ชำแหละ 'ร่างกม.ดิจิทัล' พัฒนาศก.หรือย้อนสู่ยุค1980 กันแน่?
“จะไม่สำเร็จเลย ถ้าประเทศไทยบริหารเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยกรอบความคิดแบบอนาล็อก ใช้รัฐหรือรัฐวิสาหกิจเข้าไปทำ ไม่ส่งเสริมการแข่งขัน และใช้กลไกควบคุมสื่อ เป็นบรรยากาศที่ย้อนกลับไปสู่ทศวรรษที่ 1980 ก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะถูกทลายลงมา”
ชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลฉบับผ่านคณะรัฐมนตรี(ครม.)พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกภาคประชาชนคัดค้าน ตั้งข้อสังเกต และวิพากวิจารณ์ในเชิงลบอย่างกว้างขวาง
ล่าสุด เครือข่ายพลเมืองเน็ต รณรงค์คนใช้สื่อทั้งอนาล็อกและดิจิทัลร่วมลงชื่อ “หยุดชุดกฎหมาย 'ความมั่นคงดิจิทัล'” ผ่านเว็บไซต์ Change.org
"วสันต์ ภัยหลีกลี้" สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวในหัวข้อ “กระทรวงดิจิทัลฯ พัฒนาเศรษฐกิจ หรือรวบอำนาจ” บนเวทีอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 5 จัดโดยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อเร็วๆนี้ว่า
หลักการตั้งกระทรวงดิจิทัลฯเป็นเรื่องที่ดี แต่ในรายละเอียดร่างกฏหมาย 10 ฉบับ กลับมีความน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะประเด็นองค์กรอิสระที่มีบทบาทหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์
ทั้งนี้ หากเป็นไปตามร่างกฏหมายดังกล่าวจะส่งผลให้องค์กรอิสระถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซงฝ่ายได้ง่าย และอาจกระทบไปถึงการกำกับเนื้อหาสื่อมวลชน นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดกฏหมายที่อาจละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน
“ใครที่คิดจะควบคุมสื่อหรือโซเชียลมีเดีย อย่าคิดเลยครับ ทำไม่ได้หรอก เพราะสวนทางกับความเป็นจริงของโลก หากคิดจะไปสร้างเขื่อนกั้น ผมคิดว่าไม่น่าจะถูกต้อง แต่ควรส่งเสริมให้มีการควบคุมกำกับกันเอง ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อและการใช้สื่อมากกว่าการออกกฎหมายถอยหลังเข้าคลอง หวังว่าจะมีการทบทวนอย่างที่ควรจะเป็น”
"ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เปิดประเด็นว่า แนวความคิดของรัฐบาลในการเดินหน้าไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสังคมดิจิทัลฯเป็นแนวคิดที่ดีน่าสนับสนุน เช่น การวางสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านกฏหมายเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลฯ
แต่ทั้งนี้ วิธีการที่รัฐบาลจะพาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลกลับมีปัญหาและเป็นแนวกรอบความคิดที่ย้อนยุคมากเกินไป จนอาจเรียกได้ว่าเป็นยุคดิจิทัล 1984
ประธานทีดีอาร์ไอ อธิบายว่า วิธีการที่รัฐบาลจะทำให้เกิดสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวม อาทิ การออกกฎหมาย สะท้อนว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการใช้กลไกรัฐมากกว่ากลไกตลาด ทั้งที่ความเป็นจริงกลไกรัฐมีปัญหาจำนวนมาก ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ใช้กลไกรัฐผลักดันอย่างเดียวโดยมองข้ามความสำคัญของกลไกตลาดอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ
“จะเห็นว่าเกือบทั้ง 10 ฉบับ เป็นกฎหมายที่สร้างเครื่องมือสำหรับภาครัฐเท่านั้น เช่น สร้างกระทรวง คณะกรรมการฯ หรือตั้งกองทุน จะเห็นภาพกระทรวงไอซีทีใหม่ใหญ่มหึมา เช่น คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีกรรมการจำนวนมาก ถามว่าจะขับเคลื่อนดิจิทัลได้อย่างไร โดยใช้วิธีอนาล็อกแบบนี้”
นอกจากนี้ กฏหมายยังเน้นความคิดการผูกขาดรวบอำนาจมากกว่าความคิดที่ส่งเสริมการแข่งขัน โดยในกฎหมาย 10 ฉบับ ไม่มีคำว่าเปิดเสรีและคำว่าการแข่งขัน รวมทั้งในคำพูดของผู้บริหารกระทรวงและผู้กำหนดนโยบาย
"ดร.สมเกียรติ" ยังระบุว่า กฏหมายดังกล่าวยังนำการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากว่าการลดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ประเด็นที่ชัดที่สุดคือการแก้กฎหมายให้กสทช.อยู่ภายใต้นโยบายและแผนของคณะกรรมการดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
“โดยหลักไม่ผิดที่ฝ่ายการเมืองจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย แต่ขอบเขตในประเทศไทยเป็นเส้นบางมากๆระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติ เพราะสิ่งที่กฎหมายต้องกำหนดให้กสทช.ต้องทำตามคือ ทำตามนโยบายและแผนที่คณะกรรมการดิจิทัลทำขึ้น ซึ่งแผนนี้จะเขียนลงลึกแค่ไหนก็ได้ เช่น บริการ 4 จี จะไม่มีการประมูล ซึ่งในทางวิชาการไปไกลกว่านโยบายและเป็นห่วงว่าจะนำการเมืองเข้ามา”
ขณะที่วิธีการดำเนินการ เน้นใช้ดุลพินิจมากกว่าเน้นความโปร่งใส่ ยกตัวอย่างเรื่องการจัดสรรคลื่นเชิงพาณิชย์ ในอนาคตอาจจะไม่ใช้วิธีประมูลก็ได้ รวมทั้งการโอนกองทุนต่างๆให้ฝ่ายการเมืองจัดการแต่ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะทำอย่างไรในการจัดสรรเงินจำนวนมากให้เกิดความโปร่งใส ที่สำคัญคือเน้นการควบคุมสื่อมากกว่าการรู้เท่าทัน
“จะไม่สำเร็จเลย ถ้าประเทศไทยบริหารเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยกรอบความคิดแบบอนาล็อก ใช้รัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเข้าไปทำ ไม่ส่งเสริมการแข่งขัน และใช้กลไกควบคุมสื่อ เป็นบรรยากาศที่ย้อนกลับไปสู่ทศวรรษที่ 1980 ชัดๆ ก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะถูกทลายลงมา นี่คือประเด็นที่ผมเป็นห่วงอย่างยิ่ง” ดร.สมเกียรติ สรุปทิ้งท้าย