อีบุ๊คในไทยยังไม่เกิด นักเขียนชี้ต้องใช้เวลาพัฒนาอีกมาก
ส่องเทรนด์โลกหนังสือ 2015 "โตมร ศุขปรีชา" ชี้มาแรงยกให้แนว Non-Fiction เชิงสาระความรู้ ระบุ เป็นความหวังของวงการหนังสือไทย เชื่องานที่มีคุณภาพจะนำไปสู่การตื่นตัวทางการอ่าน
วันที่ 29 มกราคม 2558 สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (Thailand Knowledge Park:TK park) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) จัดเสวนาพิเศษ “ส่องเทรนด์โลกหนังสือ 2015” ซึ่งเป็นกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี อุทยานการเรียนรู้ TK park โดยมีนายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผอ.ฝ่ายข่าวไทยพีบีเอส/นักเขียนรางวัลศรีบูรพา นายศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ อดีตบรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน/นักแปล และนายโตมร ศุขปรีชา นักเขียน/นักแปล อดีตบรรณาธิการนิตยสารจีเอ็ม มาร่วมพูดคุยเจาะลึกในประเด็นที่ว่าด้วยกระแสหนังสือและวิถีการอ่านในปี 2015 ของไทยและทั่วโลก
นายวันชัย กล่าวถึงเทคโนโลยีทำให้การดูกับการอ่านใกล้กันมาก ต่างจากสังคมไทยในอดีตอ่านบทกลอนจากใบลาน จนกระทั่งเมื่อ ปี 2500 มีการดูเกิดขึ้น ได้มีช่อง 4 บางขุนพรม ทำให้คนไทยเริ่มดู จนกระทั่งมีการปฏิวัติเทคโนโลยี เริ่มมีอินเตอร์เน็ต “เราดูมากขึ้น แต่อ่านน้อยลง” โดยเฉพาะเมื่อมีแท็บเล็ต โน๊ตบุ๊ค ยิ่งทำให้ดูมากขึ้น อ่านกับดูจึงใกล้กันมาก เช่น แม็กกาซีน คนส่วนใหญ่ซื้อมาดูมากกว่าอ่าน
“ทุกวันนี้เราดูหนังสือพิมพ์ เราไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ ดูเฉพาะพาดหัวข่าว จึงเป็นชัยชนะของเทคโนโลยี ทำให้หนังสือพิมพ์ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ สิ่งที่ทำให้หนังสือพิมพ์อยู่รอด คือ หันมาจับเส้นทางออนไลน์ คนไทยอ่านหนังสือพิมพ์ผ่านกระดาษน้อยลง”
นายวันชัย กล่าวถึงสื่อโซเชียลมีเดียที่มีบทบาทมากขึ้น โดย 80% ของนักศึกษาติดตามข่าวสารผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย นั้นหมายความว่า วิธีเขียนหนังสือพิมพ์ในเว็บไซต์จะแตกต่างจากการเขียนลงหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์จะเน้นสั้นกระซับ เพราะคนในโซเชียลมีเดีย อ่านเฉพาะพาดหัวข่าวหรือดูผ่านๆ เป็นเทรนด์การดูอะไรเร็วๆ แท็บเล็ต โน๊ตบุ๊ค จึงทำให้การดูกับการอ่านรวมกัน
ส่วนสื่อที่เป็นกระดาษ นายวันชัย เชื่อว่า สุดท้ายกระดาษก็ยังมีเสน่ห์ในตัวของมันเอง คนที่ต้องการอ่านอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราวยังสามารถอ่านได้จากกระดาษ เพราะหนังสือกระดาษคือ “เพื่อน”
ด้านนายโตมร กล่าวถึงวัฒนธรรมการอ่านของคนไทย เป็นการเสพสื่อผ่านการเล่า หรือวัฒนธรรมการอ่านแบบมุขปาฐะ คือเล่าให้ฟังผ่านการแสดง การรำตัด ถ่ายถอดความรู้ ความงาม ความจริง โดยผ่านปากต่อปากเป็นการเล่าให้ฟัง ผ่านเพลงพื้นบ้าน เพราะฉะนั้นเวลาเสพสื่อจะคุ้นเคยผ่านทาง (passage) คือนั่งแล้วมีคนมาป้อนให้ฟัง
