'บ่มรัก เพาะใจ สานสายใยเยาวชน' โครงการปลุกพลังรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น
สภาเด็ก-เยาวชน เทศบาลตำบลอากาศอำนวย จ.สกลนคร รวบพลังจากการใช้สื่อเป็นตัวนำ เสริมศักยภาพ สร้างพลังบูรณาการเด็กและเยาวชนอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น
เด็กและเยาวชนถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของประเทศ จึงต้องส่งเสริมและพัฒนาให้มีศักยภาพและความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ทั้งความเป็นเลิศทางวิชาการ ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นคนดี มีคุณธรรม ไม่เป็นปัญหาสังคม และอยู่อย่างมีความสุขร่วมกันกับครอบครัว ชุมชน สังคม ดังเป้าหมายการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ว่า เก่ง ดี มีความสุข
ด้วยปัญหาท้องไม่พร้อม มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ขาดการเรียนรู้ภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของท้องถิ่น รวมไปถึงการขาดความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีระหว่างเด็กและชุมชน จุดประเด็นให้สภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลอากาศอำนวย อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร รุกขึ้นมารวมพลังสำรวจปัญหาด้านเด็กและเยาวชนในชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอขาดความเข้มแข็ง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดจนไม่สามารถสร้างความพร้อมแก่การพัฒนาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นได้
นายณัฐพงษ์ อินธิโคตร ประธานสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลอากาศอำนวย จึงมีแนวคิดที่จะเริ่มต้นแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยให้ภาคประชาสังคมในชุมชน ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นชุมชน เด็กและเยาวชน ร่วมมือกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านโครงการ “บ่มรัก เพาะใจ สานสายใยเยาวชน” ซึ่งเป็นโครงการย่อยของจากโครงการการบูรณาการพลังเด็กและเยาวชนกับพลังชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเด็กและเยาวชน
ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 เรื่อง คือ
1.ให้เด็กและเยาวชนได้อนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น
2.การเรียนรู้และสร้างความเข้าใจในวัยอนามัยเจริญพันธุ์ที่ถูกต้องและเหมาะสม
3.การพัฒนาจิตอาสาทำกิจกรรม บำเพ็ญประโยชน์ และพัฒนาชุมชนร่วมกัน
โดยมีคณะทำงานร่วมระหว่างสภาเด็กและเยาวชน ชุมชน และเทศบาลตำบลอากาศอำนวยและลงสำรวจชุมชนค้นหาข้อมูลพื้นที่ดีและสร้างสรรค์ พื้นที่เสี่ยงและไม่ปลอดภัยจากปราชญ์ชาวบ้านภูมิปัญญาท้องถิ่น และร้านค้าที่จำหน่ายเหล้า/บุหรี่ในชุมชน
ว่าที่ ร.ต.พัฒนายุทธ เพ็งบุญ ผอ.กองสวัสดิการสังคม เทศบาลตำบลอากาศอำนวย กล่าวว่า สืบเนื่องจากโครงการบูรณาการพลังเด็กฯ ได้ลงพื้นที่อำเภออากาศอำนวยและพบจุดด้อยการทำงานของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ทั้งเรื่องศักยภาพ ประสิทธิภาพ ความสัมพันธ์กับชุมชน การสร้างเครือข่ายที่ยังไม่มีอะไรเด่นชัด ทั้งที่พื้นที่มีจุดเด่นในเรื่องภูมิปัญญาวัฒนธรรมจำนวนมาก จึงเป็นที่มาโครงการ “บ่มรัก เพาะใจ สานสายใยเยาวชน”
แบ่งเป็น “บ่มรัก” ใช้เรื่องภูมิปัญญามาเป็นหลักในการบ่มความรัก คือรักษาประเพณีวัฒนธรรม “เพาะใจ” ให้เห็นศักยภาพของสภาเด็กและเยาวชน โดยการใช้โจทย์แก้ปัญหาเรื่องอนามัยเจริญพันธ์ แม่วัยใส ยาเสพติด
ด้าน “สานสายใยเยาวชน” เป็นกิจกรรมจิตอาสาที่จะทำร่วมกับชุมชน โดยร่วมกับทีมสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานีด้วยการทำสื่อทำวิดีโอซึ่งถือเป็นแกนหลักในการดึงเด็ก เพราะสื่อเป็นสิ่งที่สะท้อนผลงานได้ดีที่สุดในการดึงเด็กมาเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่นำเสนอเชิงบอกเล่าแต่เน้นผลงานให้ดู เเละขณะนี้ทางเทศบาลอากาศอำนวยมีการสร้างเครือข่ายโดยรอบ พยายามรวมกลุ่มเด็กที่สนใจเรื่องกีฬา ดนตรี ชักจูงให้เด็กเข้าร่วม
“เทศบาลสนับสนุนให้เด็กออกแบบ คิดประเด็น สัมภาษณ์ ถ่ายภาพทำทุกอย่างด้วยตนเอง ซึ่งจุดเด่นที่มองเห็นในตัวเด็กและเยาวชน เมื่อครั้งที่พาไปศึกษาดูงานการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนของโครงการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนแบบบูรณาการระดับจังหวัดอุบลราชธานี น้องๆ เกิดความสนใจในเรื่องการทำสื่อ รู้สึกตื่นตาตื่นใจ เทศบาลก็นำมาต่อยอด ร่วมมือกับทางอุบลราชธานีให้มาช่วยกันสอนงานพร้อมอุปกรณ์ทุกอย่างให้กับเด็ก เป็นความโชคดีที่มีภาคีเครือข่ายเกื้อหนุนได้เป็นอย่างดีซึ่งรู้สึกภูมิใจในประสิทธิภาพของเด็กบนความเชื่อที่ว่าเด็กทำได้ ลดปัญหาช่องว่างระหว่างเด็ก สามารถนำไปแก้ปัญหาสังคมด้วย” ผอ.กองสวัสดิการสังคม กล่าว
'น้องปอนด์' นายชนะศักดิ์ จุงอินทะ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนอากาศอำนวยศึกษา ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการเข้าร่วมโครงการว่า สิ่งแรกที่ได้คือเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน การปรับตัวและจัดสรรเวลาให้เป็น จึงถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่มีประโยชน์มากที่สุด
นอกจากนี้ยังได้ความรู้เกี่ยวกับการเป็นพิธีกรนักพูด รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ใช้คำพูดให้ถูกกับงาน การสอนวิธีทำสื่อ การเปิด- ปิดรายการ การตัดต่อวิดีโอ เป็นการเรียนรู้ที่มีค่าเป็นอย่างมาก ผู้ใหญ่จะคอยให้คำแนะนำที่ไม่ใช่การหยิบยื่นหรือทำให้ แต่เด็กต้องจัดการกันเอง รู้จักการวางแผน วิธีการแก้ปัญหาเวลาลงพื้นที่ก็จะมีการช่วยกันวิเคราะห์ปัญหาในกลุ่มแกนนำ ช่วยกันดึงจุดเด่นของพื้นที่ออกมา
"จากการลงพื้นที่อากาศอำนวยมีการทำผ้าย้อมคราม ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์และสืบสานไว้ เพราะจุดเด่นของตำบลคือผ้าย้อมคราม อีกทั้งมีประเพณีวัฒนธรรมเข้มแข็ง เช่น ประเพณีบุญเดือนหก ประเพณีแข่งไหลเรือไฟ แม้จะมีเทคโนโลยีเข้ามาแต่ชุมชนยังเกาะกลุ่มกันมาก เทคโนโลยีก็ไม่สามารถมาแทรกได้"
โดย ชนะศักดิ์ เล่าอีกว่า ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมจะนำไปพัฒนาในพื้นที่โดยเริ่มจากชุมชนของตัวเอง โดยจะดึงเด็กที่มีปัญหา และใช้เวลาว่างไม่เกิดประโยชน์มาร่วมกิจกรรม ครั้งแรกไม่มีใครอยากเข้าร่วมกิจกรรมเพราะส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเรียน จึงต้องเน้นการเรียนเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อมีการเสนอกิจกรรมที่แปลกใหม่คือเรื่องการทำสื่อ ทำวิดีโอ เพราะกิจกรรมเดิม ๆ ร้องเล่น เด็กโรงเรียนในเมืองไม่ค่อยอยากจะทำ แต่เมื่อได้มาเรียนรู้การเป็นนักข่าวเป็นพิธีกร จึงเป็นกิจกรรมที่ท้าทายและสนุก ภาคภูมิใจ ทุกคนก็ชอบ เกิดเป็นสายใยให้เยาวชนมาร่วมกันทำกิจกรรมมากขึ้น
ส่วน นายวัชรินทร์ รุณจักร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอากาศอำนวย กล่าวว่า ชาวบ้านที่นี่ ส่วนใหญ่เป็นชาวไทโย้ย 1 ใน 6 กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดสกลนคร ที่มีภาษาพูด ประเพณี วัฒนธรรมสืบทอดมายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่เน้นคือการหันมาส่งเสริมในเรื่องของประเพณี วัฒนธรรมของคนพื้นถิ่น ไทโย้ยให้กลับมาฟื้นวิถีชีวิตไม่หลงใหลไปกับสังคมโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะการแต่งตัวแบบไทโย้ย จึงได้ส่งเสริมเรื่องการทอผ้าย้อมคราม ฉะนั้น เป็นเรื่องดีที่เด็กและเยาวชนร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมโดยการใช้สื่อเป็นตัวดึงเด็ก เพื่อให้เด็กและเยาวชนท้องถิ่น เกิดความรักและหวงแหนในอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรมของตนเอง เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางสังคมด้านเด็กและเยาวชน ตลอดจนมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนให้น่าอยู่และยั่งยืน
เด็กและเยาวชนถือเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมบนพื้นฐานความเป็นไทยในการดำเนินชีวิตเพื่อไม่ให้ไหลไปตามกระแสวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสม .