สพฉ.ห้ามเก็บกระป๋องสเปรย์ไว้ท้ายรถติดเเก๊ส หวั่นความร้อนทำระเบิด
สพฉ. เตือนอันตรายจากกระป๋องสเปรย์ระเบิดในรถ ย้ำวิธีขับขี่ให้ปลอดภัยกรณีกระจกหน้ารถยนต์แตก ระบุรถยนต์ติดแก๊สควรติดอุปกรณ์นิรภัยและถังดับเพลิงป้องกันก่อนเกิดเหตุฉุกเฉิน พร้อมแนะวิธีการปฐมพยาบาลหากได้รับบาดเจ็บฉุกเฉินจากไฟไหม้รถ
จากกรณีที่มีข่าวเรื่องการเก็บสเปรย์กระป๋องเอาไว้ในรถยนต์จนเป็นเหตุในระเบิดและรถยนต์ได้รับความเสียหายนั้น นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เตือนภัยถึงกรณีดังกล่าวว่า การเก็บกระป๋องสเปรย์ไว้ในรถยนต์โดยเฉพาะบริเวณคอนโซลด้านหลังและด้านหน้าติดกับกระจก อาจเกิดอันตรายได้ เพราะเมื่อกระป๋องสเปรย์ถูกความร้อนจากแสงแดดจะทำให้วัตถุและสารเคมีพร้อมแก๊สที่อยู่ภายในเกิดการขยายตัวจนเกิดการระเบิดขึ้น และแรงอัดอาจส่งผลทำให้กระจกรถยนต์แตก
กรณีนี้หากเกิดขึ้นระหว่างผู้ขับขี่ขับรถอยู่และเกิดตกใจ อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ๆ อย่างไรก็ตามหากเกิดเหตุรถกระจกหน้าขณะขับรถอยู่นั้น ก่อนอื่นให้ผู้ขับขี่ตั้งสติก่อน โดยหากรถยนต์ของท่านเป็นกระจกนิรภัยแบบหลายชั้น กระจกจะมีเพียงรอยร้าวคล้ายใยแมงมุมเท่านั้นแต่จะไม่มีเศษกระจกแยกออกจากกัน จึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่ และผู้โดยสารที่อยู่ในรถ
ส่วนกรณีที่รถยนต์เป็นกระจกนิรภัยแบบชั้นเดียวหรือแทปเปอร์นั้น เลขาฯ สพฉ. กล่าวว่า จะส่งผลให้กระจกที่แตกมีลักษณะละเอียดเป็นเม็ด ๆ และแตกร้าวเป็นฝ้าขาวจนมองไม่เห็นเส้นทาง ผู้ขับขี่ควรชะลอความเร็วแล้วเบี่ยงรถเข้าไหล่ทาง แต่หากยังมีกระจกบางส่วนติดค้างอยู่ ให้ใช้ไม้หุ้มผ้าหนา ๆ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ทุบหรือกระแทกเศษกระจกที่ยังติดอยู่ตามขอบกระจกออกให้หมด เพื่อป้องกันกระจกร่วงใส่ขณะขับรถ
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องขับรถต่อทั้ง ๆ ที่ไม่มีกระจกหน้ารถให้ปิดกระจกด้านข้างทุกบาน เพื่อป้องกันแรงลมปะทะซึ่งจะทำให้รถเสียการทรงตัว และผู้ขับขี่ควรสวมแว่นกันแดด เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและเศษกระจกที่อาจติดค้างอยู่บริเวณหน้ารถกระเด็นใส่นัยน์ตาและหลีกเลี่ยงการขับรถเข้าใกล้รถที่บรรทุกวัสดุก่อสร้าง
นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วง คือ การเก็บกระป๋องสเปรย์ไว้ในท้ายรถยนต์ที่ติดแก๊ส ซึ่งกระป๋องสเปรย์ดังกล่าวเมื่อได้รับความร้อนอาจเป็นตัวก่อให้เกิดประกายไฟได้ ดังนั้นเมื่อผู้ขับขี่ได้ยินเสียงดัง และเริ่มสังเกตเห็นถึงความผิดปกติ อาทิ รถเริ่มมีควันและมีความเสี่ยงว่าจะระเบิดหรือไฟไหม้ ให้รีบปิดสวิตช์ตัดการทำงานของระบบแก๊ซและดับเครื่องยนต์ จากนั้นให้รีบออกจากรถยนต์ทันที พร้อมทั้งนำถังดับเพลิงเคมีฉีดพ่นบริเวณต้นเพลิง ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ที่ผู้ขับขี่ทุกคนควรมีติดรถไว้โดยเฉพาะรถยนต์ที่ติดแก๊ส
ส่วนกรณีที่ไม่มีถังดับเพลิงให้ใช้ขวดน้ำฉีดบริเวณที่เกิดไฟไหม้ แต่ทั้งนี้หากเกิดไฟไหม้ลุกลามอย่างรวดเร็ว ให้ตั้งสติ ดับเครื่องยนต์แล้วรีบลงจากรถโดยออกห่างจากรถให้มากและเร็วที่สุดเพื่อป้องกันรถระเบิด อย่างไรก็ตามหากมีผู้บาดเจ็บจากเหตุไฟไหม้ เมื่ออยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้วให้ดูแลเบื้องต้นโดยถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ถูกไฟเผาไหม้ออก แต่หากถอดเสื้อผ้า หรือเครื่องประดับ และพบว่ามีการตึงรั้งควรหลีกเลี่ยง ห้ามใช้น้ำมัน โลชั่น ยาสีฟัน หรือยาปฏิชีวนะทาบนแผลเด็ดขาด
"หากพบว่ามีบาดแผลถูกไฟไหม้วิกฤต คือ มีแผลขนาดใหญ่ หรือไหม้ลวกทางเดินหายใจ และมีการอาการกลืนลำบาก เสียงแหบ หายใจลำบาก หรือมีอาการสูดควันปริมาณมากจนผู้ประสบเหตุไม่รู้สึกตัว ให้รีบโทร.แจ้งขอความช่วยเหลือผ่าน สายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์" เลขาฯ สพฉ. กล่าว .