เปิด32ประเด็นปฏิรูปก่อน'สปช.'เดินหน้าลุย
ก่อน "สปช." เดินหน้าลุย! เปิด32ประเด็นปฏิรูป 7ประเด็นพัฒนา พบวาระปฏิรูปสำคัญ ยุบรัฐวิสาหกิจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้นัดประชุม สปช. ในวันที่ 26 ม.ค. เพื่อพิจารณาวาระสำคัญคือการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความเห็นของสมาชิก สปช. เรื่อง จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีกลไกป้องกันและขจัดความทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ และการพิจารณารายงานการจัดทำวิจัยทัศน์และออกแบบอนาคตประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์และออกแบบอนาคตประเทศไทย ได้นำเสนต่อที่ประชุม
โดยรายละเอียดจะเป็นการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวาระปฏิรูป จำนวน 32 ประเด็น และวาระพัฒนาเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน จำนวน 7ประเด็น ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ วาระการปฏิรูป จำนวน 32 ประเด็น แบ่งเป็นประเด็นการเมือง การป้องกันการทุจริต การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล มี 2วาระ คือ 1.การป้องกันการทุจริต ด้วยการสร้างกลไกในการจัดการปัญหาทุจริต, การเอาผิดผู้ทุจริตที่จริงจัง เป็นต้น และ 2.การปฏิรูประบบพรรคการเมือง และการเข้าสู่อำนาจ ด้วยสมัชชาพลเมือง หรือสมัชชาประชาชน วางกลไกให้คนดีเข้าสู่สภา ขณะที่พรรคการเมืองต้องไม่เป็นของนายทุน, ประเด็นระบบการบริหารราชการแผ่นดิน และการปกครองท้องถิ่น มี 3 วาระ คือ 1.การปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น ด้วยการกำหนดขอบเขตอำนาจความสัมพันธ์ระหว่างราชการส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น รวมถึงประชาชน, 2.วาระงบประมาณ ด้วยการสร้างระบบตรวจสอบและการประเมินความคุ้มค่า และ 3.เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานภาครัฐ ด้วยการยกระดับการบริการสาธารณะให้มีคุณภาพ
ประเด็นนิติรัฐและกระบวนการยุติธรรม มี 2 วาระ คือ 1.ปฏิรูปกิจการตำรวจ ด้วยการกระจายอำนาจการบริหารและจัดโครงสร้างใหม่ และ 2.การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยจะเน้นกระบวนการการใช้อำนาจและดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุตะรรมและตรวจสอบ, ประเด็นเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง การเกษตร อุตสาหกรรม การบริการ พลังงานและแรงงาน มี 8 ประเด็น ได้แก่1.ปฏิรูปโครงสร้างภาษี ด้วยการสร้างระบบภาษีที่เป็นธรรม ลดความซ้ำซ้อนและช่องโหว่ของระบบภาษี, 2.ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ด้วยการยุบรัฐวิสาหกิจที่ไม่จำเป็น และยกระดับประสิทธิภาพและธรรมาภิบาล รวมถึงลดการแทรกแซงจากรัฐ จัดตั้ง Holding Company, 3.ระบบพลังงาน ด้วยการจัดโครงสร้างพลังงาน และพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพด้วย, 4.ปฏิรูปที่ดิน ด้วยการตั้งธนาคารที่ดิน และให้สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร, 5.ปฏิรูปการผูกขาดและการแข่งขันที่เป็นธรรม ด้วยการออกกฎหมายที่ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า, 6.การปฏิรูปการเงินรากฐานและสหกรณ์ ด้วยการจัดกองทุนการออมชุมชน สหกรณ์ชุมชน เป็นต้น, 7. การสร้างสังคมผู้ประกอบการ ด้วยการพัฒนากลุ่มรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และการเข้าถึงแหล่งทุน และ 8. ปฏิรูปภาคเกษตร ด้ยการพัฒนาภาคเกษตรสาขาต่างๆ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป รวมถึงตั้งสหกรณ์การเกษตร
