เบื้องลึก!ขั้นตอนจัดซื้อเครืองบินตร.1.1 พันล.ยุค คสช. กับคำถามถึง "ประจิน"
"..คำถามที่น่าสนใจ คือ ช่วงเวลาที่ สตช. ชงเรื่องการจัดซื้อเครื่องบินลำนี้ ให้ คสช. อนุมัติ เป็นช่วงเวลาที่พล.อ.ประจิน สวมหมวก 2 ใบ คือ เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด และเป็นหนึ่งใน คสช. ด้วย .."
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จัดซื้อรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า วงเงิน 1,726,866,045 บาท โดยพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้นำเสนอเรื่องต่อ คสช.เพื่อขออนุมัติจัดซื้ออากาศยานเครื่องบินปีกติด แบบคาซ่า CN235-220M Multi Purpose Aircraft ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากประเทอินโดนิเซีย จำนวน 1 ลำ เพิ่มเติม เป็นเงินทั้งสิ้น 1,149,800,000 บาท จากบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด โดยใช้วิธีพิเศษ นั้น
(อ่านประกอบ : สตช.ช็อปกระจาย! หลังคสช.ยึดอำนาจ ใช้วิธีพิเศษซื้อเครื่องบินอีก1.1 พันล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเอกสารการจัดซื้ออากาศยานเครื่องบินปีกติด แบบคาซ่า CN235-220M Multi Purpose Aircraft ของ สตช. ดังกล่าว
พบข้อมูลว่า สตช.ได้ตั้งเรื่องขอเสนอรัฐบาลพิจารณาอนุมัติการจัดซื้อเครื่องบินลำนี้ มาตั้งแต่ก่อนหน้าที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะถูกยึดอำนาจจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว
โดยเมื่อวันที่ 28 ม.ค.57 สตช.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อเครื่องบินปีกติดเพิ่มเติม จำนวน 1 ลำ ภายในวงเงิน 1,150,000,000 บาท โดยวิธีพิเศษ โดยใช้งบประมาณปี 57 จำนวน 172,500,000 บาท ผูกพันปี 58 จำนวน 517,500,000 บาท และปี 59 จำนวน 460,000,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 มี.ค.57 สตช.ได้มีหนังสือให้ยกเลิกการดำเนินการ เนื่องจากผู้ยื่นเอกสาร คือ บริษัท EADS CONSTRUCCIONES AERONAUTICAS,SA (EADS CASA) เสนอเอกสารข้อเสนอทางเทคนิคไม่ถูกต้องตามขอบเขตของงาน และคุณลักษณะเฉพาะที่กำหนด
ต่อมาวันที่ 30 เม.ย.57 สตช.จึงได้ทำหนังสือเชิญชวน บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด เข้ายื่นซองทางเทคนิคและเสนอราคาแทน ในวันที่ 12 พ.ค.57
ก่อนที่จะมีการตรวจสอบเอกสารด้านเทคนิคและคุณสมบัติของบริษัท อุตสาหกรรมการบินจำกัด ในวันที่ 14 พ.ค.57 และพบว่าถูกต้องครบถ้วนมีรายละเอียดเป็นไปตามขอบเขตงานทุกประการ
จากนั้น ในวันที่ 28 พ.ค.57 หลังการรัฐประการยึดอำนาจ ของ คสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 คณะกรรมการประกวดราคาได้ร่วมกันเปิดซองเสนอราคาของบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด พบว่ามีการเสนอราคาอยู่ที่ 1,149,800,000 บาท ซึ่งแม้ว่าจะเป็นราคาที่ต่ำกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ จำนวน 150,000,000 บาท แต่เพื่อประโยชน์ราชการ คณะกรรมการฯ จึงได้ทำการต่อรองราคากับบริษัทฯ อีกครั้ง
เบื้องต้นทางบริษัทฯ ยืนยันราคาเดิมอยู่ที่ 1,149,800,000 บาท แต่ยินดีมอบอุปกรณ์และการบริการเพิ่มเติม โดยไม่คิดมูลค่าเพิ่ม เป็นเงิน 89,550,000 บาท คณะกรรมการฯ จึงมีการประชุมและมีมติเป็นเอกฉันฑ์ ให้จัดซื้อเครื่องบินจากบริษัทฯ และนำเสนอเรื่องให้ คสช.พิจารณาอนุมัติ ในช่วงเดือนมิ.ย.57
เนื่องจากวงเงินการจัดซื้อเครื่องบินเครื่องนี้โดยใช้วิธีพิเศษ มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นอำนาจของ หัวหน้า คสช.ที่จะอนุมัติได้ในช่วงเวลานั้น
ส่วนเหตุผลว่าทำไม สตช.ต้องทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ให้มายื่นเสนอราคานั้น ยังไม่มีการยืนยันข้อมูลเป็นทางการจาก สตช.?
