700 องค์กร ขันน็อต สธ.ถามหากฎหมายบุหรี่ฉบับใหม่
รมว.สธ.เผยความคืบหน้า กฎหมายบุหรี่ฉบับใหม่ ขณะนี้รอเพียงหนังสือตอบกลับจากกระทรวงเกษตรฯ - คลัง ก่อนจะเสนอครม. ในสัปดาห์หน้า
ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมทุกภาคส่วนล้วนเห็นความจำเป็นของการมีกฎหมายบุหรี่ฉบับใหม่ เพราะต่างก็เป็นห่วงอนาคตของลูกหลานไทย ไม่อยากให้ตกเป็นทาสของบุหรี่ และอุตสาหกรรมบุหรี่ ขณะนี้สมาพันธ์พร้อมด้วยสมาชิก และเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ รวม 700 องค์กร ต่างเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่กฎหมายบุหรี่ จะได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และเข้าสู่ สนช.โดยลำดับ
“เราเป็นห่วงว่ายิ่งกฎหมายคลอดช้า ยิ่งทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ เพราะอัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยที่สูงถึง 40% ซึ่งผู้แทนมูลนิธิโรคปอดของโลก มีความเห็นว่า ปัญหาการสูบบุหรี่ของชายไทยยังสูงในระดับวิกฤต วันนี้จึงมาทวงถามกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้รัฐบาลเร่งเดินหน้าเรื่องนี้โดยเร็ว ขณะนี้เด็กไทยติดบุหรี่แล้วเกือบ 2 ล้านคน และจะมีเด็กอีกเป็นจำนวนมากทยอยเข้าสู่การเป็นลูกค้าของบริษัทบุหรี่ เพราะกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีช่องโหว่ และใช้มากว่า 20 ปีแล้ว”
ศ.พญ.สมศรี กล่าวว่า การมุ่งจัดการที่ต้นเหตุของปัญหา หรือพาหะนำโรค อย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งพาหะนำโรคของการสูบบุหรี่ มิใช่ยุง หรือแมลงใดๆ หากแต่เป็นบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ที่มุ่งใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อกระตุ้นและจูงใจให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ และเพื่อทำให้ลูกค้าเก่าหรือนักสูบหน้าเดิมยังคงสูบต่อไป
"ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ที่กระทรวงสาธารณสุขจัดทำขึ้น ถือเป็นความพยายามที่จะอุดช่องโหว่ของกฎหมายปัจจุบันซึ่งใช้มานานหลายสิบปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามโฆษณาส่งเสริมการขายอย่างเบ็ดเสร็จ ยิ่งกว่านั้นกฎหมายใหม่นี้ เป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยลดภาระที่สังคมไทยต้องแบกรับจากการสูบบุหรี่ ซึ่งปัจจุบันทั้งรัฐบาลและคนไทยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคจากการสูบบุหรี่ถึงปีละกว่า 50,000 ล้านบาท
ดร.ศรัณญา เบญจกุล อาจารย์จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงได้เฉลี่ยปีละ 3 หมื่นคน แต่หากประเทศไทยต้องการลดการสูบบุหรี่ลงให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2568 เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ตามมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อปี 2554 ประเทศไทยต้องทำงานควบคุมยาสูบหนักขึ้นจากเดิม 3 เท่า เพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงให้ได้เฉลี่ย 1 แสนคนต่อปี
ทั้งนี้จากผลการพยากรณ์อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทย ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปี 2568 พบว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้านี้ อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 17.5 หรือมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ 10.5 ล้านคน ตามแนวโน้มที่ผ่านมาตั้งแต่ พ.ศ.2534 ถึง 2554 ซึ่งหากประเทศไทยต้องการบรรลุเป้าหมายระดับโลก เราควรมีอัตราการสูบบุหรี่อยู่ที่ร้อยละ 15.0 หรือมีผู้สูบบุหรี่ ประมาณ 9.0 ล้านคนเท่านั้นในปี 2568
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติฯ ที่หลายคนมองอาจทำให้บางกลุ่ม เช่น เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบเดือดร้อน ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้ทำการชี้แจงข้อมูลทำความเข้าใจไปแล้วว่า ไม่เป็นความจริง และไม่มีความเหลื่อมล้ำหรือเกินเลยกับกฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดไว้ อีกทั้งเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ได้เชิญ กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ รวมทั้งโรงงานยาสูบแห่งประเทศไทย มาพูดคุยทำความเข้าใจแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเสนอครม. ซึ่งรอหนังสือตอบกลับความเห็นอีกเพียง 2 หน่วยงาน คือกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงการคลัง คาดว่าจะได้ภายในสัปดาห์นี้ และคาดว่าจะเสนอครม. ในสัปดาห์หน้า เพื่ออนุมัติผ่านร่างฯ นำเสนอสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวด้วยว่า การผลักดันการอออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขมิอาจดำเนินการตามลำพังให้สำเร็จได้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เนื่องจากมีปัจจัยด้านสังคมอื่นๆ มาประกอบ การดำเนินการรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ที่ผ่านมาจากหลายฝ่าย หลายภาคส่วน นับว่าได้ผล สิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่มากขึ้น แม้ว่ายังไม่เป็นที่พอใจ แต่หากไม่ทำ จำนวนผู้สูบบุหรี่จะมากกว่านี้ อย่างไรก็ตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อาจใช้เวลาต่อไปอีก เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอนของกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งกลุ่มที่ยังไม่เห็นด้วย ก็สามารถเข้าร่วมชี้แจงในอีก 2 ขั้นตอน คือขั้นตอนของกฤษฎีกา ที่คาดว่าจะใช้เวลา 4-6 เดือน และขั้นตอนของกรรมาธิการ