จำได้ไหม! บิ๊กป๊อก พี่น้องบูโดทวงสัญญาไฟเขียวให้ตัดยางได้ 4% ของพื้นที่
"เราเดือดร้อนยางพาราหมดอายุแล้ว ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ทำมาหากินไม่ได้ เราจะโค่น จะประกาศอะไรก็แล้วแต่ ถูกจับก็จับไป เราเตรียมคนไว้แล้ว 2,000 คน ถ้าจะจับก็จับให้หมด พื้นที่ทั้งหมดที่จะโค่นมี 2 ไร่ ในแต่ละเขตปกครองเราจะตัดไม่เกิน 4%"
ก่อนถึงวันปฏิบัติการแสดงพลัง "โค่นยางพาราของเรา เขาบูโดยั่งยืน" วันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม 2558 เครือข่ายการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด เปิดเวทีแถลงข่าวปฎิบัติการ "โค่นยางของเรา เขาบูโดยั่งยืน" ณ อาคารเคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผศ.ธนพร ศรียากุล ที่ปรึกษาคณะทำงานที่ดินทำกิน 3 จังหวัดภาคใต้ (ศอ.บต.) ลำดับปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่เกิดขึ้น ณ อุทยานเทือกเขาบูโด สุไหงปาดี โดยเฉพาะการประกาศที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อ และเรื้อรังมาตั้งแต่ 2508 นับตั้งแต่มีการประกาศตั้งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ
กระทั่งมาวิกฤติ หลังจากประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อ 2542 ประชาชนเดือดร้อนกว่า 2 แสนคน รวมแล้วหลายหมื่นครอบครัว โดยเฉพาะพี่น้องที่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา
และเมื่อสวนยางของชาวบ้านถูกประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ต้นยางพารา "หมดอายุ" ที่ไม่สามารถให้น้ำยางได้แล้ว ชาวบ้านไม่สามารถที่จะโค่นทิ้ง เพื่อปลูกใหม่ได้
"สวนยางพาราส่วนใหญ่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ กลายเป็นที่ป่าไม้ไปแล้ว ซึ่งถ้าตัดโค่นก็แปลงว่า ผิดกฎหมาย ถูกจับ ถูกดำเนินคดี ซึ่งถูกดำเนินคดีมาแล้ว มาเป็นระยะๆ จนกระทั่งนำมาสู่กระบวนร่วมกันการแก้ไขปัญหา ระหว่างหน่วยงานในพื้นที่กับชาวบ้าน ในปี 2550-2551 ได้รับความเห็นชอบจาก กอ.รมน. ในขนาดนั้น โดยพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกสมัยนั้น นำเรื่องเข้าเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบกระบวนการในการเพิกถอนอุทยานแห่งเทือกบูโด สุไหงปาดี ซึ่งประกาศทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน แลพกำหนดให้ตัดโค่นยางพาราได้ 4% ของพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน"
ผศ.ธนพร มองว่า ปัญหาที่มีมาตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา กระบวนการแก้ปัญหาไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด รวมระยะเวลากว่า 7 ปี ที่สำคัญที่สุด คือ ภายหลังการเข้าควบคุมอำนาจ ของคสช.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้มีการประกาศใช้แผนแม่บทการพิทักษ์ทรพยาการธรรมชาติป่าไม้ของชาติ พ.ศ.2557 ของ กอ.รมน.ปรากฎว่า ยิ่งทำให้การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนยิ่งมองไม่เห็นความหวัง
"ในแผนแม่บท ของ กอ.รมน.ซึ่งมี คสช.ได้ให้ความเห็นชอบนั้น ไม่มีการพูดถึงมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 อันเป็นกระบวนการพิสูทธ์สิทธิ์ ซึ่งชาวบ้านมีการส่วนร่วมแต่ประการใด ทั้งที่ผู้ที่เสนอเรื่องนี้ให้ครม.ในช่วงเวลานั้น คือ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา"
