เบื้องลึก “แดเนียล รัสเซล” เยือนไทย แค่เปิดช่องขั้วการเมืองแอ๊คชั่น
"...เพียงแต่ว่าการมาเยือน “ประเทศไทย” ของ “แดเนียล รัสเซล” ทำให้ “ขั้วการเมือง” นำไปแสวงหาประโยชน์เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองแค่บางช่วงบางจังหวะเท่านั้น มีโอกาสได้พูด-ได้เคลื่อนไหว ภายใต้บริบททางการเมืองที่ยังเคลื่อนไหวได้ไม่ถนัด..."
ฝาก หนึ่ง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี แม้จะติดโทษแบนทางการเมือง 5 ปี แต่ทุกความเคลื่อนไหวยังมีสัญญะสำคัญกับ “พรรคเพื่อไทย” และ “แนวร่วมคนเสื้อแดง” เดินทางไปพบที่บ้านพักเอกอัครราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
อีกฟากหนึ่ง “แดเนียล รัสเซล” เดินทางไปพบกับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงที่ทำการพรรค
ที่สำคัญ “แดเนียล รัสเซล” ได้เดินทางเข้าพบกับ “พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นตัวแทนของรัฐบาลด้วย
การปรากฏตัวของ “ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐ” ทำให้สังคมตีความไปต่างๆนานา ซึ่งแต่ละฝ่ายสามารถใช้เหตุการณ์ดังกล่าวไปอ้างอิงกับการต่อสู้ทางการ เมืองอย่างแน่นอน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมข้อมูลจากแหล่งข่าวด้านความมั่นคง เพื่อประเมินสถานการณ์และความเคลื่อนไหวดังกล่าว เพื่อฉายภาพการเมืองให้เห็น
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า โดยปกติแล้ว “หน่วยข่าวไทย” จะรายงานความเคลื่อนไหวให้กับ “รัฐบาลสหรัฐฯ” ผ่านทาง “สำนักข่าวกรองกลาง” หรือซีไอเอ เป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามกรอบความร่วมมือ ทำให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง “ประธานาธิบดีสหรัฐฯ” มักจะเชื่อข้อมูลที่ “หน่วยข่าว” ประเมินให้ เพราะค่อนข้างมั่นใจและไว้ในประสิทธิภาพ มากกว่า “ข่าว” ที่ได้รับจากบรรดา “ผู้ช่วยรัฐมนตรี”
เช่นเดียวกันกับ “บารัค โอบามา” ที่อย่างไรเสียก็ต้องเชื่อข้อมูลที่ “ซีไอเอ” มากกว่าข้อมูลที่ได้รับจาก “บุคคลอื่น”
อีกทั้งการที่ “แดเนียล รัสเซล” ไม่ได้เข้าพบ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะสถานะของ “แดเนียล รัสเซล” เป็นเพียง “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” ไทยสามารถส่งผู้ที่ดำรงตำแหน่งในระดับเดียวกันไปต้อนรับได้
แต่การที่เปิดโอกาสให้ “แดเนียบ รัสเซล” เข้าพบ “พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร” ถือว่าทางการไทยให้เกียรติเป็นอย่างมาก
แหล่งข่าวระบุว่า “นายแดเนียล รัสเซล ระมัดระวังว่าจะถูกตีความว่าเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในของไทย จึงไม่ได้หารือพล.อ.ธนะศักดิ์ในเรื่องการเมืองของไทยแม้แต่น้อย เพียงแต่สอบถามถึงการบังคับใช้กฎอัยการศึก และเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกเท่านั้น ซึ่งพล.อ.ธนะศักดิ์อธิบายเหตุผลความจำเป็นให้รับฟังแล้ว”
ดังนั้นการที่ “สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะออกมาระบุว่า ได้หารือกับ “แดเนียล รัสเซล” เกี่ยวกับการถอดถอน “น.ส.ยิ่งลักษณ์” ออกจากตำแหน่ง โดยมีชะตากรรมทางการเมืองไม่ต่างจาก “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี จึงไม่มีผลกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯแต่อย่างใด
เพราะความสัมพันธ์ที่แท้จริงของ “ไทย” กับ “สหรัฐฯ” ไม่เคยอยู่ในระดับดีด้วยกันมาโดยตลอด หนำซ้ำตั้งแต่ “พล.อ.ประยุทธ์” เข้ามาบริหารประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศยิ่งห่างไกลกันมาก
เพียงแต่ว่าการมาเยือน “ประเทศไทย” ของ “แดเนียล รัสเซล” ทำให้ “ขั้วการเมือง” นำไปแสวงหาประโยชน์เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองแค่บางช่วงบางจังหวะเท่านั้น มีโอกาสได้พูด-ได้เคลื่อนไหว ภายใต้บริบททางการเมืองที่ยังเคลื่อนไหวได้ไม่ถนัด
ขณะที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า "รัฐบาลคงไม่ต้องต่อว่าสายแดเนียล เพราะเขาฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย และเป็นจุดยืนของรัฐบาลเขา เราก็ให้สิทธิเสรีภาพกับทักฝ่าย"
"อเมริกาก็มีศูนย์ข่าวที่เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารของเขา ซึ่งมีข้อมูลประเทศไทยมากพออยู่แล้ว"