“โครงสร้างทางภาษา วัฒนธรรมด้านภาษา มีส่วนมากในการอ่าน เพราะภาษาไทยเป็นภาษาที่สวยงาม ไพเราะเพราะพริ้ง เวลาที่อ่านงานวรรณคดี อ่านขุนช้างขุนแผน “ลำดวนเอ่ย จะด่วนเอยไปก่อนแล้ว” เวลาอ่านออกเสียงจะมีคำที่ไพเราะพริ้งพราย แต่ว่าของต่างชาติแค่คำหนึ่งจะมีความคิดสอดแทรกอยู่ ตัวภาษาจึงทำให้มองโลกต่างกัน ส่งผลถึงการอ่านและการรับสื่อ
นายโตมร กล่าวถึงวงการหนังสือปี 2558 น่าจะมีการเติบโตขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และหนังสือที่มาแรงน่าจับตาคือแนว Non-Fiction ที่เป็นเชิงสาระความรู้ เช่นหนังสือเรื่อง Justice เขียนโดย Michael Sandel ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยใช้ ชื่อว่า ความยุติธรรม หรือ The Sixth Extinction ซึ่งยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย ว่าด้วยเรื่องของการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ซึ่งเกิดขึ้นในมวลมนุษยชาติ โดยผู้เขียน Elizabeth Kolbert นักชีววิทยา ได้เดินทางไปทำวิจัยทั่วโลกเพื่อที่จะเขียนหนังสือเล่มนี้
“ในไทยเองก็มีนักเขียนคุณภาพรุ่นใหม่ๆ หลายคนที่ทำงานทั้ง Non-Fiction และ Fiction เชิงสาระความรู้ได้อย่างมีคุณภาพ ถือเป็นความหวังของวงการหนังสือไทย เพราะงานที่มีคุณภาพจะนำไปสู่การตื่นตัวทางการอ่าน แต่สำหรับอีบุ๊ค (ebook) นั้นในประเทศไทยคงจะยังไม่เกิด เพราะกลไกยังไม่พร้อม”
สุดท้ายนายศิริพงษ์ กล่าวว่า เทรนด์หนังสือในปี 2558 ไม่น่าจะแตกต่างจากปีที่แล้วมากนัก โดยหนังสือที่มีผู้อ่านมากที่สุดยังคงเป็นนวนิยายแนวโรมานซ์ แต่ถ้าเทียบจากหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า แนวหนังสือในปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น และโอกาสในการเข้าถึงหนังสือของนักอ่านก็เพิ่มขึ้นด้วย
“แนวโน้มการอ่านในประเทศกำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีโอกาสในการเข้าถึงเนื้อหามากขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยหนังสือเพียงอย่างเดียว การเข้ามาของอีบุ๊คถือเป็นเรื่องดีสำหรับนักเขียน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ต่อไปเราคงเห็นอะไรที่เป็นอิเล็คโทรนิคกันมากขึ้น เพราะเด็นรุ่นนี้ที่โตขึ้นมาจะคุ้นกันตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็ปแล็ต
สำหรับหนังสือกระดาษ นายศิริพงษ์ กล่าวว่า มีสัญญาณการชะลอตัว แต่ยังไม่มาก คาดว่าในอนาคตหนังสือคงจะมีลักษณะคล้ายแผ่นเสียงในปัจจุบัน คือ มีค่า น่าสะสม แม้คนจะฟังเพลงจากอินเตอร์เน็ตหรือสื่ออื่นๆแล้วก็ตาม สำหรับอีบุ๊คนั้นในไทยยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก เพราะยังไม่มีเครื่องมือรองรับมากนัก สำนักพิมพ์ต่างๆก็ยังไม่มีความพร้อมทางด้านนี้