ก.แรงงานยันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ไม่ตัดสิทธิผู้ประกันตนลาออก
ที่ปรึกษา รมว.แรงงานยัน ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ไม่ตัดสิทธิผู้ประกันตนลาออก เว้นลาออกไม่มีเหตุอันควรมุ่งหวังประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน
ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.เเรงงาน) ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาแนวทางเพื่อปฏิรูปกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน เปิดเผยถึงกระแสข่าวที่มีผู้ออกมาระบุว่าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม ตัดสิทธิผู้ประกันตน กรณีลาออกจากงานนั้น ขอชี้แจงว่า ตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ผู้ประกันตนยังคงได้สิทธิครบถ้วนกรณีว่างงาน เพราะถูกเลิกจ้างและยังคงได้สิทธิถ้าเกิดเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่สามารถทำงานได้ทั้งที่ยังไม่มีการเลิกจ้าง
ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า หากลาออกเพราะมีเงื่อนไขที่เข้าหลักเกณฑ์ เช่น ลาออกเพราะที่ทำงานย้ายที่ตั้งหรือผู้ประกันตนย้ายที่พักอาศัย หรือลาออกอันมีเหตุอันควร ก็จะยังคงได้สิทธิประโยชน์ทดแทน แต่ถ้าลาออกโดยไม่มีเหตุผลอันควร เพื่อมุ่งหวังได้รับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานก็จะไม่ได้รับสิทธินี้ แต่ทั้งหมดนี้กำลังจะเข้าสู่ชั้นของการพิจารณาของสภาฯ
ดร.นพดล ยังกล่าวว่า การออกมาติดตามความเคลื่อนไหวในการแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคมของภาคประชาชนเป็นเรื่องที่ดี เพราะคณะทำงานปฏิรูปชุดนี้ได้ทำตามนโยบายของ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.เเรงงาน ในทุกมิติที่สำคัญ เช่น เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ บริหารแบบมืออาชีพ และปรับทัศนคติให้ข้าราชการประกันสังคมตระหนักว่า “เราไม่ใช่เจ้าของเงิน” แต่เงินจำนวนกว่า ล้านล้านบาทนี้เป็นของไตรภาคี คือ ลูกจ้าง นายจ้างและรัฐ ที่ต้องช่วยกันปลุกผู้ประกันตนทั้งประเทศออกมาติดตามตรวจสอบดูแลเงินประกันสังคม ถึงเวลาแล้วที่เงินทุกบาททุกสตางค์ต้องอยู่ในสายตาของผู้ประกันตนทุกคน
“รมว.แรงงาน ให้นโยบายชัดเจนว่า ประกันสังคมต้องเปิดเผยทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินของผู้ประกันตน เช่น ผลการประชุมบอร์ดประกันสังคมทุกคณะ เปิดเผยรายจ่ายทุกหมวดในรายละเอียดทั้งที่เป็นเงิน 10% ของยอดเงินที่เก็บได้ในแต่ละปีของกองทุนประกันสังคม และแผนการตั้งจ่ายเป็นเงิน 25% ของกองทุนเงินทดแทนรายการค่าใช้จ่ายทุกรายการต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน บางรายการที่พบว่าอาจจะเอื้อประโยชน์ให้คนเฉพาะกลุ่มก็ให้สำนักงานประกันสังคมนำกลับไปแก้ไขแล้ว เชื่อว่าต่อไปนี้ กองทุนต่างๆ ต้องถูกเปิดเผยลงไปในรายละเอียดว่าใครได้รับเม็ดเงินแต่ละก้อนไปเท่าไหร่ ภาคประชาชนผู้ประกันตนต้องคอยติดตามตรวจสอบ” ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน กล่าว
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า รมว.เเรงงานต้องการทำให้ผู้ประกันตนรู้สึกเป็นเจ้าของเงินและต้องได้รับความพึงพอใจบนหลัก “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” และหวังเห็นผู้ประกันตนออกมาแสดงความเป็นเจ้าของเงินกองทุนร่วมกัน นอกจากนี้ ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างต้องผ่านการใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้ประกันตนกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ ไม่ใช่การกล่าวอ้างความเป็นตัวแทนลูกจ้าง นายจ้างที่มีการบล็อกโหวตของคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์http://click.senate.go.th/?p=6795