ประเด็นระบบการศึกษา การพัฒนาคุณภาพคน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และปัญญาของประเทศ มี 4 ประเด็น ได้แก่1.ระบบจัดการศึกษา ด้วยการแยกการกำกับดูแลออกจากการดำเนินการ, 2.สร้างระบบการเรียนรู้ ด้วยวิธีการปลูกฝังคุณธรรม,3.การกีฬา ด้วยการแยกภารกิจการกีฬาออกจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำกีฬาเพื่อการปรองดองและ4.ระบบวิจัย ด้วยการจั้งกรรมการเพื่อพัฒนาระบบวิจัย การนำผลงานวิจัยต่อยอดสู่การค้าการพาณิชย์, ประเด็นระบบสาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี 6 ประเด็น ได้แก่ 1.ระบบบริการสาธารณสุข โดยแยกการกำกับดูแลออกจากการดำเนินงาน รวมถึงกระจายหน้าที่ในการให้บริการไปสู่ท้องถิ่น ชุมชนและภาคเอกชน,2.ระบบส่งเสริมและสุขภาพและการป้องกันโรคใหม่, 3.ระบบการเงิน การคลังด้านสุขภาพ ด้ยการสร้างหลักประกันสุขภาพ การร่วมจ่ายบริการสุขภาพระหว่างรัฐกับผู้ใช้บริการตามฐานะ, 4.ระบบการบริหารจัดการด้านทรัพยากร โดยแยกการกำกับดูแลออกจากการดำเนินงาน ปรับปรุงระบบภาษีสิ่งแวดล้อม และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน, 5.ภัยพิบัติตามธรรมชาติ ภาวะโลกร้อน ด้วยการสร้างกลไกดูแลผลกระทบ และเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือผลกระทบ และ 6.ทำเมืองน่าอยู่ ด้วยการสร้างเมืองน่าอยู่ต้นแบบ
ประเด็นโครงสร้างสังคม ชุมชน การดูแลสวัสดิการสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะและการคุ้มครองผู้บริโภค มี 4 ประเด็น ได้แก่ 1.ส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง ด้วยสร้างกลไกสัมมนาชีพชุมชน สวัสดิการชุมชน ชุมชนจัดการตนเอง, 2.สวัสดิการสังคม ด้วยการออม ยกระดับสวัสดิการแรงงานและสุขภาพ, 3.สังคมสูงวัย ด้วยสร้างระบบดูแลการใช้ศักยภาพคนสูงวัย และ 4.การคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยตั้งสมัชชาผู้บริโภค เพิ่มบทลงโทษผู้ที่เอาเปรียบผู้บริโภค, ประเด็นโครงสร้างและสาระของการสื่อสาร และศิลปวัฒนธรรม มี 3 ประเด็น ได้แก่1.การกำกับดูแลสื่อมวลชน ด้วยการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแล รวมถึงส่งเสริมการดูแลกันเองของสื่อฯ, 2.สิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบ ด้วยการสร้างกลไกป้องกันการแทรกแซงสื่อ ยกระดับจริยธรรมสื่อ รวมถึงมีมาตรการกำกับการประชาสัมพันธ์และการโฆษณาของรัฐที่โปร่งใส และ 3.ปฏิรูปศิลปะ วัฒนธรรมให้เป็นทุนทางสังคม
ส่วนวาระการพัฒนา จำนวน 7ประเด็น ได้แก่ 1.แรงงานข้ามชาติ ด้วยการจัดให้มีระบบเรื่องแรงงานข้ามชาติ การดูแลสวัสดิการ เป็นต้น, 2.ศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศ ด้วยการพัฒนาด้านเกษตรและอาหาร การท่องเที่ยวคู่กับสุขภาพ และยานยนต์, 3.การวิจัยนวัตกรรม, 4.การขนส่ง ที่ต้องพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางขนส่งของอาเซียน, 5.การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ ด้วยการกำหนดเขตเศรษฐกิจใหม่,6.กลไกการพัฒนาอื่นๆ ที่ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐ และ 7.พัฒนาระบบทักษะใหม่และความเชื่อที่มีผลต่อพฤติกรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าสำหรับการปฏิรูปเร็วที่ก่อนหน้านั้น ได้มีการกำหนดเป็นวาระทำงานให้ กมธ.แต่ละคณะร่วมศึกษาและกำหนดประเด็นปฏิรูปเร็วเพื่อผลักดันนั้น ยังคงดำเนินต่อไป แต่ก่อนการนำเสนอสู่สาธารณะ หรือส่งเป็นข้อเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบ เพราะไม่ต้องการให้การนำเสนอประเด็นปฏิรูปเร็วนั้นเป็นวาระส่วนตัวของ กมธ.ชุดใดชุดหนึ่งเหมือนที่ผ่านมา แต่ต้องเป็นวาระเพื่อการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง
ขอบคุณข่าวจาก