วงวิชาการหนุนยกระดับ ‘เอชไอเอ’ ครอบคลุมทุกมิติ บัญญัติใน รธน.
สช. กับสจรส. เปิดเวทีวิชาการ HIA Conference หนุนสร้างองค์ความรู้และกลไก HIAให้เข้มแข็ง พร้อมชงข้อเสนอใช้ในกิจการพลังงาน-เหมืองแร่-เอฟทีเอ ยกระดับการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ครอบคลุมทุกมิติ บรรจุใน รธน.ฉบับใหม่
วันที่ 26 มกราคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.มอ.) จัดการประชุมวิชาการ การประเมินผลกระทบทำงานสุขภาพ (HIA Conference) ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๗ ในหัวข้อเรื่อง “ผลกระทบของกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ” (The Impact of Health Impact Assessment) ณ ห้องราชเทวี โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร
ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผอ.สจรส. กล่าวว่า เวทีการประชุมวิชาการ HIA Conference ครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนและพัฒนากระบวนการการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น สอดคล้องตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่คุ้มครองสิทธิของชุมชนจากนโยบายสาธารณะที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 67 วรรค 2 กำหนดให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพร่วมกับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
“การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ถือเป็นเครื่องมือทางสังคมที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน และใช้ความรู้ทางวิชาการประกอบในการประเมินผลกระทบสุขภาพทุกมิติ ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้ง ก่อนที่ภาครัฐจะกำหนดนโยบายหรือตัดสินใจดำเนินโครงการ”
ผอ.สจรส. กล่าวต่อว่า แนวทางการทำ HIA ในช่วงที่ผ่านมายังมีข้อจำกัด ทำให้กลไกการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะชุมชนดำเนินการได้ไม่เต็มที่ และไม่สอดคล้องกับบริบทใหม่ของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องพัฒนากลไกให้ดีขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นแต่การประเมินผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเฉพาะรายโครงการ/กิจกรรม โดยขาดการมองภาพรวมของนโยบายและข้อจำกัดของพื้นที่ เช่น กรณีของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในจังหวัดต่างๆ ซึ่งสุดท้ายภาครัฐก็อนุมัติการก่อสร้าง
“ขณะนี้ มีการผลักดันแนวคิดใหม่ คือ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในเชิงนโยบายและการมองภาพรวมถึงศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งเป็นกลไกที่ครอบคลุมนโยบายของภาครัฐ ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดโครงการ/กิจกรรมต่างๆ เช่น นโยบายพลังงานในภาพรวมของประเทศ นโยบายการผลิตไฟฟ้า นโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (เหมืองแร่) นโยบายในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือนโยบายรวม 3 กองทุนประกันสุขภาพ คือ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะเกิดให้ผลกระทบต่อระบบสุขภาพของประชาชนอย่างไร เป็นต้น”
โดยเวที HIA Conference ในครั้งนี้ มีการทำงานวิชาการโดยการพัฒนาข้อเสนอการประยุกต์ใช้ HIA ในนโยบายสาธารณะที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน คือ 1.นโยบายพลังงานของประเทศไทย 2.การจัดการทรัพยากรสินแร่และเหมืองแร่ของประเทศไทย และ 3.กระบวนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (FTA) รวมทั้งข้อเสนอกลไกและกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่งในการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งทางสถาบันฯ จะนำข้อมูลที่ได้ข้างต้น เสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณาให้บรรจุเป็นสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป
นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยจำเป็นต้องมีกลไกในการประเมินโยบายของภาครัฐว่าสร้างผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร เช่น นโยบายส่งเสริมการทำเหมืองแร่ เช่น เหมืองทองคำ ในอดีตแม้จะสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก แต่ไม่เคยมีการประเมินถึงความคุ้มค่า เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพแวดล้อมหรือสุขภาวะของชาวบ้านที่ต้องสูญเสียไปตลอดระยะเวลาที่ภาครัฐให้สัมปทาน
ดังนั้น การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA ในแต่ละโครงการ จึงเป็นกลไกดูแลสุขภาพของประชาชนและลดผลกระทบทางสังคมเพิ่มเติมจากเดิม ที่มุ่งเน้นการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ EIA เพียงอย่างเดียว และขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำลังผลักดันเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาเสริม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) จะช่วยให้การประเมินผลกระทบครอบคลุมไปถึงศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ด้วย หรือกลไกใหม่ในการประเมินผลกระทบทางสังคม เป็นต้น