สถานะ 8คดี "ยิ่งลักษณ์" ในมือ ป.ป.ช. หลังคดีข้าว! "ลำบาก"ยิ่งกว่า"ลำบาก"
"..แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะยืนยันผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ..จะต่อสู้จนถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ หลังถูกกลั่นแกล้ง และประสบชะตากรรมที่ไม่เป็นธรรม แต่เมื่อถึงเวลาที่คดีความขึ้นสู่การพิจารณาคดีในชั้นศาล และมีแนวโน้มว่าอาจจะต้องรับโทษ ..จะตัดสินเลือกวิธีการเดินทางออกไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ เหมือนที่ครั้งหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร "พี่ชายสุดที่รัก" ได้ตัดสินใจ "เลือก" ไปแล้วหรือไม่?.."
แม้ว่า "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี จะถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอน 190 ต่อ 18 เสียง ในคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว จนทำให้ถูกตัดสิทธิ์ทางดำรงตำแหน่งการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ไปแล้ว
แต่ดูเหมือนว่า "วิบากกรรม" ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะยังไม่จบไม่สิ้นไป โดยง่าย
เพราะยังมีคดีความอีกหลายเรื่องที่ปรากฎชื่อของ "เธอ" ในฐานะ "ผู้ถูกกล่าวหา" ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการไต่สวนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวนมาก
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ ป.ป.ช. เกี่ยวกับคดีความที่เกี่ยวข้องกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ นอกเหนือจากคดีข้าว พร้อมข้อหล่าวหา และสถานะล่าสุด มานำเสนอ ณ ที่นี้
1. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกกล่าวหาพร้อม คณะรัฐมนตรี
ข้อกล่าวหา - ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยออกประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร ฉบับ ลว. 31 ก.ค. 56 ในพื้นที่เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต กรุงเทพฯ โดยอาศัย อำนาจตาม พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาตรา 15 โดยมีพฤติการณ์การกระทำที่ น่าเชื่อว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่สอดคล้องกับเหตุผล ท้ายพระราชบัญญัติ รวมทั้งยังเป็นประกาศที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 63 และผลของการประกาศดังกล่าวยังทำให้รัฐ เสียหายจากงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 175 ล้านบาท 2. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยออกประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร ฉบับ ลว. 9 ต.ค. 56 และฉบับ ลว. 18 ต.ค. 56 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาตรา 15 โดยไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย โดยมีพฤติการณ์ส่อว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อ รัฐธรรมนูญและกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจหรือดุลพินิจ ในลักษณะบิดเบือนและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ ของกฎหมาย กระทำการเกินกว่าเหตุ เกินความจำเป็น และความสมควรแก่กรณี ทั้งยังเป็นการโต้แย้งสิทธิ และละเมิดสิทธิและเสรีภาพฯ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 63
สถานะปัจจุบัน อยู่ระหว่างขั้นตอนการรวบรวมพยาน แจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน
2. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกกล่าวหาพร้อมพวก 4 คน
ข้อกล่าวหา - ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะ การไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง ในโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้าง ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนฯ ภายใต้ พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อการวางระบบ บริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยได้ให้กลุ่มบริษัทเอกชนต่าง ๆ มายื่นข้อเสนอฯ ตามแผนงาน จำนวน 10 โมดูล (Module) และได้ประกาศผลผู้ชนะในวันที่ 10 มิ.ย. 56 และได้นำเรื่องเข้าสู่ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 56 ปรากฏตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 940/2556 คดีหมายเลขแดงที่ 1025/2556 ลว. 27 มิ.ย. 56
สถานะปัจจุบัน แจ้งมติคณะกรรมการให้ผู้กล่าวหาทราบ
3. น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อม ครม. และส.ส.ที่ลงมติเห็นชอบ
ข้อกล่าวหา - ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการตราพระราชกำหนด เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 55 และลงมติเห็นชอบพระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 จำนวน 350,000 ล้านบาท โดยไม่มีการชี้แจงรายละเอียดการใช้จ่ายเงิน และบทบัญญัติมาตรา 3 และมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว บัญญัติให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้ยืมเงิน จำนวน 350,000 ล้านบาท และสามารถนำไป ใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง ตามกฎหมายวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง อันเป็นการฝ่าฝืน ฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169
สถานะปัจจุบัน เสนอคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน
4. น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับพวก รวม 14 คน
ข้อกล่าวหา - ขอให้วุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ของรัฐธรรมนูญฯ ถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 - 15 ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กระทำการโดยทุจริต และใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติ แห่งกฎหมาย
โดย 1. ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2554 ลว. 10 พ.ย. 54 และกำหนดให้มีแผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการฯ โดยมิได้มีการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์สอดคล้องระหว่าง โครงการลงทุนต่าง ๆ และความเป็นไปได้ ทางเทคนิค ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วนเพียงพอ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนในเขต พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างรุนแรง ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 57 และมาตรา 67 และ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 40 มาตรา 47 และมาตรา 48 ปรากฏตาม คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 940/2556 ลว. 27 มิ.ย. 56 2. ไม่ได้กระทำการเปิดเผยราคากลางและรายละเอียดการคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง ตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103/7 ในการดำเนินโครงการ จ้างออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารทรัพยากรน้ำฯ 3. ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อมิให้มีการแข่งขันราคากัน อย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคารายใด รายหนึ่งให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ขัดต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาฯ พ.ศ.2542 มาตรา 12
