มจธ.จับมือ 2 องค์กร สร้างนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ
มจธ. -สปสช.- สกส.เดินหน้าบันทึกความร่วมมือ ลุยสร้างกิจการเพื่อสังคมด้านสุขภาพ หวังคนไทยเข้าถึงการบริการได้อย่างเท่าเทียมเป็นธรรม
เมื่อเร็วนี้ๆ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) ลงนามความร่วมมือเพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ในการส่งเสริมฝึกอบรมความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค หรือที่สอดคล้องกับปัญหาด้านสุขภาพให้แก่ภาคีเครือข่ายสุขภาพ เครือข่ายจิตอาสา ณ ห้องประชุมจำรัส ฉายะพงศ์ ชั้น 2 อาคารเรียนรวม 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า มจธ.มีพลังสำคัญที่ยิ่งใหญ่คือคณะอาจารย์และนิสิตนักศึกษา เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่สนใจความเป็นเลิศทางวิชาการ อีกทั้ง มจธ.เน้นเรื่องการมีคุณค่าและความหมายต่อสังคมและประเทศชาติ จึงสนใจเกี่ยวกับชุมชนที่ด้อยโอกาส ชุมชนเฉพาะทาง ชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงพยายามสร้างชุมชนใน มจธ. ผ่านบุคลากร ศิษย์เก่า ให้มีส่วนร่วมพัฒนาบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปสร้างสรรค์สังคม
รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวถึงการสนับสนุนการดำเนินงานกิจการเพื่อสังคม โดยมีความชำนาญองค์ความรู้ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สอดคล้องกับปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ได้จัดสรรบุคลากร เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กร ตามบทบาทภาระหน้าที่
ด้านนพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่สถาบันการศึกษาทุกสถาบันสามารถเข้าร่วมกับองค์กรเพื่อสังคมได้ คำว่า Social Enterprise หรือกิจการเพื่อสังคม ในหลายประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ สำหรับประเทศไทย ถ้าไม่ใช่แวดวงของผู้ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างจริงจังจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ ในหน่วยราชการต่างๆของรัฐส่วนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างแท้จริงมีค่อนข้างน้อย และนี่จึงเป็นมิติใหม่ในการขับเคลื่อนสังคมไทยที่จะทำให้ประเทศมีการพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้อย่างเป็นรูปธรรม
นพ.วีระวัฒน์ กล่าวด้วยว่า สปสช.มีแนวทางในการส่งเสริมศักยภาพ สร้างความเข้มแข็งให้แก่เครือข่ายจิตอาสา และ เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เครือข่ายผู้ป่วยโรคไต โรคมะเร็ง โรคฮีโมฟีเลีย เพื่อพัฒนาเป็นกิจการเพื่อสังคมที่สามารถสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค หรือแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งคือบทบาทการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
ขณะที่นายณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ ผู้อำนวยการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) กล่าวถึงเหตุผลที่เข้าร่วม คือ 1. เรื่องสุขภาพเป็นทางเลือกสำคัญของประชาชนและคนระดับล่าง กิจการเพื่อสังคม ทำให้สังคมมีตัวเลือกมากขึ้น ประชาชนจะได้รับบริการที่ดี 2.ผู้ประกอบการพบว่ามีความเสียเปรียบเป็นอย่างมากในการทำธุรกิจ เนื่องจากขาดนวัตกรรมและความรู้ และสกส.เองเป็นองค์กรแห่งการขับเคลื่อนทุนทางสังคมและองค์ความรู้ใหม่ด้าน Social Enterprise หรือกิจการเพื่อสังคม ดังนั้นตามแผนแม่บทในการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติจึงต้องลงพื้นที่เพื่อให้เกิดเครือข่ายจิตอาสาและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทรัพยากรเพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดธุรกิจได้
ขอบคุณภาพจากwww.moph.go.th