3 ปัจจัยถ่วงพูดคุยดับไฟใต้...จับตาถกลับ - มาเลย์เดินสาร
หลายคนสงสัยว่าเหตุใดกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้ หรือที่รัฐบาลชุดนี้ให้เรียกชื่อว่า "พูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" นั้น จึงไม่ค่อยปรากฏความคืบหน้าเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่รัฐบาลชุดที่แล้ว (พรรคเพื่อไทย) ก็ได้กรุยทางเอาไว้พอสมควร
ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ และจับมือตกลงเรื่องนี้ด้วยตัวเองกับ นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.57 โดยขอให้รัฐบาลมาเลเซียทำหน้าที่เป็น "ผู้อำนวยความสะดวก" กระบวนการพูดคุยเช่นที่ผ่านมา
พร้อมๆ กับการเปิดตัว พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยของรัฐบาลไทย นั่นเท่ากับว่าเป็นการประกาศจุดยืนชัดเจนในนามรัฐบาลว่าจะขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยต่อไป
แต่ผ่านมานานร่วม 2 เดือน แทบไม่ปรากฏเค้าลางใดๆ ว่าจะมีการเปิดโต๊ะพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในเร็ววัน
ข่าวที่เป็นทางการมีเพียงการตั้งคณะกรรมการที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพูดคุยสันติสุขขึ้นมา 3 ระดับ คือ ระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน, ระดับปฏิบัติการ หรือ "คณะพูดคุยตัวจริง" มี พล.อ.อักษรา เป็นหัวหน้า และระดับพื้นที่ มีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นหัวหน้า
ส่วนข่าวอย่างไม่เป็นทางการ ก็คือการแอบเดินทางไปพบปะพูดคุยกันอย่างลับๆ ทั้งคณะทำงานฝ่ายไทยกับฝ่ายมาเลเซีย เพื่อยกร่างทีโออาร์การพูดคุย และข่าวเจ้าหน้าที่ไทยบางหน่วยบางระดับเดินทางไปพบกับแกนนำขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ปลดปล่อยดินแดนปัตตานี (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้)
จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่า กระบวนการพูดคุยสันติสุขมีความเคลื่อนไหวในทางลับหลายเรื่อง และน่าจะขยับเป็นความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญได้ในเร็ววันนี้ กล่าวคือ
1.วันพุธที่ 28 ม.ค.58 พล.อ.ประยุทธ์ จะเรียกประชุมคณะกรรมการระดับชาติ ที่เรียกว่า คณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ The Steering Committee for Dialogue ซึ่งเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการนัดแรก เชื่อว่าจะมีการอนุมัติกรอบการพูดคุยและรายชื่อกรรมการในคณะพูดคุยตัวจริงที่มี พล.อ.อักษรา เป็นประธาน เพราะที่ผ่านมามีระบุแค่ตำแหน่งกับหน่วยงาน
2.ตัวแทนคณะพูดคุยตัวจริงจะพบปะกับผู้อำนวยความสะดวกจากมาเลเซียอย่างไม่เป็นทางการภายในสัปดาห์นี้เช่นกัน คาดว่าเพื่อทำความเข้าใจกับร่างทีโออาร์การพูดคุย และวางกรอบสำคัญๆ ร่วมกัน ก่อนเปิดโต๊ะพูดคุยในลำดับต่อไป
3.โต๊ะพูดคุยอาจเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกราวเดือน มี.ค.58 หรืออาจช้ากว่านั้น ทั้งนี้เป็นการคาดการณ์ตรงกันของแกนนำขบวนการพูโลที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ชายแดนใต้ กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ถ่วงรั้งจนอาจส่งผลต่อความล่าช้าของกระบวนการอีก 3 ปัจจัย (ซึ่งหากช้ามากๆ การพูดคุยอาจไม่จบหรือได้ข้อสรุปที่ดีทันอายุของรัฐบาลชุดนี้) กล่าวคือ
