บสย.หนุนเอสเอ็มอีลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 แห่ง
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หนุนแนวคิดดิจิทัล อีโคโนมี จับมือ สวทช.-ซิป้า ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่มีนวัตกรรมด้านซอฟท์แวร์ ส่งเสริม SMEs ไปลงทุนในเขตศก.พิเศษ พร้อมเร่งปลดล็อค ข้อจำกัดกฎหมายค้ำประกันฉบับใหม่
วันที่ 23 มกราคม นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวถึงแผนปฏิบัติงานปี 2558 ที่จะส่งเสริมและร่วมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ดิจิทัล อีโคโนมีว่า ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ บสย.จะร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดโครงการความร่วมมือและให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมและซอฟแวร์ อีกทั้งร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีนวัตกรรมซอฟท์แวร์ ในวงเงิน 2,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอเพื่อให้กระทรวงการคลัง นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ขณะที่การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย อ.แม่สอด จ.ตาก, จ.ตราด,จ.สระแก้ว ,จ.มุกดาหาร,ด่านสะเดา จ.สงขลา นั้น นายวัลลภ กล่าวว่า บสย.จะร่วมกับธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปีแรก วงเงินในโครงการ 5,000 ล้านบาท โดยขั้นตอนต่อไปสภาพัฒน์ฯ กำลังนำเสนอเข้าครม.
กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวถึงโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่สำคัญที่จะดำเนินการในอนาคต คือ โครงการ Portfolio Guarantee Scheme (PGS 6) ซึ่งโครงการ PGS 5 จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ฉะนั้นจำเป็นต้องมีโครงการ PGS 6 ต่อเนื่องไปไม่ให้สะดุด เพื่อช่วยผู้ประกอบการทุกกลุ่มเป้าหมายให้ได้รับสินเชื่อ
ด้านนายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บสย. กล่าวถึงกฎหมายค้ำประกันฉบับใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ว่า กฎหมายมีเจตนาดีต้องจำกัดการรับผิดของผู้ค้ำประกัน แต่อาจกระทบผู้ประกอบาร SMEs ที่ธนาคารอาจมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ที่เข้มงวดมากขึ้น ดูเรื่องวงเงิน ฯลฯ
"ฐานะบสย.เป็นองค์กรค้ำประกัน ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ความมั่นใจกับธนาคารกล้าปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งการปรับปรุงหนังสือค้ำประกัน การระบุข้อมูลตามรายการครบถ้วนตามกฎหมายใหม่กำหนด อาทิ ชื่อสัญญาสินเชื่อ วัตถุประสงค์การใช้สินเชื่อ ระยะเวลาการก่อหนี้ สัญญาสินเชื่อ/สัญญาฉบับลงวันที่, วงเงินสินเชื่อ (บาท) วงเงินให้ค้ำประกัน (บาท)"
สำหรับการดำเนินการของ บสย.ในกลุ่มหนังสือค้ำประกัน เฉพาะแบบ Non-PGS จะกำหนดคำจำกัดความของการ ผิดนัด คือการผิดนัดหนี้เงิน (เงินต้นหรือดอกเบี้ย) การแจ้งภายใน 60 วัน นับจากลูกหนี้ผิดนัด โดยแจ้งทุกครั้งที่ลูกหนี้ปกติมีการผิดนัด ซึ่งจะมีการแจ้งครั้งเดียวจนกว่าลูกหนี้จะกลับมาเป็นปกติ หากมีการผิดนัดอีกต้องแจ้งอีกครั้ง โดยวิธีบอกกล่าว/การแจ้งผิดนัด จะต้องแจ้งเป็นหนังสือโดยขอให้มีการลงทะเบียนตอบรับ และธนาคารเก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อใช้ประกอบการยื่นขอรับเงินประกันชดเชยจากบสย. เป็นต้น ส่วนลูกหนี้ในกลุ่มสัญญาค้ำประกัน สำหรับ PGS ไม่ต้องมีหนังสือบอกล่าว/การแจ้งผิดนัด เพราะบสย.ให้อำนาจธนาคารดำเนินการได้ทันที
นายวิเชษฐ กล่าวด้วยว่า บสย.มีเจตนาชัดเจนในการร่วมหาทางออกเพื่อปลดล็อค ข้อจำกัดต่างๆ ในการร่วมหารือเพื่อให้ธนาคารเกิดความสะดวกในการดำเนินงาน ซึ่งต่อไปจะประกาศระเบียบและแจ้งให้ธนาคารทราบ เพื่อให้ธนาคารใช้ยึดถืออ้างอิงได้ รวมทั้งหากกฎหมายค้ำประกันมีผลบังคับใช้แล้ว สถาบันการเงินก็จะมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ โดยมี บสย.เป็นผู้ค้ำประกันมากขึ้น
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง: