จดหมายจากนายกฯชวนคนไทยร่วมโรดแมบ ให้ 4 ภาคส่วนเร่งระดมความคิดปฏิรูป
อภิสิทธิ์อ่านจดหมายถึงคนไทยชวนเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ระบุแผนปรองดองคืบ สภาพัฒน์ฯ-สช.-สสส. 3 หน่วยงานเร่งหากลไกขับเคลื่อน ประชุมสมัชชาหาข้อยุติ 17 มิ.ย. อาจออกระเบียบสำนักนายกฯรองรับ คาดมีความชัดเจนแผนปฏิรูปสังคมลดความเหลื่อมล้ำ ขอให้ 4 ภาคส่วน อปท.-เอกชน-สถาบันการศึกษา-สื่อมวลชน จัดเวทีระดมความเห็นปฏิรูปแวดวงตนเองและปฎิรูปประเทศใน 2 สัปดาห์
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน เวลา 18.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อ่านจดหมายของตนเชิญชวนประชาชน “ร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย” ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ใจความว่า หลายปีที่ผ่านมาคนไทยสะเทือนใจกับหลายเหตุการณ์ที่สร้างความบอบช้ำให้ประเทศ ชาติประชาชนอย่างรุนแรง ที่น่าเจ็บปวดที่สุดคือความรุนแรงสูญเสียที่เกิดขึ้นล้วนมาจากการกระทำของคน ไทยด้วยกัน ทุกคนที่รักบ้านเมืองไม่อยากเห็นความสูญเสียอีก เพราะจะลึกซึ้งเกินเยียวยาได้ วันนี้ประเทศไทยต้องเดินหน้า แต่ความโกรธเคียดแค้นชิงชังไม่สามารถสร้างอนาคตได้ ถึงเวลาแล้วที่จะปรองดองเพื่อปฏิรูปประเทศ รวมใจเป็นหนึ่งเพื่อสถาบันหลักของชาติ สร้างความเสมอภาค สื่อสารกันอย่างสร้างสรรค์ ค้นหาและยอมรับความจริง โดยมีการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย มีประสิทธิภาพและโปร่งใส
“รัฐบาลทำให้เกิดขึ้นฝ่ายเดียวไม่ได้ ทุกคนทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ผมจะจัดให้มีการรับฟังทุกเสียงทุกความเห็น ให้เราก้าวข้ามวิกฤติเพื่อสร้างอนาคตใหม่ ถึงเวลาแล้วที่เราจะร่วมกันสร้างบ้านของเราด้วยกัน”
และเวลา 16.00 น.ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับผู้แทน 4 ภาคส่วนคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชนเพื่อร่วมขับเคลื่อนแผนปรองดองและการปฏิรูปประเทศไทย โดยกล่าวถึงแนวคิดเบื้องต้นแผนปรองดองต้องการให้เป็นทางออกยุติการชุมนุม เดือนพฤษภาคม จากนั้นจัดการเลือกตั้ง 14 พ.ย. แต่ไม่เป็นอย่างที่คิด อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังเดินหน้าแผนปรองดอง 5 ข้อต่อ คือ การรวมใจคนไทยเป็นหนึ่งเดียวเพื่อปกป้องเทิดทูนสถาบันหลัก โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ การแก้ปัญหาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม การปฏิรูปสื่อสารมวลชน กลไกตรวจสอบความจริงเหตุการณ์ความรุนแรงสูญเสียที่ผ่านมา และการปฏิรูปการเมือง นอกจากนี้ยังไม่ปิดทางที่จะจัดการเลือกตั้งก่อนหมดวาระรัฐบาลเมื่อเห็นว่า แผนปรองดองเดินต่อได้
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าแผนปรองดองว่า มีการกำหนดให้สำรวจความคิดเห็นประชาชนระดับชาติ โดยอาศัยทั้งสำนักสำรวจความคิดเห็นและการทำสำมะโนประชากร รวมทั้งช่องทางอื่นๆให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น เช่น โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ซึ่งคืบหน้าไปมาก และหลังจาก 2-3 เดือนนี้จะประมวลความคิดเห็นทั้งหมดจากทุกภาคส่วนมาจัดทำเป็นแผนที่มีราย ละเอียดเชิงประเด็น กรอบเวลา งบประมาณ การสนับสนุน ให้แผนปรองดองมีความชัดเจนก่อนสิ้นปีนี้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่คนไทย แต่เรื่องที่สามารถทำให้เสร็จก่อนได้ก็จะทำ ส่วนกลไกที่จะมาบริหารการปฏิรูปประเทศ ขณะนี้ 3 หน่วยงานกำลังดำเนินการอยู่คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
“ทั้ง 3 หน่วยงานได้เริ่มเข้าไปทำงานกับบรรดาองค์กรภาคประชาชนได้มากพอสมควร ล่าสุดรายงานว่าวันที่ 17 มิ.ย.จะจัดสมัชชาเพื่อหาข้อยุติกลไกขับเคลื่อน ถ้าจำเป็นต้องออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งกลไกต่างๆอย่าง เป็นทางการ ก็จะเสนอเข้ามา”
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในเรื่องคณะกรรมาการหาความจริงจากเหตุการณ์รุนแรงสูญเสีย คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน และอยู่ระหว่างแต่งตั้งคณะกรรมการภายใน 15 วัน ส่วนเรื่องการปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แต่งตั้งคณะกรรมการประกอบ ด้วยนักวิชาการ 19 คน มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีนิด้าเป็นประธาน เรื่องการปฏิรูปสื่อได้พูดคุยกับองค์กรวิชาชีพสื่อและคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งรายละเอียดกลไกต้องหาข้อยุติอีกครั้ง
“ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาคทางสังคม คิดว่าการประชุมวันที่ 17 มิ.ย.จะเป็นคำตอบในแง่กลไกที่จะทำในส่วนนี้ด้วย ที่จะเรียนในขณะนี้คือทุกๆด้านกำลังมีการขับเคลื่อนเพื่อเดินหน้าไป”
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้ง 4 ภาคส่วนที่ประชุมวันนี้ล้วนมีบทบาทสนับสนุนกระบวนการปรองดองและปฏิรูป จึงอยากฟังความเห็นเบื้องต้นว่าแต่ละภาคส่วนมีอะไรบ้างที่อยากจะทำหรือทำได้ และต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนอะไร เช่น สื่อเองก็เรียกร้องให้ปฏิรูปสื่อ ภาคธุรกิจก็อยากเห็นการฟื้นฟูท้องถิ่น และท้องถิ่นก็มีปัญหาที่ต้องการคลี่คลาย ภาควิชาการมีปัญหาในแวดวง โดยอยากให้บทบาทของแต่ละภาคส่วนมีทั้ง 2 ด้านคือ ในแต่ละแวดวงของตนเองที่ต้องการปรับเปลี่ยน และการปฏิรูปประเทศโดยรวม และอยากให้กลับไปจัดเวทีระดมความเห็นภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า ทางท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน น่าจะจัดเวทีในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ รวมถึงองค์กรภาคธุรกิจ สื่อมวลชน ภาควิชาการด้วย ซึ่งการจัดเวทีตรงนี้ตน รัฐมนตรี และที่ปรึกษาที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปร่วมด้วย
“โจทย์ที่ตั้งขึ้นคือ หนึ่ง-จะสามารถจัดเวทีระดมความเห็นในภาคส่วนของท่านภายใน 2 สองสัปดาห์ได้หรือไม่ สอง-มีความคิดเบื้องต้นอะไรเกี่ยวกับการสนับสนุนแผนการปฏิรูปและปรองดอง สาม-ส่วนที่เป็นปัญหาในภาคส่วนของท่านเองที่คิดว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีอะไรบ้าง" นายกรัฐมนตรี กล่าว .