หนึ่ง ตัวละครฝั่งผู้เห็นต่างจากรัฐที่ขึ้นโต๊ะพูดคุยเป็น "ตัวจริง" ที่มีอำนาจสั่งการในพื้นที่หรือไม่
ประเด็นนี้น่าคิด เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า "กลุ่มบีอาร์เอ็น" ซึ่งเชื่อกันว่าควบคุมนักรบติดอาวุธกลุ่มใหญ่ที่สุดในพื้นที่ชายแดนใต้ ยังคงสงวนท่าที ขณะที่สายกองกำลังก็ชัดเจนว่าไม่ต้องการพูดคุยกับรัฐบาลไทย ฉะนั้นตัวบุคคลที่มาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกจัดมารอขึ้นโต๊ะ จึงถูกตั้งคำถามและจับตามองแบบจ้องเขม็งว่าเป็นตัวจริงหรือไม่
ล่าสุดมีข่าวว่ามาเลเซียได้จับเข่าคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่าง และฟอร์มกลุ่ม หรือตั้งคณะพูดคุยขึ้นมาแล้ว แต่ตัวละครค่อนข้างใกล้เคียงกับกลุ่มเดิมที่เคยเป็นทีมเบื้องหลังของนายฮัสซัน ตอยิบ
หากข่าวนี้จริง ทุกอย่างก็จะวนกลับมาสู่จุดเดิม คือ คณะพูดคุยฝ่ายผู้เห็นต่างถูกตั้งคำถามว่ามีอำนาจสั่งการกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ได้จริงหรือไม่
สอง กลุ่มผู้เห็นต่างนอกจากบีอาร์เอ็นแล้ว แม้มีท่าทีอยากเข้าร่วมโต๊ะพูดคุย แต่กลับขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจนตกลงอะไรกันไม่ได้ เห็นได้ชัดคือความเคลื่อนไหวของกลุ่มพูโล ซึ่งแตกออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนายกัสตูรี มาห์โกตา ซึ่งเพิ่งจัดประชุม "ยูนิตี้ ทอล์ค" ขึ้นในยุโรปในโอกาสครบรอบ 47 ปีการก่อตั้งองค์การพูโล หวังสร้างเอกภาพและอำนาจต่อรองในการพูดคุย แต่ปรากฏว่ามีตัวแทนกลุ่มอื่นๆ ไปร่วมค่อนข้างน้อย นอกจากแกนนำที่พำนักอยู่ในยุโรปเท่านั้น
กลุ่มนายนูร์ อับดุลเราะห์มาน หรือพูโลเก่าสายผู้อาวุโส ที่มี นายลุกมัน บินลิมา เป็นตัวเดินเกม ไม่ได้ไปร่วมประชุม "ยูนิตี้ ทอล์ค" แต่ชิงความได้เปรียบด้วยการยื่นจดหมายเปิดผนึกพร้อมข้อเรียกร้อง 8 ข้อต่อ พล.อ.ประยุทธ์ หลักๆ คือยกเลิกกฎอัยการศึก และปล่อยตัวนักโทษการเมือง โดยเฉพาะที่เป็นอดีตแกนนำพูโล
กลุ่มนายซัมซุดิง คาน ซึ่งมีกองกำลังนักรบติดอาวุธที่ชื่อ "พีเอลเอ" หรือ Patani Liberation Army กลุ่มนี้ยังคงสงวนท่าที
มีข่าวว่ามาเลเซียยื่นเงื่อนไขให้พูโล 3 กลุ่มนี้ไปตกลงกันให้ได้ เพราะมีที่นั่งในคณะพูดคุยให้ 2 ที่นั่ง แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีข่าวว่าทั้ง 3 กลุ่มตกลงกันได้แล้ว
สาม โครงสร้างคณะทำงานเกี่ยวกับการพูดคุยของรัฐบาลเองที่ค่อนข้างอุ้ยอ้าย มีคณะทำงานระดับชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำให้ "คณะพูดคุยตัวจริง" ขยับตัวได้ช้า และไม่คล่องตัว เนื่องจากต้องรอนโยบายจากคณะกรรมการระดับชาติก่อน
จากปัจจัยทั้ง 3 ประการอาจส่งผลให้การพูดคุยอย่างเป็นทางการเกิดช้า แต่อาจมีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการโดยมาเลเซียทำหน้าที่ดั่ง "คนเดินสาร" นำเงื่อนไขบางประการของแต่ละฝ่ายไปแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อหยั่งท่าที
ขณะที่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยใช้ปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบของรัฐบาลชุดนี้ อาจทำให้มองได้ว่าการพูดคุยสันติสุข เป็นเพียง "เครื่องมือลำดับรอง" ของภารกิจดับไฟใต้ในทัศนะของรัฐบาล คสช.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายกฯประยุทธ์ จับมือกับ นายกฯนาจิบ ราซัค ระหว่างเดินทางเยือนมาเลเซีย เมื่อ 1 ธ.ค.57