ภาคปชช.จี้ปฏิรูปโครงสร้าง คชก.ให้เป็นอิสระ แยกชัดจากสผ.
กมธ.ยกร่างรธน.ยกหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 16 ระบุ เห็นความหวัง ปฏิรูปสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรของประเทศก้าวหน้ามากกว่า ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550
วันที่ 28 มกราคม ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนา หัวข้อ "เราหวังอะไรได้กับการปฏิรูปสิ่งแวดล้อม" ณ สมาคมนักข่าวฯ ถนนสามเสน กรุงเทพฯ
นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 16 ระบุว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสมบัติของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ รัฐต้องบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐ ประชาชน และชุมชน ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น และต้องบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยหลักธรรมาภิบาลและหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างดุลยภาพระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมฯ นั้น ทำให้เราเห็นความหวังการปฏิรูปสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรของประเทศก้าวหน้ามากกว่า ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550
"โจทย์พื้นฐานการเขียนรัฐธรรมนูญที่กรรมาธิการทุกคนเห็นร่วมกัน คือ ถ้าเขียนแล้วต่ำกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 จะเขียนใหม่ทำไม นี่คือแนวพื้นฐานในการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องผูกโยงไว้กับสิ่งแวดล้อมและเรื่องอื่นๆ"
ขณะที่นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวถึงการกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งทับลงไปในพื้นที่ที่ศาลปกครองพิพากษาให้ลุ่มน้ำแม่ตาว และแม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก ต้องประกาศเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จากการปนเปื้อนสารแคดเมียมที่เกิดจากการทำเหมืองแร่สังกะสี จึงอยากถามว่า ประเด็นนี้หรือคือการปฏิรูป ทำไมไม่ให้ความสำคัญกับคำพิพากษาของศาลปกครอง
พร้อมกันนี้ นายเลิศศักดิ์ กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญว่า ขั้นต่ำที่ยังควรต้องมีไว้ เช่น มาตรา 56, 57 และมาตรา 67 วรรคสอง เป็นต้น และรัฐธรรมนูญก็ควรมีความก้าวหน้า โดยเฉพาะ การตัดอำนาจการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือนำระบบนิเวศมาใช้ประโยชน์เพื่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งเรื่องการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) นายกรัฐมนตรี ซึ่งนั่งเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (คชก.) ต้องไม่แต่งตั้ง คชก. อีกต่อไปแล้ว โครงสร้าง คชก.ต้องเป็นองค์กรอิสระ ไม่ผูกพันกับผลประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายใด
ด้านนายหาญรงค์ เยาวเลิศ คณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปช. กล่าวถึงการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม สิ่งที่จำเป็นต้องเข้าไปดู คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สิ่งแวดล้อม 2535 โดยเฉพาะ กองวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ที่เคยอยู่กับ สผ.ไม่น่าเกี่ยวข้องกับระบบราชการอีกต่อไป ต้องมีอิสระและออกจากระบบราชการ เพื่อให้เกิดความเป็นกลาง ทำงานอย่างตรงไปตรงมา
"พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม 2535 ต้องมีการแก้ไข ในหมวดที่ว่าด้วยการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม กองทุนสิ่งแวดล้อม ดังนั้นภายใน 3 เดือน เมื่อรัฐธรรมนูญร่างเสร็จ กฎหมายต้องมีการเสนอแก้ไขควบคู่กันไปด้วย"