ชุมชนโรงปูเปี้ยว...ฤาจะเหลือเพียงตำนานหลังผ่านวันร้าย
กว่า 30 ปีที่ชาวบ้านจาก ต.ท่าพญา อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช อพยพจากถิ่นฐานบ้านเกิดมาลงหลักปักฐานทั้งชีวิตและครอบครัว ณ โรงปูเปี้ยว อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชุมชนโรงปูเปี้ยวเป็นชุมชนชาวพุทธขนาดใหญ่ที่รายล้อมไปด้วยพี่น้องมุสลิม บริเวณริมคลองชลประทานใกล้แยกดอนรักก่อนเข้าตัวเมืองปัตตานี ตัวชุมชนอยู่ห่างจากถนนใหญ่แค่ร้อยกว่าเมตร มีสมาชิกนับร้อยคนอาศัยอยู่ร่วมกัน และทำมาหากินมาอย่างปกติสุข
อาชีพหลักของคนในชุมชน คือ หาปูเปี้ยว
จากการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต พบว่า "ปูเปี้ยว" หรือ "ปูก้ามดาบ" เป็นปูทะเลขนาดเล็กชนิดหนึ่ง กระดองมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู สีสันสวยงาม มีก้านตายาว ตัวผู้มีลักษณะเด่นอันเป็นที่มาของชื่อเรียก คือ มีก้ามข้างใดข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้างอย่างชัดเจน ซึ่งปูจะใช้ก้ามข้างนี้โบกไปมาเพื่อขู่ศัตรูและเรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย อีกทั้งยังใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้อีกด้วย ขณะที่ปูตัวเมียก้ามทั้ง 2 ข้างจะเล็กเท่ากัน
ปูเปี้ยวถูกพบตามป่าชายเลน ป่าโกงกาง ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน โดยมากมีการจับเพื่อนำไปขายต่อเป็นสัตว์เลี้ยงดูเล่น ไม่นิยมรับประทาน
การจับปูเปี้ยวจึงเป็นอาชีพสุจริตที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับทั้งผู้ที่ลงแรงจับ และนายทุนที่รับซื้อ เรื่องราวเหล่านี้ได้กลายเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนโรงปูเปี้ยว จ.ปัตตานี ไปโดยปริยาย
แม้มีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่ แต่พี่น้องในชุมชนแห่งนี้แทบไม่เคยมีใครตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเลย และไม่มีใครคิดย้ายออกไปจากที่นี่ด้วย กระทั่งปลายปี 56 ที่กลุ่มผู้ชายในชุมชนออกไปหาปูเปี้ยวต่างพื้นที่แล้วถูกยิงเสียชีวิตถึง 4 ราย ทำให้บรรยากาศเริ่มเปลี่ยนไป
กระทั่งเมื่อวันที่ 12 ม.ค.58 นายจเรียม พรหมจรรย์ อายุ 46 ปี ชาวบ้านในชุมชนถูกยิงเสียชีวิตไปอีกคนขณะออกไปหาปูเปี้ยวในพื้นที่บ้านท่ายามู หมู่ 3 ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก เหตุการณ์นี้เปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้หลายคนในชุมชนไม่อยากทนอยู่ท่ามกลางความหวาดผวาอีกต่อไป
โดยเฉพาะเมื่อครอบครัวของนายจเรียม ประดุจมีเคราะห์ซ้ำกรรมซัด การจากไปของเขาทำให้สมาชิกในครอบครัวรวม 5 ชีวิตยิ่งลำบาก ภรรยาคู่ชีวิต นางทองคำ ปานอูม อายุเท่ากัน ก็มีสุขภาพไม่แข็งแรง นายนพดล พรหมจรรย์ อายุ 19 ปี ลูกชายคนโตก็พิการทางสายตามาตั้งแต่กำเนิด ทำให้ ด.ญ.อภิชญา พรหมจรรย์ หรือน้องน้ำหวาน อายุเพียง 14 ปี ต้องลาออกจากโรงเรียนเบญจมราชูทิศปัตตานี เพื่อทำงานหาเลี้ยงครอบครัวแทนบิดา และส่งเสียน้องอีก 2 คน คือ ด.ญ.ไชนภา พรหมจรรย์ อายุ 12 ขวบ กับ ด.ญ.จิรภิญญา พรหมจรรย์ วัยเพียง 7 ปี ได้เล่าเรียนต่อไป
ความสูญเสียและความลำบากของครอบครัวนายจเรียม ทำให้หลายคนในชุมชนเกิดความรู้สึก "รับไม่ได้"
"เราอยู่ที่นี่มาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ เถ้าแก่โรงปูเปี้ยวเขาพามาบุกเบิก ฉันเองอยู่มาตั้งแต่อายุ 11 ปี จนตอนนี้มีหลานแล้ว คนในชุมชนส่วนใหญ่มาจากนครศรีธรรมราช มาอยู่กันจนผูกพันกับที่นี่มาก เถ้าแก่ก็ใจดีดูแลช่วยเหลือทุกอย่าง ผู้ใหญ่บ้านมุสลิมก็ใจดี"
"อยู่ตรงนี้สะดวกทุกอย่าง เมื่อก่อนนำในคลองชลประทานใสสะอาด อาหารการกินก็สะดวก ใกล้เมือง จึงไม่มีค่าใช้จ่ายมากนัก เราอยู่ด้วยกันก็แบ่งปันกันกิน พี่น้องมุสลิมที่อยู่ใกล้ๆ ก็รูจักกันและดีกับพวกเรามาก มีอะไรเขาก็เอามาให้ แถมยังให้เราไปหาปูในเขตของเขา ถ้าเขาไม่ดีจริงก็คงไม่อยู่ที่นี่มาจนถึงทุกวันนี้" เป็นเสียงจาก สำรวณ วัย 41 ปี ชาวบ้านในชุมชนโรงปูเปี้ยวที่บอกเล่าความเป็นมาของชุมชนคนพุทธจากนอกพื้นที่ขนาดใหญ่ใกล้เมืองปัตตานี
สำรวณ บอกต่อว่า เมื่อเหตุการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเหตุล่าสุด ทำให้ผู้ชายในชุมชนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการหารายได้จากการหาปูเปี้ยวไม่กล้าออกไปทำมาหากิน เพราะการหาปูเปี้ยวต้องหาในเวลากลางคืนที่เป็นเวลาปูออกมาจากรู จึงเป็นจุดเสี่ยงต่อชีวิตที่ทำให้คนร้ายสามารถดักทำร้ายได้อย่างง่ายดาย
"สัญลักษณ์ของพวกเรา คือ ไซจับปู เราไปกับมอเตอร์ไซค์ ไม่มีอาวุธ มีแต่ไม้ไว้ดักปู เมื่อผู้ชายออกไปเป็นกลุ่มถ้าถูกทำร้ายหมด พวกเราก็กลายเป็นแม่ม่ายกันหมด พอพี่เขาถูกยิง (หมายถึงนายจเรียม) เราก็ไม่กล้าออกไปหาปูแล้ว ไม่ว่าใกล้หรือไกล ไม่มีใครมั่นใจเลย คนไปจับปูส่วนใหญ่อายุ 30 ปีขึ้นไป จะไปสมัครงานทำก็ไม่มีวุฒิการศึกษา เพราะยากจนไม่ได้เรียนหนังสือ กลับไปอยู่นครศรีธรรมราชก็ไม่มีงานทำ"
สำรวณ บอกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนมาก เมื่อไม่มีใครกล้าออกไปหาปู รายได้ก็ไม่มี ทุกบ้านมีลูกกันหลายคน เมื่อก่อนพวกเราตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ เราสู้ไม่ถอย อยู่เหมือนเป็นบ้านของตัวเอง รักและชอบที่นี่มาก แต่ตอนนี้เหตุการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว เถ้าแก่ก็กลัว ไม่ส่งไปจับปูแล้ว เถ้าแก่ไปส่งปูในปัตตานีและยะลา เมื่อไม่มีใครจับก็ไม่มีปูส่ง ใกล้จะเลิกเหมือนกัน
"จริงๆ อาชีพจับปูเปี้ยวทำให้มีรายได้พอใช้จ่ายทุกวัน เพราะปูจับง่าย ขายได้กิโลละ 30 บาท โรงงานรับซื้อก็อยู่ในชุมชน ขณะนี้เรารอปลัดอำเภอที่บอกกับผู้ใหญ่บ้านไว้ว่าจะหาที่ทางใหม่และอาชีพใหม่รองรับพวกเรา ก็ต้องดูว่าไปอยู่แล้วจะทำมาหากินได้หรือเปล่า"
ด้าน จำนงค์ นาคีเพศ เพื่อนบ้านในชุมชนอีกคนหนึ่ง บอกเล่าความรู้สึกไม่ต่างกับสำรวณ
"ทุกคนซึมไปหมด กลัว จากเหตุร้ายปลายปีก่อน แล้วมาซ้ำต้นปีนี้อีก วันนั้นพี่จเรียมเขาออกไปคนเดียว ไม่พูดจากับใคร ทั้งที่ปกติจะไปกันหลายคน ตอนที่ทหารมาบอกว่าพวกปูถูกยิง ก็ไม่ได้คิดอะไรกันนะ เพราะยังอยู่กันหลายคน จนคิดถึงตอนแกเดินออกไปคนเดียวได้ เหตุที่เกิดก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ มาทำกับคนดี คนทำมาหากินไม่มีทางสู้ จนตอนนี้พวกเราก็ไม่มีใครออกไปทำมาหากินแล้ว"
จำนงค์ บอกว่า ก่อนหน้านี้มีสมาชิกในชุมชนนับร้อย แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้น มีคนย้ายกลับไปนครศรีธรรมราช และลูกหลานรับไปอยู่ที่อื่น 5 ครอบครัว ย้ายไปอยู่ที่โครงการฟาร์มตัวอย่าง บ้านไอร์บือแต อ.จะแนะ จ.นราธิวาส อีกหลายครอบครัว ยังเหลืออยู่ที่เดิมอีก 19 ครอบครัว
"จริงๆ คนชุมชนนี้ก็ไม่มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเป็นของตัวเองหรอก บ้านที่อยู่ก็สร้างขึ้นมาง่ายๆ เป็นกระต๊อบบนที่ดินของพี่น้องมุสลิมที่ให้เช่าในราคาถูก บ้านละ 150 บาทบ้าง 300 บาทบ้างตามขนาด ต่อน้ำต่อไฟมาให้ใช้ ให้ได้ซุกหัวนอนกันก็พอใจแล้ว อาชีพหลักของทุกบ้านคือหาปูเปี้ยวที่หาได้ช่วงน้ำเยอะ แต่ตอนนี้ไม่มีใครกล้าออกไปหาแล้ว แม้จะไปหลายคนก็ตาม เพราะเสี่ยงต่อชีวิตเหลือเกิน จะกลับไปนครศรีธรรมราชก็ไม่รู้จะไปทำอะไรกิน ทุกวันนี้ได้แต่รอดูคำตอบของทางราชการที่บอกจะมาช่วยเหลือ พวกเราจะได้ตัดสินใจกับชีวิตของทุกคนในชุมชนต่อไป" จำนงค์ กล่าว
ขณะที่เพื่อนบ้านอีกคนในชุมชน บอกว่า จะย้ายไปไหนก็ลำบาก ไม่รู้จะทำอะไรกิน เพราะไม่มีวุฒิการศึกษา อยู่ที่นี่หาปูก็พออยู่กัน เคยกลับไปอยู่นครศรีธรรมราชพักหนึ่งก็ต้องกลับมา เพราะที่โน่นไม่มีอะไรทำประจำ แต่เหตุการณ์นี้ทำให้ทุกคนกลัวกันมากขึ้น อยู่ในขั้นตัดสินใจว่าหากไม่มีอะไรคืบหน้า คงต้องย้ายออกจากชุมชนกันหมดจริงๆ
เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนายจเรียม ไม่ได้ก่อผลกระทบเฉพาะครอบครัวของเขารวม 5 ชีวิต แต่เพื่อนบ้านทุกหลังคาเรือนที่นี่ล้วนได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างถ้วนหน้า จนน่าคิดว่าชุมชนปูเปี้ยวแห่งนี้อาจเหลือเพียงตำนานเล่าขานให้คนรุ่นหลังฟัง
มนุษย์ต้องการปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ต้องมีอาหารรับประทาน มีอาชีพ มีรายได้ มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย
ทุกคนชุมชนโรงปูเปี้ยวก็เหมือนกัน!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ชุมชนโรงปูเปี้ยว
2 ปูเปี้ยว
3-4 จำนงค์ นาคีเพศ และบ้านของจเรียมผู้จากไป
5-6 โรงปูเปี้ยว และวิถีในชุมชน