จัดการภัยพิบัติเชิงรุก : รูปธรรมจากเครือข่ายชุมชนอุบลฯ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิชุมชนไทและเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองอุบลราชธานี ได้จัดทำ “โครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตและเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ โดยชุมชนเป็นแกนหลัก” โดยมีพื้นที่นำร่องที่อุบลราชธานี ซึ่งหลังจากอบรมและจัดตั้ง “ศูนย์ป้องกันภัยภาคประชาชน” ก็มีการอพยพหนีภัยน้ำท่วมทันที
จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่รองรับน้ำของแม่น้ำสายหลักสองสาย คือ แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลรวมถึงลำน้ำสาขาของแม่น้ำทั้งสองด้วย ประกอบกับเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ จึงทำให้มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี นอกจากสภาพภูมิประเทศแล้วยังมีปัจจัยที่ทำให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานานยิ่งขึ้น คือ การพัฒนาเมือง การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างเร่งรีบ ตามแผนพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจเป็นประตูสู่อินโดจีน
การขยายตัวของเมืองที่ยังไม่มีการวางผังเมืองอย่างชัดเจน ทำให้การสร้างอสังหาริมทรัพย์ปิดเส้นทางการไหลของน้ำตามธรรมชาติ ทั้ง การสร้างเขื่อน หมู่บ้านจัดสรร ห้างสรรพสินค้า ศูนย์ราชการ สถานศึกษา โดยโครงการส่วนมากไม่ให้ความสำคัญต่อระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม จึงนำมาซึ่งปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและท่วมขังเป็นเวลานาน โดยเฉพาะชุมชนคนจน ได้รับผลกระทบมากเพราะไม่มีเงินถมที่
และส่วนราชการยังไม่มีกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ไม่มีการแจ้งเตือนการประสานข้อมูลเพื่อหาทางป้องกันภัยที่จะเกิดล่วงหน้า เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือบรรเทาความเดือดร้อนโดยการแจกถุงยังชีพ หรือเงินช่วยเหลือซึ่งไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และการช่วยเหลือไม่ทั่วถึงผู้ประสบภัย ทำให้มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน ประชาชนกับประชาชนด้วยกันเอง
เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองอุบลราชธานี 19 ชุมชน ใน 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองอุบลราชธานีและวารินชำราบ มีชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี 9 ชุมชน 1,850 หลังคาเรือน ซึ่งปัญหาน้ำท่วมขังเป็นเวลานานเป็นสาเหตุหนึ่งของความยากจน
กล่าวคือ ในขณะที่น้ำท่วมจะต้องมีความลำบากในการอพยพหนีน้ำ บ้านเรือนชำรุดผุพัง พื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรเสียหาย ขาดรายได้ มีหนี้สิน ทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ยิ่งระยะเวลาน้ำท่วมนานเท่าใด ปัญหาความยากจนจะถับถมกดทับมากขึ้น
ดังนั้น เครือข่ายฯ ได้เห็นปัญหาและร่วมสรุปแนวทางที่ต้องพึ่งพากันเองโดยการจัดตั้ง “ศูนย์ป้องกันภัยภาคประชาชน” ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ประสานงาน รวบรวมข้อมูลและสภาพปัญหา รวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น หาแนวทางป้องกันภัย รวมทั้งฝึกอบรมอาสาสมัครและจิตอาสา โดยจัดกิจกรรม ได้แก่ ...
จัดตั้งศูนย์ป้องกันภัยภาคประชาชน จ.อุบลราชธานี
วันที่ 24-25 ก.ค. ที่ผ่านมา มีการอบรมแกนนำเครือข่ายในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อเตรียมความพร้อมชุมชนในการรับมือภัยพิบัติ การทำข้อมูล แผนที่ทำมือพื้นที่เสี่ยงภัยเส้นทางหนีภัย จุดปลอดภัยและค้นหาอาสาสมัคร
โดยสาระสำคัญของหลักสูตรการอบรมได้แก่
ช่วงวิกฤติขณะเกิดเหตุภัยพิบัติหรือหลังจากเหตุการณ์เกิดประมาณ 7 วัน ต้องมีแผนที่ระบุ
1.จุดนัดหมายที่ปลอดภัย อาจมีมากกว่าหนึ่งจุดแต่ทุกคนในชุมชนรู้กัน เมื่อมาถึงจุดปลอดภัยแต่ละฝ่ายดำเนินการตามหน้าที่เช่น ฝ่ายลงทะเบียนความเดือดร้อน/จำนวนสมาชิก ฝ่ายรักษาความปลอดภัยและโรงครัว เป็นเรื่องแรกที่ต้องมีการเตรียมและดูแลผู้อพยพที่มาอาศัยอยู่ด้วยกัน
2.ทีมกู้ภัย อาสาที่มีหน้าที่ช่วยเหลือกู้ภัยต้องออกปฏิบัติการช่วยเหลือบุคคลที่ยังตกค้างในพื้นที่ เช่น เด็ก คนชรา ผู้ป่วย รวมทั้งเฝ้าระวังตรวจตราในพื้นที่
3.ข้อมูลความเดือดร้อน ต้องมีทีมสำรวจข้อมูลสมาชิก ข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อประสานความช่วยเหลือไปยังภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน รวมถึงเป็นฐานข้อมูลที่จะดูแลผู้เดือดร้อนในพื้นที่อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ทั้งหมดเป็นเพียงหลักสำคัญและอาจมีมากหรือน้อยกว่าแล้วแต่ภัยพิบัติ หรือสภาพชุมชน การเตรียมการในช่วงนี้ให้พร้อมชุมชนชนต้องค้นหาเครื่องมือ อุปกรณ์ในการสนับสนุนให้เกิดความสะดวกและเตรียมการให้พร้อมอยู่ตลอดเวลา เช่น เรือกู้ภัย เครื่องมือกู้ภัย อุปกรณ์ทำครัว วิทยุสื่อสาร อื่นๆ
การเตรียมพร้อมก่อนเกิดภัย เพื่อลดความสูญเสียชีวิต หรือเกิดความสูญเสียน้อยที่สุด มิได้หมายถึงการห้ามหรือป้องกันไม่ให้ภัยพิบัติเกิดขึ้น เพียงแต่นี่คือการเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะอยู่กับพื้นที่เสี่ยงในการเกิดภัยอย่างมีเหตุผล และหากเกิดภัยขึ้นเราสามารถบริหารจัดการคน พื้นที่และทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีขั้นตอนดังนี้
1.ค้นหาอาสาสมัครในชุมชน
2.ข้อมูลชุมชน ข้อมูลทุกอย่างที่มีประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ภัยพิบัติ เสี่ยงภัย จุดปลอดภัย ปัญหา อุปสรรค เช่น ประชากร ถนน สิ่งปลูกสร้าง รถ ถังแก๊ส ข้อมูลที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดภัย วิธีการให้ได้มาซึ่งข้อมูลอาจประชุมกลุ่มย่อยหรือลงพื้นที่จัดเก็บแบบสำรวจ และทำแผนที่
3.การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำแผน หลังจากได้ข้อมูลแล้วอาสาสมัครทั้งหมดต้องนำมาเสนอแลกเปลี่ยนกันในรูปแบบแผนที่ทำมือและข้อมูลรวมสรุปเพื่อเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน โอกาสเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติ ช่วงเวลาการเกิดภัย จนเกิดปฏิทินภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีเหตุผล
4.การพัฒนาอาสาสมัคร เมื่อเกิดแผนเตรียมพร้อมป้องกันแล้ว อาสาสมัครอาจมีหน้าที่หรือบทบาทเกิดขึ้นมากมาย เช่น การจัดการจราจร การอพยพหลบภัย การแจ้งเตือน การเฝ้าระวัง การกู้ชีพ จำเป็นต้องพัฒนาอาสาสมัครเหล่านั้นให้มีความรู้ความชำนาญ
5.การสร้างภาคีความร่วมมือ เมื่อเกิด ”แผนเตรียมความพร้อมของชุมชน” อาจเป็นฉบับร่าง และพัฒนาแผนร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ปภ.จังหวัด อบต. ผู้ใหญ่ กำนัน อำเภอ และองค์กรภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ เพื่อให้เกิดแผนที่มีคุณภาพ
6.การนำแผนกลับสู่การประชาพิจารณ์แผนในชุมชน และการรณรงค์สร้างความตระหนักให้กับสมาชิกในชุมชน แผนที่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองของคณะทำงานและภาคีร่วมมือและนำกลับไปให้ชุมชนประชาพิจารณ์แผนครั้งสุดท้าย
7.การนำเสนอแผนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนกิจกรรมเตรียมความพร้อมเช่น การหอกระจายข่าว ป้ายบอกทาง การซ้อมแผน ฯลฯ
8.การติดตามผล การบันทึกผลที่ดี ปรับปรุงแผนงาน หมายถึง การดำเนินการตามแผน มีการตามประเมินผล และต้องบันทึกผลทั้งปัญหาอุปสรรค ผลดีที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงทางอ้อม
การพัฒนาต่อเนื่องเพื่อขยายผลค้นหาแกนนำรุ่นใหม่ การเผยแพร่ต่อสาธารณะ ขยายเครือข่าย การศึกษาดูงานเพื่อการพัฒนาศักยภาพ สิ่งสำคัญคือจะมีวิธีทำอย่างไรให้อาสาสมัครมีจิตสาธารณะ
การอพยพหนีภัยน้ำท่วม
หลังจากการอบรมและจัดตั้งศูนย์ป้องกันภัยภาคประชาชน ก็มีการอพยพหนีภัยน้ำท่วมในวันที่ 17 ก.ย. 54 จากสถานการณ์ที่มีพายุและฝนตกหนักเป็นปริมาณมากจากทุกภาคทั่วประเทศ จึงทำให้จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศลุ่มต่ำเป็นที่รองรับน้ำ เกิดน้ำท่วมอย่างรวดเร็วในเขตอำเภอเมืองและวารินชำราบ มีชุมชนสมาชิกเครือข่ายฯ และชุมชนอื่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำมูลประสบความเดือดร้อนจากอุทกภัยเป็นจำนวนมาก ที่ต้องเคลื่อนย้ายอพยพออกจากชุมชนเพื่อหาที่พักชั่วคราวในที่ปลอดภัยตั้งแต่เดือนสิงหาคม เป็นต้นมา
ศูนย์อาสาสมัครป้องกันภาคประชาชน ที่เพิ่งผ่านการอบรม มีอาสาสมัครประจำชุดเคลื่อนที่เร็ว 15 คน และอาสาสมัครจากผู้มีจิตอาสารวมเป็น 70 คน ได้เข้าช่วยเหลืออพยพเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยแล้ว 100 หลังคาเรือนและสร้างที่พักชั่วคราวแล้ว 30 หลัง โดยมีศูนย์อพยพอยู่ที่บริเวณถนนทางเข้าชุมชนเกตุแก้ว คาดว่าอาจมีผู้ประสบอุทกภัยมากขึ้น เพราะมีพายุและฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้มีการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัคร 70 คน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติระดับชุมชนในด้านต่างๆ
1.ด้านการจราจร เสียงสัญญาณ โดยมีวิทยากรจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอวารินชำราบมาเป็นวิทยากร
2.ฝึกอบรมการกู้ชีพโดยมีวิทยากรจากโรงพยาบาลวารินชำราบมาเป็นวิทยากร
3.ฝึกเชิงปฏิบัติการเตรียมพร้อมรับมือเกิดอัคคีภัยชุมชนลับแล 2 ครั้ง
4.การฝึกทำข้อมูลและวัดระดับน้ำ ปริมาณน้ำ ที่ชุมชนหาดสวนสุข
5.การฝึกเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติชุมชนสมาชิกอีก 5 ชุมชน
อย่างไรก็ตามผลงานรอบแรก : การช่วยเหลือเคลื่อนย้ายเป็นไปด้วยความยากลำบาก ในการเข้าปฏิบัติการช่วยเหลือของอาสาสมัคร ไม่สามารถติดต่อประสานงานศูนย์ หรือหน่วยงานอื่นได้ เพราะอาสาสมัครยังขาดอุปกรณ์ชูชีพประจำตัวซึ่งอาจเกิดความไม่ปลอดภัยของตัวอาสาสมัครเอง
เพื่อให้การปฏิบัติการมีคุณภาพ มีความปลอดภัยและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของศูนย์ฯ จึงต้องจัดหาอุปกรณ์และการหนุนเสริม ได้แก่ อุปกรณ์สื่อสาร (วิทยุแดง) 5 เครื่อง 15,000 บาท เสื้อชูชีพ 10 ตัว 10,000 บาท ค่าอาหารอาสาสมัคร 15 คน 45,000บาท อุปกรณ์สร้างที่พักชั่วคราว 10,000 บาท ระยะเวลา 10 ก.ย.-9 ต.ค. 54 รวม 80,000 บาท