ตอบ 4 ประเด็น เหตุสปช.ตีกลับ ร่างพ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีมติ 145 เสียง ต่อ 72 เสียง ให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค นำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค กลับไปแก้ไขใหม่ หลังสมาชิกสปช.ส่วนใหญ่ เห็นตรงกันว่า ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องอำนาจหน้าที่ ที่ยังคงซ้ำซ้อนกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รวมทั้ง ต้องการให้กำหนดให้ชัดเจนว่า หน่วยงานดังกล่าวจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเอกชน หรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา
แม้หลายฝ่ายจะยอมรับร่างพ.ร.บ. องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค นับเป็นกฎหมายที่ดีมากฉบับหนึ่ง ซึ่งตกค้างมาหลายรัฐบาล อีกทั้งการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 61 ที่รับรองสิทธิบุคคล ซึ่งเป็นผู้บริโภค ย่อมได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง มีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยา รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค และกำหนดให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐ
เชื่อกันว่า หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านจะทำให้ผู้บริโภครู้เท่าทันปัญหา ถูกเอาเปรียบน้อยลง มีมาตรการต่างๆ เช่น การคิดค่าโทรศัพท์เป็นวินาที เกิดเครือข่ายโครงสร้างการคุ้มครองผู้บริโภคโดยภาคประชาชนเพิ่มขึ้น ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเทียบเท่าประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ ฮ่องกง เป็นต้น
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สปช. ระบุถึงกรณีที่ สปช.ยังไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้ ไว้พิจารณาเพื่อส่งให้รัฐบาลนั้น โดยขอให้ กมธ.กลับไปทบทวนเนื้อหาใหม่ ต่อจากนี้ กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค มีเวลาทำงาน 30 วัน
"ไม่ใช่ สปช. "คว่ำ" กฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแต่อย่างใด ด้วย สปช.มีมติเห็นชอบ รับหลักการไปแล้ว เพียงแต่ให้กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค กลับไปปรับปรุงแก้ไขสาระของกฎหมาย และให้สมาชิก สปช.แปรญัตติ ภายใน 7 วัน"
ส่วนประเด็นใดบ้างที่สมาชิก สปช.ตีกลับร่างพ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
1.กรณีการตั้งองค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เกรงว่าจะไปทับซ้อนการทำหน้าที่ของ สคบ. หรือไม่/ มีสคบ.อยู่แล้วทำไมต้องมีองค์กรนี้อีก
เหตุผลของเรื่องนี้พอจะอธิบายได้ ดังนี้ สคบ. เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสัญญา โฆษณา ฉลากและจัดการเรื่องกิจการด้านอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นสคบ.ก็ยังมีหน้าที่จับปรับผู้ประกอบการที่ทำหน้าที่ไม่ถูกต้องเช่นเดิม
แต่ยังมีปัญหาผู้บริโภคอีกมากที่สคบ.ไม่ได้ดูแล หรือไม่สามารถตรวจสอบหน่วยงานรัฐได้ เมื่อหน่วยงานรัฐทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการ เช่น การขึ้นค่าก๊าซ NGV การขึ้นค่าแทกซี่ แล้วผู้บริโภคไม่เห็นด้วยก็ต้องไปฟ้องคดี องค์การอิสระจะช่วยทำหน้าที่ให้ความเห็น หาข้อมูล ทำงานวิจัย เพื่อให้การตัดสินของรัฐมีการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้ภาคประชาสังคม องค์การพัฒนาเอกชนมีความเข้มแข็งช่วยประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ ภาคธุรกิจ องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม ซึ่งไม่ได้ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานรัฐแต่อย่างใด
2.กรรมการสรรหาเพิ่มบุคคลเข้ามาสรรหาได้เพิ่มหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสารมวลชน ภาคธุรกิจ เช่น กกร.
การเพิ่มจำนวนกรรมการสรรหา คงเป็นเรื่องรอง จากหลักการที่เขียนไว้ในกฎหมาย เรื่องนี้หากกลุ่มนั้นจะเข้ามาเป็นตัวแทนในคณะกรรมการองค์การ ฯ ก็คงไม่เหมาะสม หากจะเข้ามาทำหน้าที่กรรมการ แล้วส่งคนเข้ามาเป็นกรรมการสรรหา ภาคธุรกิจควรเข้ามาเป็น เช่นจะเห็นได้ว่า ไม่มีตัวแทนองค์กรผู้บริโภค ไม่มีตัวแทนองค์กรด้านสื่อ เพราะจะเข้ามาเป็นคณะกรรมการโดยตรง
3.การตรวจสอบองค์กรนี้
ต้องถือว่ากฎหมายฉบับนี้เขียนกลไกการตรวจสอบไว้เข้มข้นมาก เช่น กำหนดความผิดของคณะกรรมการ กรณีที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทั้งจำและปรับตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท
รวมทั้ง การที่จะต้องมีหน้าที่จัดทำรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา การตรวจสอบการเงินโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมทั้งการจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานโดยสถาบันหรือองค์กรที่เป็นกลางทุก 3 ปี ซึ่งจะต้องแสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏชัดในด้านประสิทธิผล ประสิทธิภาพ การพัฒนาองค์การ และการสนับสนุนจากประชาชน
4. เป็นองค์กรที่จะเป็นภาระทางงบประมาณ เหมือนกสทช. ที่ตรวจสอบไม่ได้
องค์กรนี้มีงบประมาณต่อหัวประชากรน้อยกว่าขนมเด็ก 1 ซอง เพราะกำหนดไว้ให้รัฐสนับสนุนขั้นต่ำ3 บาทต่อประชากร 1 คน เพื่อให้รัฐต้องสนับสนุนชัดเจน และไม่ถูกแทรกแซงแม้รัฐจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ให้องค์การนี้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
|