จับเมืองเรียนรู้ชนบท – เพิ่มคุณค่าความเป็นชาติ สร้าง“สังคมปกติสุขแบบใหม่”
พระไพศาลมองความรุนแรงชายแดนใต้-พฤษภาทมิฬ-เมษา 53 มีรากเหง้าเดียวกัน แนะสื่อเปิดพื้นที่ให้คนเมืองคนชนบทเรียนรู้กัน เร่งหาความจริงและเยียวยาชาวบ้าน อ.ไพบูลย์เสนอทิศทางปฏิรูปตั้ง 3 คณะกรรมการอิสระภาคประชาชนทำงานคู่ขนานกลไกรัฐ ดร.มาร์คเสนอไม่ใช้มาตรการนอกระบบจัดการคนผิด วิธีคิดต้องปรับเป็นล่างขึ้นบนจากชาวบ้านถึงรัฐ อดีตรองปลัดกลาโหม แนะเพิ่มคุณค่าความเป็นชาติใหม่จึงแก้ปัญหาได้
เมื่อวานนี้(9 มิ.ย.) กลุ่มจับกระแสเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา“ทางออกสังคมไทยหลังวิกฤติ 19 พฤษภาคม” โดย พระไพศาล วิสาโล ประธานเครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ความแตกแยกเกิดขึ้นตั้งแต่เหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้และสร้างความร้าวลึกมาเป็นลำดับ รากเหง้าปัญหาร่วมกันคือความยากจนและความไม่ธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคนชนบทไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่กลับแบกรับภาระอำนวยความสะดวกให้คนชั้นกลางในเมือง
พระไพศาล กล่าวว่า แรงผลักดันที่ทำให้ชาวบ้านตกอยู่ในกำดักความรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่าคือ โครงสร้างสังคมรวมศูนย์ที่ทำให้ชาวบ้านต้องร้องขอความเป็นธรรม และวัฒนธรรมความรุนแรงหรือการขาดสันติธรรมไม่ยอมรับความเห็นหรือรู้สึกลบกับ คนที่คิดต่าง รวมทั้งอำนาจนิยมทางศีลธรรมที่มองคนผิดมีสิทธิ์เป็นศูนย์ ตัดสินและลงทัณฑ์คนผิด ความคิดแบบนี้จะกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงไม่มีที่สิ้นสุด
“ต้องปรับโครงสร้างที่รุนแรง ทำการเมืองให้กระจายอำนาจอย่างทั่วถึงชาวบ้านมีส่วนร่วม และไม่ใช้นโยบายที่ปกป้องคนกลุ่มน้อย เช่น กรณีมาบตาพุด การแก้วัฒนธรรมความรุนแรงต้องแก้ทั้งระบบการศึกษา บทบาทศาสนาให้เกิดสันติธรรม และเปลี่ยนทัศนะอำนาจนิยมให้มาใช้ปัญญาในการมองปัญหา”
พระไพศาล เสนอว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สื่อต้องเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านในชนบทและคนในเมืองได้เรียนรู้กันมากขึ้นผ่าน การทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อลดความเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งต้องทำควบคู่กับการแก้ปัญหาที่ตัวกลไกความขัดแย้ง เช่น ระบบรัฐสภา กระบวนการยุติธรรม นอกจากนั้นต้องเร่งเยียวยาและหาความจริง โดยทำทุกระดับตั้งแต่ชาวบ้านถึงรัฐบาล หากทำได้โอกาสจะหลุดจากกับดักความรุนแรงคงเป็นไปได้
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้นตอปัญหาฝังอยู่ในโครงสร้าง วัฒนธรรมการเมือง ข้าราชการ และประชาชน สลับซับซ้อนสะสมมานาน แนวทางแก้ไขต้องอาศัย 3 ฝ่าย คือ รัฐบาลต้อง เดินหน้าแผนปรองดอง 5 ข้อคือการเยียวยา ค้นหาความจริง ปรับปรุงรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสื่อ และปฏิรูปประเทศที่ต้องอาศัยข้อเสนอจากภาคประชาชนให้เห็นรูปธรรม, ประชาชน ต้องตั้งคณะกรรมการอิสระภาคประชนขึ้นมาทำงาน 3 คณะคือ 1.คณะกรรมการฯเพื่อติดตามและศึกษามาตรการรัฐ ทำหน้าที่เป็นตาที่สองตรวจสอบเชิงลึกหรือทำเป็นกรณีศึกษาด้วยวิธีการที่ สร้างสรรค์หาช่องโหว่ไม่ใช่ชี้หน้าด่า 2.คณะกรรมการฯเพื่อการปฏิรูป ประเทศ เพื่อให้ได้ตัวแทนที่สามารถรวบรวมและขยายปัญหาของชาวบ้านทั้ง ประเทศสู่การแก้ไขเชิงปฏิบัติได้ โดยให้รัฐหรือเอกชนทำหน้าที่ประสานหรือสนับสนุน
3. คณะกรรมการฯร่วมของเครือข่ายผู้สนับสนุนกระบวนการสันติวิธี โดยอาศัยความรู้หรือวิธีการจากชุมชนต้นแบบหรือหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้เป็น โมเดลดำเนินการ ทั้งนี้อาจมีกองทุนสนับสนุนและฟื้นฟูการปฏิรูปประเทศที่มาจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน เพื่อให้ทุนดำเนินการระยาวแก่คณะทำงานทั้ง 3ชุด, ส่วนสุดท้ายคือรัฐสภาต้องมีคณะกรรมาธิการทำงานคู่ขนานกับภาคประชาชน อย่างอิสระแต่เชื่อมยังกัน
รศ.มาร์ค ตามไท ผอ.สถาบันศาสนาวัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่าสังคมต้องปรับ 4 เรื่องหลักคือ 1.ขยายการเปิดรับความรู้ ความรู้สึกและความคิดที่ต่างกันของคน ไม่มองเพียงถูกหรือผิด แต่มองว่าสิ่งที่เหมาะสมหรือกติกาขณะนั้นเป็นผลดีต่อเหตุการณ์ที่เผชิญอยู่ หรือไม่ 2.การทำงานโดยถอดบทเรียนจากองค์ความรู้ในพื้นที่หรือประเทศที่ประสบวิกฤติ คล้ายกัน มาปรับใช้ในส่วนที่เหมาะสมกับสังคมไทย 3.สร้างระบบการเมืองการปกครองที่จัดการกับคนผิดได้ โดยไม่ใช้มาตรการนอกระบบที่ทำให้ชาวบ้านหมดความมั่นใจ 4.ใช้รูปแบบการคิดแบบล่างขึ้นบน เพราะความรู้สึกของคนไม่ได้ถูกสั่งโดยแกนนำหรือผู้มีอำนาจ หากจะแก้ต้องให้ชาวบ้านเป็นผู้กำหนด
“สังคมต้องเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าพลาดต้องพลาดแบบใหม่ไม่ใช่พลาดแบบเดิม สังคมแบบเดิมไม่ใช่สังคมปกติสุข หากจะแก้ปัญหาต้องคิดด้วยว่าจะอยู่อย่างไรในสังคมปกติสุขแบบใหม่”
พลเอกไวพจน์ ศรีนวล อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า รัฐบาลที่ผ่านๆและราชการยึดกรอบคิดประเทศพัฒนาแล้วมาใช้ทั้งที่สังคมไทยยัง ไม่พร้อม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความทุกข์ยากให้ชาวบ้านอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้การกำหนดคุณค่าความเป็นชาติไทยไว้เพียงข้อเดียวคือความจงรักภักดี ในสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มเติมคุณค่าใหม่ที่แก้ไขความทุกข์ยากได้จริงตามสถานการณ์ที่เปลี่ยน ไปอย่างซับซ้อน สะท้อนปัญหาให้คนส่วนใหญ่ก้าวเดินไปอย่างมั่นคง
“คนระดับล่างถูกกดให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ความเจ็บช้ำซ้ำซากทำให้เกิดความแตกแยก ต้องสร้างกรอบคิดใหม่ให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมเข้มแข็ง มิติอื่นเป็นเครื่องมือ ไม่ปล่อยการพัฒนาสังคมเป็นผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจอีกต่อไป” .