สิ่งเหล่านี้ชาวบ้านเห็นว่า ใช้เวลามามากพอแล้ว เกินกว่าที่จะอดทนรอได้แล้ว จึงได้มีการปฎิบัติการ และมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ในเมื่อกลไกของรัฐไม่สามารถใช้กลไกในการแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ ก็จะขอใช้กลไกของตัวเอง ซึ่งได้รับการรับรองจากครม. เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 เป็นกรอบในการดำเนินการแทน โดยชาวบ้านก็จะสำแดงพลังโดยการการเดินทางขึ้นเทือกเขาบูโด ไปโค่นต้นยางพารา
ด้านนายสิโรตม์ แวปาโอะ ประธานเครือข่ายการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด ฐานะตัวแทนที่ดูแลเทือกเขาบูโด ระบุว่า เทือกเขาบูโดครอบคลุม 3 จังหวัด (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ใน 9 อำเภอ 25 ตำบล 89 หมู่บ้าน เริ่มจากอำเภอบาเจาะก่อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการประกาศเป็นเขตป่าอุทยาน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2542 ที่ดินทำกิน ไม่ว่าจะเป็นที่สวนยางพารา ที่อยู่ ที่ทำกิน ก็ไม่สามารถที่จะหล่อเลี้ยงชีวิต และสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนอีกแล้ว ดังนั้น จำเป็นที่จะต้อง แสดงออกถึงความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม สำหรับกระบวนการแก้ปัญหาที่ช้า และยาวนาน
"เราเดือดร้อนยางพาราหมดอายุแล้วใช้ประโยชน์ไม่ได้ ทำมาหากินไม่ได้ เราจะโค่น ฉะนั้นจะประกาศอะไรก็แล้วแต่ ถูกจับก็จับไป เราเตรียมคนไว้แล้ว 2,000 คน ถ้าจะจับก็จับให้หมดทั้ง 2,000 คน พื้นที่ทั้งหมดที่จะโค่นมี 2 ไร่ ในแต่ละเขตปกครองเราจะตัดไม่เกิน 4%" นายสิโรตม์ กล่าว และว่า ในวันที่ 25 มกราคม 2558 ตั้งแต่เวลา 08.00 น.เป็นต้นไป เราจะร่วมกันตัดต้นยางพารา โดยรวมกันที่ มัสยิด บ้านมาแฮ ตำบลปาลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส พร้อมยืนยัน การตัดต้นยางไม่จะส่งผลต่อการทำลายป่า หรือทำลายภูมิอากาศแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ประธานเครือข่ายการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด ยังเรียกร้องไปยัง 3 นายพล ประกอบด้วยพลเอกประวิทย์ วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จริงใจ ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับชาวบ้าน
โดยเฉพาะคนลงนาม พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก สมัยนั้น
ด้านนายมะนาวี เด็งโด แกนนำชาวบ้านจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ปัญหาที่ยืดเยื้อกว่า 7 ปี อาจขยายเป็น 10 ปี ไม่จบสิ้น จำเป็นที่เราต้องแสดงจุดยืน ตัดแปลงยางที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ เริ่มจากแปลงยางของนายมะดือเร๊ะ เยะตูแก ก่อน หลังจากนั้นเราจะนัดพี่น้องในพื้นที่ และเตรียมยานพาหนะขึ้นไปบนเทือกเขา โดยจะใช้เลื่อยโบราณอายุเท่ากับแปลงยางในการตัดโค่น
"เราทราบกระแสมาว่า ท่านจะจับ จับพร้อมกันให้หมดทุกคนเลย จับแล้วฟ้องด้วย ถ้าไม่ฟ้องไม่ต้องไปจับ เราพร้อมแล้วที่จะให้จับ เพราะคนข้างหลังได้เตรียมข้าวยำไว้แล้ว สำหรับไปส่งให้เราอยู่ในกรง"