แต่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งแต่งตั้งขึ้นในวันรัฐประหารตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 6 จำนวน 6 คน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบ ปรากฎรายชื่อเป็นบอร์ด บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ด้วย
(อ่านประกอบ : นอกจากการบินไทย "รัฐวิสาหกิจ" แห่งใดที่ พล.อ.อ.ประจิน ยังไม่ลาออก?)
ทั้งนี้ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด จดทะเบียนวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ทุนปัจจุบัน 100 ล้านบาท ประกอบธุรกิจ ซ่อมอากาศยานและอุปกรณ์เกี่ยวกับอากาศยาน จำหน่ายอุปกรณ์อากาศยาน ที่ตั้งเลขที่ 171 อาคารหมายเลข 4465 ถนนพหลโยธิน แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ
โดยในช่วงระหว่างปี 2546 - 2556 บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ได้รับว่าจ้างจากหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้น 411 ครั้ง วงเงิน 15,401,333,721 บาท ในจำนวนนี้จากกองทัพอากาศ (กรมอิเล็คทรอนิกส์ทหารอากาศ และกรมช่างทหารอากาศ) 388 ครั้ง วงเงินรวม 13,959,565,936 บาท กองทัพบก โดย กรมการขนส่งทหารบก 1 ครั้ง 998,890,000 บาท รวม 389 ครั้ง วงเงิน 14,958,455,936 บาท
จากการตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ล่าสุด ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2557 (ช่วงหลังการจัดซื้อเครื่องบิน) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ถืออยู่ 509,998 หุ้น มูลค่า 50,999,800 บาท กองทุนสวัสดิการกองทัพอากาศ โดยพลอากาศเอก ตรีทศ สนแจ้ง ถืออยู่ 489,996 หุ้น มูลค่า 48,999,600 บาท พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง นาย วรเดช หาญประเสริฐ นางสาว วิมลกานต์ โกสุมาศ พลอากาศเอก วีรนันท์ หาญสวธา พลอากาศเอก อานนท์ จารยะพันธ์ ถืออยู่คนละ 1 หุ้น
ขณะที่ในการแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ช่วงเข้ารับตำแหน่ง รมว.คมนาคม ของพล.อ.ประจิน ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 4 ก.ย.57 ระบุว่ามีรายได้อื่นๆ จากบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด เป็นจำนวนเงิน 533,333 บาท
คำถามที่น่าสนใจ คือ ช่วงเวลาที่ สตช. ชงเรื่องการจัดซื้อเครื่องบินลำนี้ ให้ คสช. อนุมัติ เป็นช่วงเวลาที่พล.อ.ประจิน มีหมวก 2 ใบ คือ เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด และเป็นหนึ่งใน คสช. ด้วย
"พล.อ.ประจิน" รู้เรื่องและเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับการจัดซื้อเครื่องบินของ สตช.ครั้งนี้ ด้วยหรือไม่
# เชิญชวนติดตามข่าวสารสำนักข่าวอิศรา ได้ที่ แฟนเพจ "I love isranews"