ชำแหละช่องโหว่ (ร่าง)พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ....
ประเด็นวิเคราะห์ร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ....
ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล
คณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทย
1. ร่างมาตรา 6(3) องค์ประกอบของคณะกรรมการในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ควรเพิ่มเติมกรรมการที่มาจากองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม (NGOs) เพื่อให้เกิดความหลากหลายและถ่วงดุลในคณะกรรมการ และยังสอดคล้องกับหลักการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ตามที่กำหนดใน Biosafety Protocol Article 23
2. ร่างมาตรา 17 ควรบัญญัติในลักษณะ ห้ามมิให้มีการผลิตหรือนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมทุกชนิด เว้นแต่จะได้ประกาศยกเว้นไว้ ซึ่งการบัญญัติเช่นนี้จะสอดคล้องกับมาตราอื่นๆ ในร่าง พ.ร.บ. นี้ที่จะบัญญัติในลักษณะห้ามไม่ให้กระทำจนกว่าจะได้รับอนุญาต
3. ร่างพ.ร.บ. นี้จะให้อำนาจแก่หน่วยงานผู้รับผิดชอบในการกำหนดรายละเอียดของการกำกับดูแล ในลักษณะของกฎหมายลำดับรอง ทั้งที่ควรจะกำหนดรายละเอียดหลักที่สำคัญไว้ล่วงหน้าได้ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้กฎเกณฑ์รายละเอียดของแต่ละหน่วยงานผู้รับผิดชอบเกิดความลักลั่นกัน และอาจทำให้เกิดช่องโหว่ในการควบคุมกิจกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมได้ นอกจากนี้การดำเนินการในทุกขั้นตอนของหน่วยงานผู้รับผิดชอบนั้นยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
4. คณะกรรมการผู้ชำนาญการที่จะพิจารณาคำขอขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม (ร่าง พ.ร.บ.มาตรา 41) ควรกำหนดให้มีตัวแทนภาคประชาชน หรือองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าไปเป็นคณะกรรมการด้วย
5. การจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นกรณีคณะกรรมการผู้ชำนาญการเห็นชอบรายงานประเมินความเสี่ยง (ร่างพ.ร.บ.มาตรา 43) โดยผู้ยื่นคำขอขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมเอง อาจเกิดปัญหาในการจัดการรับฟังความคิดเห็น และทำให้ไม่ได้รับทราบความเห็นที่แท้จริง จึงควรให้หน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นกลางอื่นเป็นผู้จัดการรับฟังความคิดเห็น
6. ผลการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 43 จะถูกนำไปประกอบการพิจารณาโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบเท่านั้น (ร่าง พ.ร.บ.มาตรา 44) และหน่วยงานผู้รับผิดชอบไม่จำเป็นต้องรับฟังหรือปฏิบัติตามผลการรับฟังความคิดเห็นก็ได้
7. การพิจารณาความปลอดภัย หรืออันตรายที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมใช้เฉพาะข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน และต้องเกิดอันตรายหือความเสียหายขึ้นแล้วเท่านั้น (ร่าง พ.ร.บ.มาตรา 35,46) ถือว่าขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายแคบเกินไป ทั้งที่ Biosafety Protocol อนุญาตให้ใช้ดุลพินิจตามสมควรได้แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้ รวมทั้งสามารถใช้เหตุผลทางด้านสังคมเศรษฐกิจ (Socio-Economic consideration) ได้ด้วย (Biosafety Protocol Art,11.8, 26)
8. ร่าง พ.ร.บ.นี้ใช้บัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมเป็นกลไกในการบริหารจัดการ โดยหากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยฯ ก่อให้เกิดความเสียหาย ร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่ได้กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยกำหนดให้ต้องมีการรับผิดเฉพาะกรณีความเสียหายเกิดจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่ไม่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยเท่านั้น (ร่าง พ.ร.บ.มาตรา 52) ซึ่งรูปแบบการกำหนดแยกประเภทสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อยู่และไม่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยนั้นเป็นรูปแบบที่ไม่ปรากฏใน Biosafety Protocol หรือ Nagoya-Kuala lumpur Supplementary Protocol ดังนั้นการไม่กำหนดให้ต้องมีการรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยจึงอาจขัดกับวัตถุประสงค์ของ Biosafety Protocol และ Nagoya-Kuala lumpur Supplementary