ปิดเหมืองทองคนตกงาน ชาวบ้านหวั่นชุมชนแตกแยก จี้กพร.ดูเรื่องค่าแรง
กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ ตบเท้าเข้าพบอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้ทบทวนการอนุมัติโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ จี้เปิดรายชื่อชาวบ้านที่เจ็บป่วย
วันที่ 27 มกราคม 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ ได้เข้าพบ นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เพื่อขอให้ทบทวนการอนุมัติโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่
นางอารมย์ คำจริง แกนนำเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ 3 จังหวัด กล่าวถึงการเดินทางมาขอความเป็นธรรมไม่ได้มีเจตนาอื่นใด แต่อยากให้หน่วยงานภาครัฐได้พิจารณาถึงความเดือดของชาวบ้านด้วย ซึ่งสิ่งที่จะขอคือ
1.ขอให้เปิดเผยข้อมูลรายชื่อประชาชนผู้ป่วยจำนวน 250 คน ที่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่มีคำสั่งให้ทางบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) นำไปรักษาเพื่อขอทราบในการดำเนินการ
2.ขอให้ตรวจสอบและมีการเปิดเผยตัวเลขข้อมูลและสถิติการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนตั้งแต่ พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบันในเขตจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และพิจิต สู่สาธารณะตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารเพื่อเปรียบเทียบว่า เกิดความผิดปกติหรือไม่ ในการมีเหมืองแร่ทองคำ
3.ขอให้ดูแลเรื่องค่าแรงคนงานภายในเหมืองแร่ทองคำ ขณะบริษัทฯปิดทำการ ถึงแม้จะเป็นเรื่องภายในของบริษัทฯ แต่คนงานจำนวนมาก คือคนในชุมชนรอบเหมืองแร่ทองคำ จึงทำให้เกิดการเดือดร้อนแตกแยกขึ้น เนื่องจากคนงานเกรงว่า จะตกงานและบางคนเข้าใจผิดว่า กลุ่มชาวบ้านที่เรียกร้อง เพราะได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มคนที่ทำให้พวกเขาต้องตกงาน เพื่อลดปัญหาการแตกแยกในชุมชนอันอาจก่อให้เกิดความรุนแรง
4.ให้ผู้ประกอบการยอมรับในผลการตรวจของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิตที่ผ่านมา เพื่อหาทางแก้ไขช่วยเหลือประชาชนร่วมกัน เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือเร่งด่วนต่อชาวบ้านผู้เจ็บป่วยให้เสมอภาคกัน ไม่เลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มคน เนื่องจากชาวที่ป่วยหนักส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานในเหมือง
แกนนำเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบฯ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เคยทราบว่า มีคนงานของบริษัทฯ ถูกส่งตรวจเลือดเพื่อหาสารพิษ และมีพนักงานหลายคนในการตรวจครั้งนั้นไม่ได้รับรายงานผลการตรวจเลือด และไม่กล้าแสดงตน เพราะกลัวจะตกงาน ประกอบกับช่วงเดือนกรกฎาคม 2557 ได้มี คสช. โดยคณะทำงานกลุ่มย่อยจากการนำของทหาร จากกองกำลังรักษาความสงบจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ ได้เรียกร้องให้บริษัทฯดังกล่าวส่งผลการตรวจจหาสารพิษของพนักงานให้กับคณะทำงานเพื่อประกอบการแก้ไขปัญหา แต่ปรากฎว่า นายทหารคนดังกล่าวได้ถูกโยกย้าย จึงทำให้เรื่องนี้ยังไม่ได้รับการเปิดเผยข้อมูล ดังนั้นควรมีการเปิดเผยข้อมูลตรงนี้ เพื่อให้ทราบว่าประชาชนรายใดที่ยังไม่ได้รับการตรวจรักษาและรายใดที่ได้ทำไปแล้ว อันเป็นการมิให้ซ้ำซ้อนในการทำงาน
นางอารมย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ขอให้ตรวจสอบ และเปิดเผยสถิติการเจ็บป่วย และเสียชีวิตของประชาชนตั้งแต่ พ.ศ.2540 จนถึงปัจจุบันในเขตจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และพิจิตร สู่สาธารณะตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ เพื่อนำไปเปรียบเทียบตัวเลขก่อนและหลังการทำเหมืองแร่ทองคำว่า มีค่าเฉลี่ยการเสียชีวิตของประชาชนแตกต่างกันอย่างไร อีกทั้งเพื่อให้ข้อมูลนี้เป็นบรรทัดฐานของรัฐบาลใช้ในการประกอบการตัดสินใจ ส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมทำกิจกรรมเหมืองแร่ต่อไปนั้น คุ้มค่ากับความเดือดร้อนของประชาชนหรือไม่ในอนาคต
นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวถึงคำสั่งให้บริษัทฯ หยุดดำเนินการชั่วคราวนั้น ยังไม่ได้ชี้ว่าใครผิดใครถูก แต่เนื่องจากเห็นว่า การประกอบการอาจจะเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จึงวินิจฉัยให้หยุดเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 และเมื่อครบกำหนด 30 วัน ประมาณวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 ทางบริษัทฯ ต้องเปิดเผยรายชื่อระชาชนผู้ป่วยจำนวน 250 คน