'นพ.รัชตะ' เตรียมดันข้อสรุปถกบัตรทอง ตั้ง 'อัมมาร' นั่งปธ.เเก้ขัดเเย้ง สธ.-สปสช.
“หมอรัชตะ” เผยเตรียมผลักดันข้อสรุปเวทีประชาพิจารณ์บัตรทองสู่การแก้ไขปัญหา มอบคณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ สปสช. เดินหน้าต่อ ตั้ง คกก.ตรวจสอบข้อมูลนำเสนอที่เกี่ยวข้องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 'ดร.อัมมาร' นั่งประธาน เดินหน้าแก้ความขัดแย้ง สธ.-สปสช.
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) กล่าวถึงการประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ปีงบประมาณ 2558 ว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ในการประชุมรับฟังความเห็นในปีนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ รวมไปถึงภาคเอกชน ภาคท้องถิ่นและภาคประชาชน ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นโดยแยกออกเป็น 8 กลุ่ม และจากการรับฟังสรุปพบว่ามีบางประเด็นที่มีความเห็นร่วมกัน มองเห็นแนวทางที่จะทำงานร่วมกันได้ ขณะเดียวกันก็ยังมีหลายประเด็นที่ยังคงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันที่ยังต้องทำการสรุป
ทั้งนี้ หลังจากนี้ คณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะนำข้อสรุปที่ได้ไปวิเคราะห์และจัดหมวดหมู่ชัดเจน หากเรื่องใดเป็นความเห็นร่วมและสามารถปรับเปลี่ยนก็ให้ดำเนินการได้เลย แต่ทั้งนี้ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ภายใต้อำนาจบอร์ด สปสช.ที่จะทำได้
ส่วนในประเด็นที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน รมว.สธ. ระบุว่า คณะอนุกรรมการสื่อสารฯ จะส่งเรื่องไปยังคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง สปสช. ซึ่งมีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ทำการสรุปความเห็นอีกครั้ง และอาจมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลอีกครั้ง นอกจากนี้ประเด็นใดที่เกี่ยวข้องกับนโยบายหลังผ่านการพิจารณาของทางคณะอนุกรรมการแล้ว จะนำเข้าสู่บอร์ด สปสช.เพื่อพิจารณาตัดสินใจต่อไป
“ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นเหมือนสมบัติชิ้นสำคัญซึ่งคนไทยทุกคนต่างร่วมเป็นเจ้าของ และยังเป็นสิ่งภูมิใจ เนื่องจากประเทศไทยสามารถจัดระบบสุขภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ แม้ว่าจะเป็นประเทศไม่ร่ำรวย และมีหลายประเทศยังนำไปเป็นต้นแบบในการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพครั้งสำคัญของประเทศ ดังนั้นเราจึงต้องช่วยกันพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งการร่วมรับฟังความเห็นในเวทีนี้ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นช่องทางหนึ่ง”
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า จากข้อเสนอในที่ประชุม งบประมาณเป็นปัญหาหนึ่งที่ถูกหยิบยกประเด็นสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ที่ต้องเชื่อมโยงกับสำนักงบประมาณ รวมไปถึงคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เห็นความสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและให้การสนับสนุนที่พอเหมาะ โดยเฉพาะต้องทำให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของการลงทุนทางสุขภาพ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงที่จะสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านต่าง ๆ ให้กับประเทศได้ นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
ทั้งนี้ การรับฟังความเห็นในครั้งนี้ได้แยกเป็นกลุ่มย่อย 8 กลุ่ม ได้แก่ ด้านประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข, ด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข, ด้านการบริหารจัดการสำนักงาน, ด้านการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ด้านการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่, ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน, ด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ และที่ให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและเครือข่ายวิชาชีพ
นอกจากนี้ รมว.สธ.ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีข้อมูลนำเสนอที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งมี ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เป็นประธานว่า ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นความเห็นจากที่ประชุมบอร์ด สปสช. ครั้งที่แล้ว ซึ่งที่เห็นว่าข้อมูลที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ได้นำเสนอเพื่อขอให้มีการปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
มีข้อโต้แย้งกับ สปสช. ว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกับที่ สปสช.มีอยู่ ซึ่งเข้าใจว่าเรื่องข้อมูลอาจมีความซับซ้อน และอาจเป็นการมองคนละแง่มุม จึงเห็นว่าควรมีการตัดสินให้เกิดความชัดเจนว่าควรใช้ข้อมูลชุดใด จึงได้ให้ ดร.อัมมาร มาช่วยดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งจะช่วยทำให้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเดินต่อไปได้ เพราะหากใช้ข้อมูลที่ไม่ตรงกันก็จะหาข้อสรุปไม่ได้
“การตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เป็นคนละชุดกับคณะกรรมการ ซึ่งมี นพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธาน และได้ยุติบทบาทไปก่อนหน้านี้ เพราะขณะนั้นเป็นความพยายามดูปัญหา รพ.ขาดทุน แต่ชุดนี้เป็นการดูในส่วนข้อมูลของ สธ.และ สปสช.ที่ไม่ตรงกัน” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย 1. ดร.อัมมาร สยามวาลา 2.น.ส.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ 3.นายปิยะ หาญวรวงศ์ชัย ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 4.รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับมอบหมาย และ 5.รองเลขาธิการ สปสช.ที่ได้รับมอบหมาย.
ภาพประกอบ:เว็บไซต์กระปุก