สถานะปัจจุบัน เสนอคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน
5. น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับพวก 1 คน
ข้อกล่าวหา - ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 1.กรณีแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ประจำปี 2555 โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้มีการเรียกประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีการเสนอพลเอกทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม โดยไม่ถูกต้องตามข้อบังคับและกฎหมายและผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้ลงนามคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ 383/55 ลว.27 ส.ค.55 เรื่องให้นายทหารช่วยปฏิบัติราชการ โดยให้ พลเอก เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พลเอก ชาตรี ทัตติ รองปลัดกระทรวงกลาโหม และ พลเอก พิณภาษณ์ สริวัฒน์ เจ้ากรมเสมียนตรา ไปช่วยราชการสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อต้องการให้ พลเอก ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมและต่อมาประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอก ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้รับทราบ กับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการดังกล่าว
สถานะปัจจุบัน รวบรวมพยานหลักฐาน
6. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับพวก รวม 3 คน
ข้อกล่าวหา - ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อนุญาตให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยแพร่ภาพและเสียง รายการ "มวยไทยวอริเออร์ส" ซึ่งจัดที่เขตปกครองพิเศษมาเก๊า โดยมีเจตนาแพร่ภาพการกล่าวเปิดงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนที่มีลักษณะที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
สถานะปัจจุบัน สอบปากคำพยานบุคคล
7. น.ส.ยิ่งลักษณ์
ข้อกล่าวหา - ขอให้วุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ของรัฐธรรมนูญฯ ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย โดยในวันที่ 1 ส.ค. 54 ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือ ถึง นายกรัฐมนตรี เรื่อง การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลาง และการคำนวนราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม พร้อมแนบรายงานซึ่งเป็นรูปแบบดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดฯ ไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชน สามารถเข้าตรวจดูได้ และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2)พ.ศ.2554 มาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง โดยผู้ถูกกล่าวหารวมทั้งคณะรัฐมนตรี มีมติไม่รับข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และไม่สั่งการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง แต่ประการใด จนเป็นมูลเหตุให้มีการทุจริตกันหลายโครงการ และเป็นผลทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนเป็นอย่างมาก
สถานะปัจจุบัน เสนอปรับเปลี่ยนคณะอนุกรรมการไต่สวน
8. น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับ ครม. และพวก 2 ราย
ข้อกล่าวหา -ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง (ตั้งแต่ปลายปี 48 - เดือน พ.ค.53) รอบแรก จำนวน 524 ราย วงเงินรวม 577 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 55 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 55 และวันที่ 6 มี.ค. 55 อันเป็นการออกระเบียบและกฎเกณฑ์ ขึ้นใหม่ เพื่อที่จะใช้บังคับกับกรณีนี้เป็นการเฉพาะ อีกทั้งการออกมติดังกล่าวยังไม่มีกฎหมาย กฎกระทรวง หรือหลักเกณฑ์มาตรฐานรองรับ ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนผลประโยชน์แก่พวกพ้อง เป็นหลัก
สถานะปัจจุบัน รวบรวมพยานหลักฐาน
ทั้งนี้ คือข้อมูลคดีความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ และสถานะล่าสุดที่อยู่ในมือของคณะกรรมการ ป.ป.ช. (เท่าที่ตรวจสอบพบ) และชี้ให้เห็นชัดเจนว่า วิบากกรรมทางคดีความ ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่หมด แม้ว่าจะถูกถอดถอนจากตำแหน่ง และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี จากคดีจำนำข้าวไปแล้วก็ตาม
และแม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะยืนยันผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า แม้วันนี้จะไม่มีตำแหน่งอะไรเหลืออยู่แล้ว ยังคงเหลือแต่ คดีความ ที่ถูกยัดเยียดไว้ให้ ที่ต้องไปสู้คดีในชั้นศาลต่อไป แต่จะต่อสู้จนถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ หลังถูกกลั่นแกล้ง และประสบชะตากรรมที่ไม่เป็นธรรม
(อ่านประกอบ : ยิ่งลักษณ์ แถลงผ่าน FB ฉะถูกยัดเยียดความเสียหายจำนำข้าว-ตั้งข้อสงสัยอัยการ)
แต่คำถามที่น่าสนใจที่สุด คือ ในท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าเวลาจะผ่านพ้นไปกี่เดือนกี่ปี จะต่อสู้อีกกี่ขั้น กี่ยก อีกกี่คดีความ
แต่เมื่อถึงเวลาที่คดีความขึ้นสู่การพิจารณาคดีในชั้นศาล และมีแนวโน้มว่าอาจจะต้องรับโทษจากพ้นพ่วงในคดีความเหล่านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะตัดสินเลือกวิธีการเดินทางออกไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ
เหมือนที่ครั้งหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร "พี่ชายสุดที่รัก" ได้ตัดสินใจ "เลือก" ไปแล้วหรือไม่?
ส่วนบรรทัดสุดท้าย เกี่ยวกับเหตุผลว่าทำไม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องมาพบเจอ "วิบากกรรม" โดยเฉพาะคดีความจำนวนมากแบบนี้
เชื่อว่า หากคนในสังคมไทย ใช้ข้อมูลข้อเท็จจริง มาเป็นหลักในการพิจารณาตัดสินใจ มากกว่า การใช้อารมภ์ ความรู้สึก "รัก โลภ โกรธ หลง" เป็นเครื่องมือนำทาง
เราน่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนจากเรื่องนี้ และเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้กับ "คนรุ่นหลัง" ได้เป็นอย่างดีเลยที่เดียว!
#เชิญชวนติดตามข่าวสารสำนักข่าวอิศรา ได้ด้วยการกด "Like" ที่ แฟนเพจ "I love isranews"