สำหรับสิ่งที่จะนำเสนอไปยังรัฐบาล นายมะนาวี กล่าวว่า หลังจากวันที่ 25 มกราคม ทั้งรัฐบาล นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะพลเอกประวิทย์ ต้องมีแผนงานที่ชัดเจน "เราจะให้เวลาท่าน 1 เดือน ภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถ้าเราไม่ได้รับคำตอบก็จะเดินหน้าตัดต่อโค่นต้นยางเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เพราะนโยบายของรัฐคือคืนความสุขให้ประชาชน ขอให้คืนความเป็นธรรมให้ประชาชนด้วย"
แปลงยางของนายมะดือเร๊ะ เยะตูแก
นายอาหามะ ลีเฮ็ง ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน กล่าวว่า ชาวบ้านบุกรุก เป็นจำเลยของสังคมมาโดยตลอด มติ ครม.14 ตุลาคม 2551 ไม่สามารถที่จะคืนความสุขให้กับชาวบ้านได้เลย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็เคยสัญญากับชาวบ้านว่าจะให้ความเป็นธรรมกับพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถตัดต้นยางพารา 4% ของพื้นที่ได้ แต่แล้วนโยบายก็ขาดตอน ทั้งๆ ที่มติ ครม. เคยให้สัญญากับพี่น้องเทือกเขาบูโด
สุดท้าย นายประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมเป็นธรรม ชี้ว่า ปัญหาเทือกบูโดสะท้อนความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาตามแนวทาง ตาม มติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ที่บอกว่า ถ้ามีชาวบ้านเดือดร้อนก็จะใช้วิธีพิสูทธิ์ โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งจริงๆ คิดว่า ชาวบ้านน่าจะอยู่มาก่อน ถ้าเปรียบกับประกาศ เพราะประกาศออกมาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2542 ซึ่งดูเหมือนว่า ถ้าใช้มติ ครม.นี้ชาวบ้านก็หลุดหมด แต่จริงๆไม่ใช่ เพราะมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 เขากลับไปย้อนใช้ภาพถ่ายทางอากาศปีที่ประกาศเขตป่าสงวน ไม่ใช่ปี 2542 ปี แต่เป็นปี 2508
ฉะนั้น เรื่องนี้จึงย้อนไปถึง 30 ปี!!
"การพิสูจน์สิทธิ์ โดยใช้มติ ครม.30 มิถุนายน 2541 ถามว่า จะมีคนที่ผ่านเกณฑ์ คือ มีร่องรอยอยู่ในปี 2508 ไม่เกิน 16% จากที่ดิน 1,400 กว่าไร่ที่มีข้อมูลตาม ครม.นี้ ซึ่งก็จะไม่เกิน 200 แปลง ที่เหลือคือหลุดไป กลายเป็นผู้บุกรุกพื้นที่อุทยาน ทั้งที่อยู่มาก่อน ปี 2542"
ทั้งหมด จึงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ ทั้งที่มี มติ ครม. ใหม่คือ 14 ตุลาคม 2551 ให้ใช้แนวทางข้อเท็จจริงที่ชาวบ้านมีแล้วไปวัดกัน โดยมีนายอำเภอเป็นผู้กำกับว่า การตัดยางในพื้นที่ตัดได้ 4% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่มติ ครม. 14 ตุลาคม 2551 ไม่ถูกดำเนินการ กลับไปใช้ มติ 30 มิถุนายน 2541
"ต่อมาหลังจาก คสช.ยึดอำนาจ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้มีคำสั่ง คสช. ฉบับ 64 และ66 รวมถึงแผนแม่บทการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ มีผลบังคับใช้ 1 สิงหาคม 2557 สาระสำคัญคือให้ใช้ มติ 30 มิถุนายน 2541 เป็นเครื่องพิสูทสิทธิ์เหมือนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประกาศที่จะทวงคืนพื้นที่ป่าประมาณ 26 ล้านไร่ ทั่วประเทศ ซึ่งเทือกบูโดก็เป็นเป้าหมายหนึ่ง กลายเป็นว่า มติ ครม.14 ตุลาคม 2551(ใช้สำหรับแก้ปัญหาเทือกเขาบูโด) ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย" ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมเป็นธรรม ตอกย้ำให้เห็นการทำงานของภาครัฐ ที่ทำให้ พี่น้องชาวเทือกเขาบูโดต้องออกมาเรียกร้องกับรัฐบาล เพื่อขอความเป็นธรรม พร้อมกับเสนอให้รัฐบาลทบทวนแผนแม่บทฯ เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน