม่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลจากกองทุนใด ๆ ทางโรงพยาบาลอุ้มผางทำได้เพียงให้การรักษาทางยา เพราะการฟอกล้างไตมีค่าใช้จ่ายสูงมากกระทั่งวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 อาการของชิชะพอทรุดหนักจนแพทย์ผู้ดูแลต้องทำการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลแม่สอด เพื่อรับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางโรคไต
นายแพทย์พิสิฐ ลิมปธนโชติ แพทย์เฉพาะทางประจำหน่วยไตเทียมโรงพยาบาลแม่สอด ให้ชิชะพอพักฟื้นเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลแม่สอดเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นราวสองสัปดาห์ จึงเจาะเส้นเลือดบริเวณต้นคอเพื่อฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จากนั้นจึงส่งกลับมารักษาและต้องเดินทางมารับบริการฟอกเลือดที่หน่วยบริการที่มีเครื่องไตเทียมของโรงพยาบาลอุ้มผาง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้งๆ ละ 4-5 ชั่วโมง
ในส่วนของค่าใช้จ่ายการเจาะเส้นเลือด ทางโรงพยาบาลแม่สอดแจ้งว่า ไม่สามารถให้การอนุเคราะห์ผู้ป่วยกรณีนางชิชะพอได้ ทางโรงพยาบาลอุ้มผาง จึงยินยอมรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว โดยให้เป็นหนี้สิ้นเรียกเก็บมายังโรงพยาบาลแต่ด้วยภาระปัจจุบันของโรงพยาบาลอุ้มผางจึงยังไม่สามารถชดใช้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป ราวสามแสนบาทต่อปี
“ชิชะพอ” เป็นเพียงตัวอย่างเดียวของคนไข้จำนวนสามหมื่นกว่าคนที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอุ้มผาง โดยไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
2
ปี 2534 แพทยศาสตร์บัณฑิตหนุ่ม รุ่นที่ 1 จากคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เดินทางละทิ้งความเจริญในเมือง เพื่อมาเป็นแพทย์ใช้ทุน งานเวชปฏิบัติทั่วไปที่โรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งขณะนั้นเป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง
นายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ เล่าถึงเรื่องราวครั้งนั้นว่า “แพทย์รุ่นพี่ ๆ ที่อยู่มาก่อน และกำลังจะไปเรียนและผมมาอยู่แทนบอกว่า อุ้มผางอยู่แล้วเหงาเพราะมันเงียบมาก เงียบจนได้ยินเสียงหญ้างอก แล้วก็จริงซะด้วย สองสามเดือนแรก เหงาและทุกข์มาก อยากกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในเมือง”
“พอเลี้ยวไปอีกทาง เจอกับความสงบ มีสติ คิดถึงเรื่องราวต่างๆรอบตัว เงยหน้าจากเรื่องราวตนเองหันไปมองผู้อื่น จึงเห็นว่าคนไข้เขาเจ็บป่วย ทุกข์ทรมานกว่าเรามากมาย เขาด้อยโอกาสทุกๆด้าน เราช่วยเขาได้แค่รักษาจากโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น ผมก็เลยทำงานต่อมาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ก็ยี่สิบปีมาแล้วครับ”
ด้วยวิสัยทัศน์ดังกล่าวของนายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ หรือ “หมอตุ่ย” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ทำให้การดำเนินกิจการของโรงพยาบาล มีนโยบายชัดเจนว่า ต้องให้บริการแก่ประชาชนทุกคนโดยไม่ได้เลือกว่าเขาจะเป็นคนสัญชาติใด เชื้อชาติไหนอย่างเท่าเทียมกัน
แม้กระทั่งการดูแลด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนอุ้มผาง หมอตุ่ยเองก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่ง จึงนำรายรับของตนเองที่นอกเหนือจากเงินเดือน อาทิ เงินเหมาจ่าย เงินประจำตำแหน่ง จัดตั้งเป็นเงินทุนการศึกษาสำหรับเด็ก ปัจจุบันมีเด็กที่จบการศึกษาไปแล้วจำนวน 8 คน และกำลังศึกษาอยู่อีก 8 คน
3
ภารกิจทางมนุษยธรรมของโรงพยาบาลอุ้มผาง ดำเนินต่อเนื่องมา ขณะที่ประชากรทั้งอำเภอตามทะเบียนราษฎรมีเพียง 28,000 คนเศษ แต่อุ้มผางมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่ายาวถึง 180 กิโลเมตร ทำให้มีพี่น้องชาติพันธุ์ คนไทยเสมือนไร้สัญชาติ ที่รอการพิสูจน์จุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทยกลายเป็นประชากรแฝงซึ่งไม่มีเลขประจำตัวประชาชน รวมถึงราษฎรในหมู่บ้านตามตะเข็บชายแดน ตลอดจนประชากรในศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านอุ้มเปี้ยม และศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพ มาเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลอุ้มผาง
ทำให้การรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล แม้มีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 2544 และ ความพยายามในการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขตามหลักนโยบายหลักประกันสุขภาพ โดยมีกองทุนเพื่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติ ครม. เดือนมีนาคม 2553 เข้ามาช่วย คนเหล่านี้ซึ่งจำนวนมากเป็นกระเหรี่ยงดั้งเดิมติดพื้นที่มาเนิ่นนาน เมื่อยังไม่สามารถพิสูจน์จุดเกาะเกี่ยวได้ก็ยังคงรอดหลุดไปใน “ช่องว่าง” นั้น ส่งผลให้รายรับของโรงพยาบาลอุ้มผางสวนทางกับรายจ่ายจริงที่เกิดขึ้น จนกระทั่งประสบภาวะหนี้สินและค่าใช้จ่ายสังคมสงเคราะห์สูงขึ้นสะสมเรื่อยมาจนยอดล่าสุดในปี 2553 อยู่ที่ราว 36,000,000 บาทเศษ
ค่าใช้จ่ายหลักอีกส่วนที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของสถานบริการสาธารณสุขก็คือ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ไม่เพียงใช้ในโรงพยาบาล แต่ยังสนับสนุนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) 7 แห่ง สถานบริการสาธารณสุขชุมชน(สสช.) 6 แห่ง สุขศาลาพระราชทาน 2 แห่งและสุขศาลาหมู่บ้าน 13 แห่งในฐานะแม่ข่าย ทำให้โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายด้านยาและเวชภัณฑ์ในปีงบประมาณ 2552 ที่ 9,273,567.05 บาท ปีงบประมาณ 2553 11,808,275.07 บาท และ ปีงบประมาณ 2554 (ยังไม่หมดปีงบฯ) 10,035,139.03 บาท
นายเทวฤทธิ์ ประเพชร เภสัชกรชำนาญการ หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรมชุมชน กล่าวถึงความพยายามที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลด้วยการรณรงค์ให้ผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หอบหืด นำยาเดิมที่แพทย์สั่งกลับมาที่โรงพยาบาลทุกครั้งที่มีการนัดหมาย เพื่อลดการจ่ายยามากเกินไป เพราะยาที่ผู้ป่วยได้รับคราวก่อนแต่ยังใช้ไม่หมด หากเก็บไว้นานจะหมดอายุ
แม้จะมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านยาและเวชภัณฑ์ลงดังกล่าว งบประมาณค่ายาก็ยังคงสูงและไม่สามารถหาเงินมาชำระแก่บริษัทยาได้ โดยเฉพาะในช่วงใกล้สิ้นสุดปีงบประมาณเกือบทุกปี วิภาดา ดิษฐ์เย็น นักวิชาการพัสดุ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลงบประมาณในส่วนนี้กล่าวถึงภาระที่ต้องผ่อนผันกับบริษัทยาว่า
“เกือบทุกปีจะมีหนี้สินกับบริษัทยา พอหนี้เพิ่มบริษัทจะโทรมาเตือนให้ชำระหนี้คงค้างก่อน แล้วค่อยสั่งยาล็อตใหม่ เราจะรีบเคลียร์ให้หลังจากตัดหนี้สินพวกค่าตอบแทนเพื่อให้มีคนทำงานต่อไปเรียบร้อยแล้ว บางทีก็เหนื่อยและท้อมากค่ะ แต่พอคิดว่าคุณหมอตุ่ยเหนื่อยกว่าพวกเรามาก ก็เลยทำหน้าที่ต่อไป”
4.
ด้วยความที่อำเภออุ้มผางเป็นอำเภอที่อยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอเมืองมากที่สุดในประเทศไทย คือมีระยะห่างถึง 247 กิเมตร ความห่างไกลเชิงคมนาคมดังกล่าว ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่อำเภออุ้มผางมีราคาขายสูงกว่าที่อื่นๆ เมื่อรวมค่าขนส่งแล้ว
การพึ่งพาตนเองจึงเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการบริหารงาน แขกที่มาเยือนโรงพยาบาลอุ้มผางแล้วมีโอกาสไปเยี่ยมชมการทำงานของฝ่ายยานพาหนะ หลายคนจะรู้สึกแปลกใจที่บรรยากาศของโรงจอดรถที่นี้แตกต่างจากโรงจอดรถของโรงพยาบาลทั่วไป
สภาพรถทั้งเก่าและใหม่ที่จอดเรียงราย ทุกคันล้วนแต่มีพนักงานขับรถของโรงพยาบาลอุ้มผางดูแลรับผิดชอบ นอกเหนือจากบำรุงดูแลตามปกติ เช่น เติมลมยาง เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เป่ากรอง ฯลฯ รถบางคันยังจอดซ่อม ปะ ผุ พ่นสี โดยไม่ต้องพึ่งพาอู่ซ่อมรถภายนอกซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง
บริเวณใกล้กับห้องพักเวรของฝ่ายยานพาหนะ กั้นเป็นห้องติดตั้งเครื่องจักรสำหรับผลิตน้ำมันไบโอดีเซล จากน้ำมันพืชใช้แล้ว น้ำมันไบโอดีเซลที่ได้มาใช้สำหรับเติมเครื่องปั่นไฟในยามที่มีการออกพื้นที่นอกโรงพยาบาลของฝ่ายทันตกรรมชุมชน ฝ่ายส่งเสริมสุขภาพชุมชน รวมทั้งใช้เติมรถอีต๊อก (เครื่องรถไถยนต์ดัดแปลงต่อตัวถังสำหรับบรรทุกคนไข้) เพื่อใช้รับส่งผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลซึ่งรถยนต์ไม่สามารถเข้าถึง
โดยผู้ทำการรวบรวมน้ำมันเหลือจากการทำกับข้าวของโรงครัวโรงพยาบาล รวมทั้งติดต่อขอซื้อและรับบริจาคน้ำมันใช้แล้วจากแม่ค้าในตลาดเพื่อเป็นวัตถุดิบผลิตน้ำมันไบโอดีเซล คือนางสาวจีรนันท์ เวชกิจ นักโภชนากรประจำโรงพยาบาล ซึ่งกล่าวว่า “รู้สึกภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคนไข้ที่อยู่ห่างไกล แม้จะไม่ได้ช่วยรักษาพยาบาล ดูแลเหมือนหมอหรือพยาบาล แต่ก็เป็นการช่วยเหลือทางอ้อม”
5
แนวคิดเรื่องความเข้มแข็งให้กับสถานบริการปฐมภูมิในพื้นที่อุ้มผางเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ ที่ดำเนินการด้วยความเชื่อมั่นว่าหากสถานบริการปฐมภูมิที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดอยู่ในสถานะอันเป็นที่พึ่งพาให้กับคนป่วยที่อาการไม่หนัก รวมถึงงานส่งเสริมสุขภาพ เช่น ฉีดวัคซีนงานดูแลหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด งานดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ก็จะช่วยลดภาระการดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวของโรงพยาบาล
โรงพยาบาลอุ้มผางจึงให้การสนับสนุนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) 7 แห่ง สถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) 6 แห่ง สุขศาลาพระราชทาน 2 แห่งและสุขศาลาประจำหมู่บ้าน 13 แห่ง ในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นนอกเหนือจากงบประมาณของราชการ สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ การซ่อมบำรุงยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนระบบการติดต่อสื่อสารซึ่งจำเป็นมากในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก ปัจจุบันระบบโครงสร้างพื้นฐานและการสื่อสารดำเนินการอย่างครอบคลุมทุกสถานบริการทั่วทั้งพื้นที่อำเภออุ้มผาง
6
โรงพยาบาลอุ้มผางยังมีความร่วมมือกับภาคประชาสังคมอื่นๆ เช่น โครงการอุ้มผางศึกษา เพื่อสำรวจปัญหาสถานะและสิทธิของคนในพื้นที่อำเภอออุ้มผางและพัฒนาไปสู่การเป็นคลินิกกฎหมายอุ้มผาง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ,คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, โรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก, สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ และโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคล
การร่วมเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลนำร่องโครงการจดทะเบียนการเกิดแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นโครงการที่ร่วมมือกันระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักบริหารการทะเบียนราษฎร สนับสนุนโดยองค์การยูนิเซฟ เพื่อติดตามการจัดทำสูติบัตรอันเป็นต้นทางของปัญหาความไร้สถานะของบุคคล เมื่อทราบสถานะบุคคลที่ชัดเจนของคนไข้ โรงพยาบาลจะได้ติดตามสิทธิในการรักษาพยาบาลที่ถูกต้องต่อไป
ถึงแม้ว่าโรงพยาบาลอุ้มผางจะมีมาตรการพึ่งพาตนเองและลดค่าใช้จ่ายอย่างเต็มกำลัง แต่ภาระการดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาล และ การสนับสนุนหน่วยงานปฐมภูมิ เป็นภาระหนักอึ้งที่ต้องแบกรับอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆตลอดไป สวนทางกับงบประมาณที่สามารถเบิกจ่ายได้จากส่วนราชการ
เส้นทางสายมนุษยธรรมกับเส้นทางแห่งความอยู่รอดขององค์กรเอง ดูจะเหมือนเป็นเส้นทางคู่ขนานที่ไม่อาจมีวันมาบรรจบกันได้
การก่อตั้ง “มูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผาง” จึงน่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะเชื่อมโยงเส้นทางทั้งสอง มูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผาง
ไม่มีวัตถุประสงค์จะปลดเปลื้องหนี้สินที่โรงพยาบาลมีอยู่ หากแต่จะทำให้โรงพยาบาลสามารถให้การช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนใดๆ ได้ และใช้จ่ายในส่วนที่เกินจากการสนับสนุนงบประมาณของส่วนราชการ อาทิ ค่าตอบแทนลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งเป็นอัตรากำลังสำคัญที่เป็นหัวใจของการดำเนินกิจการโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง .
(หมายเหตุ : ผู้อ่านที่มีจิตศรัทธาจะเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิฯ สามารถร่วมบริจาคได้ที่ ธนาคารออมสิน สาขาอุ้มผาง เลขที่บัญชี 020044702783 ชื่อบัญชี “กองทุนก่อตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผาง” ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 081-9500080) .